ติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ควรรอหรือรีบรักษา

2 นาทีในการอ่าน
ติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ควรรอหรือรีบรักษา

ติ่งเนื้อในถุงน้ำดีอาจไม่ใช่ภาวะที่คุ้นหู แต่สามารถเกิดขึ้นได้และไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนใหญ่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบจากการตรวจอัลตราซาวนด์ โดยติ่งเนื้อที่พบ 70 – 80% เป็นเนื้อดี  มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นเนื้อร้าย ดังนั้นการใส่ใจตรวจเช็กสุขภาพประจำปีและหากพบติ่งเนื้อในถุงน้ำดีควรต้องรีบรักษาโดยเร็ว จะช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

 

รู้จักกับติ่งเนื้อในถุงน้ำดี

ติ่งเนื้อในถุงน้ำดี (Gallbladder Polyp) คือ ติ่งเนื้อหรือโพลิป (Polyp) ที่ตรวจพบได้จากอัลตราซาวนด์และมีลักษณะเป็นชิ้นเนื้อขนาดเล็กที่ยื่นออกมา โดยจะอยู่ติดกับผนังถุงน้ำดี ไม่มีการเคลื่อนไหว โดยติ่งเนื้อที่พบส่วนใหญ่มักเป็นติ่งเนื้อเทียม (Pseudopolyp) มักเกิดจากคอเลสเตอรอลและอาจพบลักษณะของการอักเสบแล้วมีลักษณะคล้ายติ่งเนื้อร่วมด้วย (Inflammatory Polyp) โดยกลุ่มนี้ไม่สัมพันธ์กับการกลายเป็นเนื้อร้าย ติ่งเนื้อที่เป็นเนื้องอกจริง (True Gallbladder Polyp หรือ Neoplastic Polyp) พบได้ไม่มาก แต่กลุ่มนี้สามารถพบได้ทั้งเนื้อดีและเนื้อร้าย พบได้ตั้งแต่ติ่งเนื้อเดียวไปจนถึงหลาย ๆ ติ่งเนื้อ ความน่าสนใจของติ่งเนื้อในถุงน้ำดี  คือ เมื่อเป็นแล้วจะไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่จะพบเมื่อมีการตรวจอัลตราซาวนด์จากการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งควรต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด

 

รักษาติ่งเนื้อในถุงน้ำดี

เมื่อแพทย์ตรวจพบติ่งเนื้อในถุงน้ำดีสามารถทำการรักษาได้ 2 แบบคือ

  1. ติดตามอาการ หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่ตรงกับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด แพทย์จะติดตามอาการผู้ป่วยด้วยการอัลตราซาวนด์ทุก 6 – 12 เดือน แต่หากพบความเสี่ยงจะมีการพิจารณาเพื่อเข้ารับการผ่าตัดทันที
  2. ผ่าตัดติ่งเนื้อในถุงน้ำดี เมื่อติ่งเนื้อที่พบในถุงน้ำดีตรงตามข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำดีออก ปัจจุบันจะใช้วิธีการเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MINIMALLY INVASIVE SURGERY : MIS) โดยเจาะรูขนาดเล็กบริเวณหน้าท้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ จากนั้นใส่กล้องเข้าไปเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนทุกมิติ ก่อนจะตัดขั้วและเลาะถุงน้ำดีให้หลุดออก วิธีนี้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจน แผลเล็ก เจ็บน้อย ลดโอกาสการติดเชื้อ ผู้ป่วยฟื้นตัวไว ไม่ต้องพักฟื้นนาน แต่ในกรณีที่มีความซับซ้อนของโรค ศัลยแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องได้เช่นกัน โดยจะพิจารณาจากระยะของโรค ซึ่งแบ่งตามการกระจายและความลึกของติ่งเนื้อบริเวณผนังถุงน้ำดี

 

ติ่งเนื้อในถุงน้ำดี

ข้อบ่งชี้การผ่าตัด

สำหรับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ได้แก่

  • ติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร
  • ติ่งเนื้อก้อนเดี่ยวขนาดใหญ่ ฐานกว้าง 
  • มีติ่งเนื้อร่วมกับนิ่วในถุงน้ำดี
  • ติ่งเนื้อบริเวณผนังถุงน้ำดีหนาตัวผิดปกติ
  • ติ่งเนื้อโตเร็วผิดปกติ
  • ติ่งเนื้อที่ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ 
  • อื่น ๆ 

 

อย่าชะล่าใจตรวจเช็กสุขภาพ

การตรวจเช็กสุขภาพอย่างละเอียด โดยเฉพาะการอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบนจะช่วยให้ทราบว่ามีติ่งเนื้อในถุงน้ำดีหรือไม่ ซึ่งผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจเช็กอย่างละเอียด นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ลดของมันของทอด ควบคุมหวาน มัน เค็ม เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นทางผักผลไม้ให้มาก ออกกำลังกายเป็นประจำย่อมช่วยให้สุขภาพดีในระยะยาว 

 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
รศ. นพ. ธัญญ์ อิงคะกุล

ศัลยศาสตร์

รศ. นพ. ธัญญ์ อิงคะกุล

ศัลยศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด