บูลลี่และไซเบอร์บูลลี่

3 นาทีในการอ่าน
บูลลี่และไซเบอร์บูลลี่

การบูลลี่หรือล้อเลียนอาจฟังดูเป็นเพียงเรื่องสนุกเล็กน้อยในช่วงชีวิตวัยรุ่นวัยเรียน แต่ปัจจุบันพ่อแม่ครูเริ่มตระหนักถึงผลกระทบของบูลลี่ที่ทำให้เหยื่อเกิดบาดแผลทางใจอย่างสาหัสยาวนาน ส่งผลต่อชีวิต การงาน ความสัมพันธ์ตลอดจนความสุข ความสำเร็จของคนคนหนึ่งอย่างมหาศาล 


ความจริงเกี่ยวกับ
Bully

  • Bully มีหลากหลายรูปแบบไม่ใช่เฉพาะคำพูดล้อเลียน ไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูดด่าว่าหยาบคาย แต่รวมถึงการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางล้อเลียนหรือแม้แต่ Cyberbullying ที่ใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย ไร้ค่า หวาดกลัว หรือแม้แต่การนำข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นไปเปิดเผย
  • Bully ไม่ใช่เฉพาะปัญหาในเด็กหรือวัยรุ่น แต่ผู้ใหญ่ก็มีการบูลลี่อย่างหนักเช่นกัน
  • หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ถูกบูลลี่ คุณไม่ใช่คนเดียวที่เผชิญกับปัญหานี้ มีคนมากมายแม้คนมีชื่อเสียงก็ยอมรับว่าเคยถูกบูลลี่ และการแก้ปัญหาบูลลี่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกันรวมทั้งคุณด้วย

บูลลี่และไซเบอร์บูลลี่

หยุดบูลลี่

การหยุดบูลลี่เริ่มจากความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยจิตแพทย์พบว่าเหยื่อโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นที่ถูกบูลลี่มักจะถูกเพิกเฉย ไม่ให้ความสำคัญโดยเฉพาะครู ผู้ปกครอง หรือคนในครอบครัว เด็กเล่าว่าพ่อแม่มองว่าเป็นเรื่องเล็กทำไมต้องเสียใจ ทำไมต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ บางครั้งครอบครัวอาจบูลลี่ซ้ำโดยไม่ตั้งใจเช่นบอกเด็กว่า ก็อ้วนจริงนี่นะหรือ ทรงผมดูไม่ได้” “ไม่ฉลาดเป็นต้น

ท่าทียอมรับหรือทำให้บูลลี่กลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมวัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่ร้ายกาจที่สุดที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง การไม่จัดการหรือปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปวันแล้ววันเล่าในทางจิตวิทยาถือเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนว่า อนุญาต หรือเป็นสิ่งที่ ยอมรับได้ ดังนั้นการจะหยุดบูลลี่ต้องเริ่มจากการประกาศนโยบายสถานศึกษาหรือที่ทำงานปลอดบูลลี่ (เหมือนกับสถานพยาบาลปลอดบุหรี่) 

บูลลี่เกิดในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐเอกชนนานาชาติ แม้ลูก ๆ ของคุณจะอยู่ในโรงเรียนมาตรฐานสูง ค่าเล่าเรียนแพง ไม่ได้หมายความว่าจะปราศจากบูลลี่ ความรุนแรงของปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรมในแต่ละสถานที่ แต่ขึ้นอยู่กับการจัดการที่ไม่เหมาะสม จิตแพทย์พบว่า พ่อแม่และครูจำนวนมากให้ความสำคัญและพยายามช่วยเหลือ แต่ด้วยการจัดการผิด ๆ เพราะไม่เข้าใจ กลับยิ่งส่งเสริมให้เหยื่อบาดเจ็บสาหัสและเกิดความรู้สึกสิ้นหวัง แม้จะพยายามร้องขอความช่วยเหลือแล้วก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ทำให้เด็กเลือกที่จะเก็บและกดไว้ไม่พยายามขอความช่วยเหลืออีกต่อไป


บูลลี่และไซเบอร์บูลลี่

สอนลูกให้ติดอาวุธป้องกันบูลลี่

พ่อแม่และครูควรจัดกิจกรรมให้มีการพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับการเฝ้าระวังและป้องกันบูลลี่ อย่ารอให้เกิดเหตุการณ์ ขณะเดียวกันก็ควรเตรียมความพร้อมให้เด็กไว้ด้วย หากระมัดระวังแล้วยังเกิดบูลลี่ขึ้นเด็กควรปฏิบัติตัวอย่างไร บางครั้งเด็กอาจไม่รู้ว่าควรจะบอกเพื่อนอย่างไรที่จะหยุดบูลลี่ หรือหากพยายามแล้วไม่ได้ผลเด็กควรขอความช่วยเหลือได้จากที่ไหน แม้แต่เรื่องพื้นฐานที่พ่อแม่ควรย้ำให้เด็กรู้ เช่น การไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง (บูลลี่มาก็บูลลี่กลับหรือต่อยกลับเพราะมักจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง) การสอนให้ลูกเก็บหลักฐานการบูลลี่เช่นข้อความที่ส่งมาทางไลน์หรือโซเชียลมีเดีย การมีพื้นที่ให้เด็กได้เล่าถึงเหตุการณ์รวมทั้งการหาหนทางช่วยเหลือ บางโรงเรียนมีการเรียกคู่กรณีมาเผชิญหน้าและพูดคุยซึ่งเป็นความคิดที่ดี แต่พึงระวังว่าการจัดการแบบ face-to-face ต้องทำอย่างรอบคอบในบรรยากาศที่ปลอดภัยและนำไปสู่การช่วยแก้ปัญหา ครูหรือนักจิตวิทยาผู้ชำนาญการเป็นผู้ดำเนินการสนทนาอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ยิ่งซ้ำเติมให้การเผชิญหน้ากลายเป็นโอกาสบูลลี่หนักยิ่งขึ้นอีก


ประเมินความเสียหายจากการบูลลี่

การประเมินความเสียหายจากการบูลลี่ อาจจำเป็นต้องปรึกษาผู้ชำนาญการด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เด็กบางคนมีพื้นฐานเดิมที่ทำให้ปรับตัวยากหรืออาจมีภาวะอารมณ์เศร้าที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองควรช่วยให้เด็กเข้าใจว่าการพบผู้ชำนาญการหรือจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ทั้งการไปพบแพทย์อาจนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือทั้งเด็กและครอบครัว ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ทั้งยังช่วยให้การแก้ปัญหาให้เด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

สุดท้ายเด็กที่มีภาวะสุขภาพจิตที่มั่นคงและมีความสุขมักจะไม่บูลลี่คนอื่น เป็นที่ชวนคิดเหมือนกันว่าเด็ก ๆ ที่บูลลี่เพื่อนก็พยายามปกปิดอะไรบางอย่างที่ทำให้เจ็บปวดและทุกข์ทรมานเช่นกัน แทนที่จะเพ่งโทษไปที่เด็กเหล่านี้ ครูหรือผู้ปกครองอาจจำเป็นต้องตั้งคำถามและใช้ความพยายามอย่างมากที่จะเข้าใจให้ความรักและนำเด็กเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือดูแล การเริ่มต้นที่ตัวเราครอบครัวเราเริ่มวันนี้เพื่อหยุดผลกระทบจากบูลลี่


ศูนย์จิตรักษ์
โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมบริการดูแลรักษาและป้องกัน

ด้วยโปรแกรมพูดภาษาวัยรุ่นทักษะการเข้าใจโลกของวัยรุ่นสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง 

โดยทีมจิตแพทย์และผู้ชำนาญการด้านสุขภาพจิต 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์

จิตเวชศาสตร์

พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์

จิตเวชศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 3-6 อาคารโรงพยาบาลชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด