สำหรับผู้หญิงในวัยที่มีประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนที่ต้องเผชิญเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากมีอาการปวดประจำเดือนมาก ปวดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งคุณผู้หญิงควรใส่ใจเพื่อให้รับมือได้อย่างรู้เท่าทัน
รู้จักเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ในมดลูกมีเยื่อบุโพรงมดลูกที่บุภายใน ทำหน้าที่สร้างประจำเดือน ซึ่งสามารถหลุดร่อนได้ ดังนั้นภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่จึงหมายถึง ภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตอยู่นอกโพรงมดลูกหรือแทรกในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก รวมถึงอาจไปเติบโตตามอวัยวะต่าง ๆ ทั้งเยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น เมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตผิดที่ การทำหน้าที่ของเยื่อบุโพรงมดลูกในการสร้างประจำเดือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เลือดสีแดงคล้ำหรือข้นคล้ายช็อกโกแลตไปปรากฏในอวัยวะต่าง ๆ
สาเหตุของโรค
สาเหตุของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ส่วนใหญ่เกิดจากการไหลย้อนกลับของประจำเดือนเข้าไปในอุ้งเชิงกรานผ่านท่อนำไข่และฝังตัวในโพรงมดลูกหรือฝังตามอวัยวะต่าง ๆ บริเวณที่พบบ่อยคืออุ้งเชิงกราน รังไข่ ท่อนำไข่ ผนังอุ้งเชิงกราน ผิวมดลูก ปากมดลูก นอกจากนี้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อาทิ ผนังลำไส้ เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
ตำแหน่งที่พบบ่อย
บริเวณที่มักพบเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ได้แก่
- รังไข่
หรือที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) เกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกและประจำเดือนไหลย้อนกลับไปสะสมในรังไข่ มีลักษณะเป็นถุงน้ำรังไข่ที่บรรจุของเหลวคล้ายช็อกโกแลต ซึ่งถุงน้ำจะใหญ่ขึ้น ๆ จากการถูกเติมเต็มในรอบเดือนแต่ละเดือน จะใหญ่เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และทำให้เกิดพังผืดหนาขึ้นเรื่อย ๆ
- กล้ามเนื้อมดลูก
เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เกิดพังผืดหรือก้อนในกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า โรคที่เกิดจากการที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis) ซึ่งมี 2 แบบคือ ชนิดที่อยู่เฉพาะที่ในชั้นกล้ามเนื้อมดลูกและชนิดที่กระจายในชั้นกล้ามเนื้อมดลูกทั่วไป
นอกจากนี้ยังมีบริเวณเส้นเอ็นยึดมดลูกด้านหลัง (Uterosacral Ligament) บริเวณรอยต่อมดลูกกับกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Reflection) เป็นต้น
สัญญาณเตือน
อาการที่ควรหมั่นสังเกตเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคนี้ ได้แก่
- ปวดประจำเดือนมากและนาน
- ประจำเดือนกะปริบกะปรอยหรือไม่มาเลย
- ปวดท้องน้อยเป็นประจำก่อน ระหว่าง และหลังมีประจำเดือน
- ปวดเสียดท้อง ปวดมากเวลาขับถ่าย
- ปวดขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
- มีบุตรยาก
วินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ประกอบด้วย
- ซักประวัติโดยสูติ – นรีแพทย์อย่างละเอียด ทั้งการปวดท้อง ปวดประจำเดือน และการมีบุตร
- ตรวจภายในและตรวจในห้องปฏิบัติการ
- ตรวจอัลตราซาวนด์ ช่วยให้สูติ – นรีแพทย์เห็นภาพรอยของโรคได้ชัดเจนทุกรายละเอียด
- ตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หากไม่สามารถตรวจด้วยวิธีอื่น
วิธีการรักษา
การรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน ประกอบด้วย
- การใช้ยา
ได้แก่ ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดประจำเดือนและปวดท้องน้อย
- ฮอร์โมนบำบัด
มีทั้งยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด และห่วงฮอร์โมนที่ใส่ในโพรงมดลูก เพื่อลดการมีเลือดประจำเดือนมากหรือปวดประจำเดือน ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถตั้งครรภ์หากใช้ยาในการรักษา
- ผ่าตัด
โดยการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) ช่วยให้เจ็บน้อย แผลเล็ก โอกาสเกิดพังผืดหลังผ่าตัดลดลง และการผ่าตัดเนื้องอกผ่านผนังหน้าท้องแบบแผลเล็กกว่าหรือเท่ากับ 6 เซนติเมตร (Minilaparotomy Myomectomy) และการผ่าตัดเนื้องอกผ่านผนังหน้าท้อง (Abdominal Myomectomy)
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีพังผืดปริมาณมาก หรือเคยผ่าตัดมาก่อนแล้วพบว่าเป็นช็อกโกแลตซีสต์ การผ่าตัดส่องกล้องจะค่อนข้างเหมาะสมมากกว่า เพราะพังผืดค่อนข้างยากต่อการรักษา เนื่องจากเป็นแผลเป็นที่มาจากการกรีด การอักเสบ และการอักเสบซ้ำ ๆ สามารถลุกลามไปได้เรื่อย ๆ ดังนั้นหากลดการเกิดแผลขณะผ่าตัดย่อมช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ป่วย และโอกาสเกิดพังผืดหลังผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
ช็อกโกแลตซีสต์กับการตั้งครรภ์
ผู้หญิงหลายคนที่อยากมีบุตรแล้วตรวจพบช็อกโกแลตซีสต์ยังคงสามารถตั้งครรภ์ได้ตามวิธีธรรมชาติ และอาการของช็อกโกแลตซีสต์จะดีขึ้นด้วย เนื่องจากในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเพศจะลดลงช่วง 9 เดือนของการตั้งครรภ์ รวมถึงหลังคลอดบุตร 3 – 6 เดือน ทำให้ไม่มีประจำเดือน ถุงน้ำช็อกโกแลตซีสต์ไม่ถูกเติมด้วยประจำเดือน ค่อย ๆ ฝ่อหายไปเองได้ แต่อย่างไรก็ตามช็อกโกแลตซีสต์ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนและปัจจัยต่าง ๆ
ทั้งนี้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อาจมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน หากมารดาเคยเป็นโรคนี้ก็มีโอกาสที่บุตรสาวจะเป็นโรคเดียวกันได้ 3 – 7 เท่า เพราะฉะนั้นควรตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอทุกปีและหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบสูติ – นรีแพทย์ผู้ชำนาญการโดยเร็ว