การดื่มน้ำเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญในร่างกาย ช่วยขจัดของเสียออกทางปัสสาวะ ทำให้การทำงานของร่างกายเกิดสมดุล เป็นองค์ประกอบในเลือดที่จะพาส่วนประกอบของเลือดและสารอาหารต่าง ๆ ไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยป้องกันการเกิดนิ่ว ทำให้ผิวพรรณเต่งตึง ช่วยระบบขับถ่าย
นี่คือ 5 เคล็ดลับการดื่มน้ำที่ช่วยดูแลไตและร่างกายให้แข็งแรง
- ดื่มน้ำดีต่อร่างกายแน่
คำแนะนำส่วนใหญ่มักแนะนำให้ดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน แต่ไม่เสมอไปสำหรับทุกคน มีการศึกษาของ The United States Academies of Sciences, Engineering and Medicine เฉลี่ยปริมาณน้ำที่ควรดื่มในผู้ชายจะอยู่ที่ 15.5 แก้วหรือประมาณ 3.7 ลิตร ในขณะที่ผู้หญิงแนะนำที่ 11.5 แก้วต่อวันหรือ 2.7 ลิตร อย่างไรก็ตามในแต่ละคนมีความต้องการน้ำแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุ การออกกำลังกาย สภาพอากาศ การเจ็บป่วย การสูญเสียน้ำ การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร เป็นต้น สามารถสังเกตอาการกระหายน้ำ ซึ่งบ่งบอกว่าร่างกายมีอาการขาดน้ำและต้องการน้ำเพิ่มเติม
- สีปัสสาวะบอกความต้องการน้ำในแต่ละวันได้
เมื่อปัสสาวะสีเหลืองเข้มบ่งบอกได้ว่าร่างกายขาดน้ำและเมื่อปัสสาวะเหลืองจางลงอาจบ่งบอกได้เช่นกันว่าดื่มน้ำได้เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานยาบางชนิดอาจมีผลต่อสีปัสสาวะเหลืองได้ เช่น วิตามินบีรวมหรือวิตามินบี 2 ฯลฯ
- ระวังบางภาวะที่อาจเกิดจากดื่มน้ำมากเกินไป
พบบ่อยในกลุ่มคนที่มีอาการทางจิตเวช อาจดื่มน้ำปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน หรือกลุ่มนักวิ่งมาราธอนที่ต้องการดื่มน้ำชดเชยปริมาณมาก แม้การทำงานของไตจะเป็นปกติ แต่ก็อาจเกิด “ภาวะน้ำเป็นพิษ” จากการที่มีน้ำเจือจางเกลือโซเดียมในร่างกายจนเกิด “ภาวะเกลือโซเดียมต่ำ” เป็นภาวะอันตรายต่อชีวิต ทำให้เกิดอาการสมองบวมได้
- จำกัดน้ำอาจจำเป็นบางกรณี
กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรือมีโรคน้ำท่วมปอดจากโรคหัวใจจะมีอาการบวมหรือเหนื่อยหอบได้ง่ายจากการที่มีน้ำและเกลือคั่งในร่างกาย นอกจากนี้ความสามารถในการกำจัดน้ำออกจากร่างกายลดลง ดังนั้นการดื่มน้ำปริมาณมากอาจไม่เป็นผลดี แต่การจำกัดน้ำมีความจำเป็น
- ลดการดื่มน้ำบางวันลงได้
กรณีจำเป็นต้องเดินทางและไม่สะดวกเข้าห้องน้ำ เนื่องจากการกลั้นปัสสาวะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดังนั้นในบางสถานการณ์สามารถผ่อนผันการดื่มน้ำได้ อย่างไรก็ตามเมื่อติดเชื้อทางเดินปัสสาวะการดื่มน้ำมีความจำเป็นในการช่วยขจัดเชื้อโรคออกไปทางปัสสาวะ
เพราะการดื่มน้ำของแต่ละคนไม่เหมือนกันจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และควรให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำเสมอเพื่อคงความสมดุลของชีวิตให้แข็งแรง