จอตาเสื่อมในผู้สูงวัย

3 นาทีในการอ่าน
จอตาเสื่อมในผู้สูงวัย

เมื่อความเสื่อมมาเยือนโดยเฉพาะในผู้สูงวัย ร่างกายย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นคือความเสื่อมของดวงตา ซึ่งยากจะหลีกเลี่ยง ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย


รู้จักจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย

โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age – Related Macular Degeneration (AMD)) เป็นโรคหนึ่งที่ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นภาพชัดตรงกลางภาพ (Central Visual Loss) โดยจะพบจุดสีเหลืองที่จอตา (Drusen) ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของชั้นเม็ดสีของจอตา (Retinal Pigment Epithelium) และการเกิดเส้นเลือดงอกใหม่ (Choroidal Neovascular Membrane) ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียชั้นเม็ดสีของจอตา (Retinal Pigment Epithelium (RPE) Loss) มีสารน้ำใต้จอตา (Subretinal Fluid) เลือดออกในจอตา (Subretinal or Sup – RPE Hemorrhage) และพังผืดใต้จอตา (Subretinal Fibrosis)


ประเภทของจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย

จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบแห้ง (Dry AMD) จะพบจุดเหลืองที่จอตา (Drusen) เป็นจำนวนมาก และในระยะท้ายมีจอตาฝ่อ (Geographic Atrophy) ได้ พบได้ 85 – 90% ของผู้ป่วยและมักไม่มีการสูญเสียการมองเห็นรุนแรง
  2. จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบเปียก (Wet AMD) มีเส้นเลือดงอกใหม่ในชั้นลึกของจอตา (Choroidal Neovascular Membrane) ซึ่งจะนำไปสู่เลือดออกในจอตา มีสารน้ำใต้จอตา หรือพังผืดใต้จอตา พบได้ 10 – 15% ของผู้ป่วยและเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียการมองเห็นรุนแรง

ปัจจัยเสี่ยงต้องรู้

  • อายุ หากอายุมากกว่า 75 ปี จะมีความเสี่ยงเป็น 3 เท่าของกลุ่มที่มีอายุ 65 – 74 ปี
  • การสูบบุหรี่ พบว่าคนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นจากโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุเป็น 2 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ คนที่หยุดสูบบุหรี่แล้วจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (Odd Ratio 1.13) และถ้าหยุดบุหรี่เกิน 20 ปี จะไม่พบความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นจากจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุเมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่
  • พันธุกรรม มีการศึกษาพบว่า พันธุกรรมบางตัวมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและการตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งอาจช่วยในการเลือกการรักษาในอนาคต
  • ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ 
    • โรคทางระบบหัวใจ 
    • โรคความดันโลหิตสูง 
    • เพศหญิง 
    • เชื้อชาติผิวขาว 
    • คอเลสเตอรอลสูง
    • โรคอ้วน
    • สายตายาว
    • ประวัติครอบครัว
    • ม่านตาสีอ่อน

อาการบอกโรค

  • มองเห็นภาพชัดลดลง โดยอาจจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือเกิดขึ้นแบบทันทีทันใดได้
  • ตามัว
  • มองเห็นภาพเบี้ยว 
  • มองเห็นจุดดำตรงกลางภาพ


จอตาเสื่อมในผู้สูงวัย


ตรวจวินิจฉัยก่อนสาย 

การตรวจวินิจฉัยจอตาเสื่อมในผู้สูงวัยเมื่อมาพบแพทย์มีขั้นตอน ดังนี้

  • อ่านตัวเลขเพื่อประเมินการมองเห็น (Visual Acuity)
  • ตรวจหน้ากล้องจุลทรรศน์ (Slit Lamp Biomicroscopy) โดยจักษุแพทย์ 
  • หยอดยาขยายม่านตาเพื่อตรวจจอตาอย่างละเอียด ควรเตรียมแว่นกันแดดและไม่ควรขับรถมาเอง เนื่องจากยาขยายม่านตาจะส่งผลให้ตามัวลงและตาสู้แสงไม่ได้ โดยยาจะมีฤทธิ์ 4 – 6 ชั่วโมง
  • ถ่ายภาพจอตา
  • สแกนจอตาอย่างละเอียดด้วยเครื่อง Optical Coherence Tomography (OCT) เพื่อประเมินสภาพของชั้นต่าง ๆ ของจอตา ความหนาของจอตา การบวมน้ำ และปริมาณสารน้ำหรือเลือดใต้จอตา
  • ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีลักษณะของจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบเปียก (Wet AMD) จักษุแพทย์จะทำการฉีดสี โดยใช้วิธี Fundus Fluorescein and Indocyanine Green Angiography (FFA and ICGA) เพื่อวินิจฉัยแยกโรคและพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสม

รักษาจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ งดสูบบุหรี่ ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • การรักษาจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบแห้ง (Dry AMD) สามารถทำได้โดยการให้อาหารเสริม (Antioxidant and Mineral Supplementation) ตามการศึกษา AREDS และ AREDS2 โดยพบว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดจอตาเสื่อมระยะท้าย (มี Geographic Atrophy หรือ Wet AMD) ได้ 25% และลดความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพได้ 19%
  • การรักษาจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบเปียก (Wet AMD) ปัจจุบันการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดและเป็นที่นิยม คือการรักษาโดยการใช้ยาต้านการเจริญเติบโตของหลอดเลือดฉีดเข้าไปในน้ำวุ้นตา โดยปัจจุบันมียาอยู่ 2 กลุ่ม คือ 
    1. Anti-Vascular Endothelial Growth Factor (Anti-VEGF) : Faricimab, Brolucizumab, Ranibizumab, Bevacizumab
    2. Vascular Endothelial Growth Factor Trap (VEGF-Trap) : Aflibercept
  • การรักษาอื่น ๆ สำหรับผู้ป่วยจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุแบบเปียก (Wet AMD) ได้แก่ การรักษาด้วยเลเซอร์เย็น (Photodynamic Therapy), การรักษาด้วยเลเซอร์ร้อน (Laser Photocoagulation) ซึ่งจักษุแพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไปในคนไข้แต่ละบุคคล

 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. ปวีณา เลิศอรรฆยมณี

จักษุวิทยา

พญ. ปวีณา เลิศอรรฆยมณี

จักษุวิทยา

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ

จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.

เสาร์ 08.00 - 17.00 น

อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด