“วิทยาศาสตร์การกีฬา” มีประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยในการรีดศักยภาพร่างกายของผู้เล่นออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่หรือช่วยเรื่องอาการบาดเจ็บ และระยะเวลาในการฟื้นตัว
ปัจจุบันมีหลากหลายประเภทกีฬาในเมืองไทยเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬา อาทิ บรรดาสโมสรฟุตบอลระดับหัวแถวของศึก โตโยต้า ไทย พรีเมียร์ ลีก ซึ่งที่เห็นผลชัดเจนเลยคือ สุพรรณบุรี เอฟซี หรือนักกีฬาไทยอย่าง รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันสาวที่เคยไปฝึกปรือวิทยายุทธ์กับสโมสรชิงเต่า ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งวิทยาการ ณ แดนมังกรเจาะลึกถึงขนาดตรวจเลือดและนำมาวิเคราะห์เพื่อออกมาแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมเสริมสร้างกล้ามเนื้อลบจุดอ่อน รวมถึงอาหารการกินจำแนกผู้เล่นเป็นราย ๆ ไปจน “น้องเมย์” เป็นมืออันดับต้น ๆ ของโลก
องค์กรทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ โดยได้จัดตั้งสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย หรือ BASEM ซึ่งผ่านเกณฑ์การรับรองจากฟีฟ่าให้เป็น “FIFA Medical Centre of Excellence” มีนักกีฬาไทยอย่าง “ตอง” กวิน ธรรมสัจจานันท์ ผู้รักษาประตูมือ 1 ทีมชาติไทยของเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ดที่เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บกระดูกหน้าแข้งแตกจากเกมอุ่นเครื่องกับเซี่ยงไฮ้ อีสต์ เอเชียในอดีต จากตอนแรกที่คาดว่าจะต้องพักยาว 8 – 9 เดือน ลดลงเหลือ 3 – 4 เดือนก็กลับมาบินได้อีกครั้ง
นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เผยถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ว่า “สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ ริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานสากลในการดูแลนักกีฬาประเภทต่าง ๆ ทุกเพศทุกวัย รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการบาดเจ็บให้แก่บุคคลธรรมดาด้วย โดยการดูแลรักษานักฟุตบอลมีมาตรฐานที่ดีที่สุด เช่น ป้องกันการบาดเจ็บ ดูแลรักษา ฟื้นฟูโภชนาการ จิตวิทยาทางการกีฬา ป้องกันการใช้สารกระตุ้น (Anti – Doping) โดยมาตรฐานของ ฟีฟ่ากำหนดให้มีการดูแลการรักษาเป็นทีมในสาขาต่าง ๆ ทางการแพทย์ ”
กรณีของกวินถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการฟื้นฟูอาการบาดเจ็บหลังผ่าตัด นายอธิพล เมธาทิพย์ นักกายภาพบำบัด อธิบายว่า “ครั้งที่กวินมาผ่าตัดเชื่อมกระดูกโดยใช้แผ่นโลหะเชื่อมข้อกระดูกให้สมานเป็นเนื้อเดียวกัน หลังผ่าตัดสภาพร่างกายของกวินพอเดินได้เกือบปกติ แต่สภาพกล้ามเนื้อขาด้านขวาไม่เท่ากับด้านซ้าย เนื่องจากไม่ได้ออกกำลังขาส่วนนั้นอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะเข้ารับการรักษาเพียง 2 เดือนกว่าเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เราเริ่มต้นด้วยการอัลตราซาวนด์และนวดคลายกล้ามเนื้อขา ก่อนจะปิดท้ายด้วยการใส่อุปกรณ์ถ่วงน้ำหนักเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อก่อนที่จะเริ่มใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ได้ทำประจำ”
นายเมธาวี ขำแจง นักวิทยาศาสตร์การกีฬาประจำโรงพยาบาลกรุงเทพยังแนะนำอุปกรณ์ที่ช่วยให้มือกาว “กิเลนผยอง” ฟื้นตัวเร็วในครั้งนั้นคือ “เราเริ่มต้นด้วยการปั่นจักรยาน เนื่องจากมีปัญหาการซ้อมด้วยการวิ่งให้เต็มศักยภาพได้ไม่เต็มที่นัก โดยใช้เวลาเพียง 20 นาที ก่อนที่จะเข้าสู่การใช้อุปกรณ์วิ่ง Anti – Gravity Treadmill ซึ่งตัวนี้มีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนการวิ่งธรรมดา เพราะจะมีอุปกรณ์แรงดันในถุงผ้าที่ติดมากับตัวเครื่อง พร้อมกับใส่กางเกงต้านแรงดัน และขณะที่ตัวผู้ใช้เคลื่อนไหวนั้น ผู้วิ่งจะมีความรู้สึกว่าการวิ่งจะไม่เจ็บที่เท้ามากนัก เนื่องจากจะลดการเหยียบพื้นเหลือเพียง 20%เท่านั้น โดยเครื่องนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถออกกำลังกายด้วยการวิ่งได้เต็มที่”
ปัจจุบันโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นพันธมิตรช่วยเหลือนักกีฬาประเภทอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นยกน้ำหนัก, แบดมินตัน, วอลเลย์บอล และมวยสากลสมัครเล่น เพราะสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) ได้รับการรับรองจากรูปแบบต่าง ๆ ที่ถือว่าครอบคลุม เช่น วิธีธาราบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาอาการบาดเจ็บโดยการแช่น้ำในสระ ซึ่งต่างประเทศนิยมใช้กับนักกีฬาอย่างแพร่หลาย เพราะน้ำมีคุณสมบัติช่วยพยุงร่างกาย ช่วยบุคคลที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายบนบกได้ โดยวิ่งเหยาะ ๆ ซอยเท้า หรือใช้อุปกรณ์เวทเทรนนิงด้วยวัสดุโฟม และให้เคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในน้ำ ซึ่งสระนั้นจะต้องมีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส คุณสมบัติก็เพื่อช่วยระบบหมุนเวียนเลือดและช่วยรักษาได้เร็วขึ้น
ศักยภาพของนักกีฬาที่ผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักและต่อเนื่องต้องมาก่อนเป็นลำดับแรกหากอยากประสบความสำเร็จ ส่วนวิทยาศาสตร์การกีฬาถือเป็นตัวเสริมที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยพัฒนาวงการ เริ่มจากภายในประเทศไทยที่จะต้องนำเข้ามาใช้กับทุกสมาคมฯ เพื่อต่อยอดสู่ระดับสากลที่จะไปพิสูจน์กันในทัวร์นาเมนต์ระดับโลกอย่างเอเชียนเกมส์หรือโอลิมปิกเกมส์