วิกฤตตัวตนวัยรุ่น หาตัวเองให้เจอก่อนสับสน

5 นาทีในการอ่าน
วิกฤตตัวตนวัยรุ่น หาตัวเองให้เจอก่อนสับสน

ในการเดินทางจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นมักพบว่าตนเองต้องผ่านการสำรวจตัวตนที่ประกอบไปด้วยสิ่งที่ไม่รู้ไม่แน่ใจ ความอยากรู้อยากเห็น ความสนุก ความตื่นเต้น และบางครั้งเกิดความสับสน ผู้ปกครองจึงควรค่อย ๆ ทำความเข้าใจกระบวนการที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสับสนในการตามหาอัตลักษณ์ของวัยรุ่น เพื่อสนับสนุนและชี้แนะให้ผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้อย่างดีที่สุด 


ทำไมวัยรุ่นจึงสับสนในตัวเอง

วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งบ่อยครั้งทำให้วัยรุ่นมีความประหม่าในใจและไม่แน่ใจในการเปลี่ยนแปลงของตัวเองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในขณะที่วัยรุ่นพยายามกำหนดนิยามให้ตนเอง พวกเขาอาจทดลองกับบุคลิกภาพความสนใจ ค่านิยม และความเชื่อที่หลากหลาย ดังนั้นค่านิยมและความเชื่อที่พ่อแม่และผู้ดูแลส่งต่อมาถึงพวกเขาช่วงวัยเด็ก ตอนนี้ถูกวางเคียงข้างเพื่อการเปรียบเทียบในใจกับค่านิยมที่พวกเขาได้รับจากเพื่อนฝูง จากโซเชียลมีเดีย และจากความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปในตัวของเขาเองด้วย กระบวนการนี้อาจบ่งชี้ได้ว่าการสำรวจตัวตนของพวกเขาอาจเต็มไปด้วยข้อความในใจที่ขัดแย้งกันจนเกิดเป็นความสับสนได้


ความกดดันทำให้วัยรุ่นเกิดความสับสนใช่หรือไม่

หนึ่งในสาเหตุสำคัญของความสับสนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ในวัยรุ่นคือความกดดันในการปฏิบัติตามบรรทัดฐานและความคาดหวังทางสังคม เมื่อโลกของเราเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น วัยรุ่นอาจถูกโจมตีแบบต่อเนื่องด้วยภาพและเรื่องเล่าในอุดมคติผ่านโซเชียลมีเดีย การโฆษณา และวัฒนธรรมสมัยนิยม การแสดงภาพเหล่านี้มักนำเสนอมาตรฐานความงาม ความสำเร็จ และความสุขที่ไม่สมจริง ส่งผลให้วัยรุ่นรู้สึกไม่ดีพอหรือถูกตัดขาดจากตัวตนที่แท้จริงของตนเอง รวมไปถึงการบั่นทอนความเชื่อมั่น ความรักและเคารพตัวตนของตนเองลงไปด้วย


กระบวนการสร้างอัตลักษณ์วัยรุ่นมีความซับซ้อนอย่างไร

กระบวนการสร้างอัตลักษณ์นั้นมีความซับซ้อนและมีมิติที่หลากหลายโดยธรรมชาติ เพราะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ภูมิหลังทางวัฒนธรรม และประสบการณ์ส่วนตัว วัยรุ่นอาจต้องรับมือกับคำถามเกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา เพศ เพศวิถี เพศสภาพ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อพวกเขาสำรวจอัตลักษณ์ของตัวเองภายในบริบททางสังคมที่หลากหลาย การต่อสู้ภายในนี้อาจแสดงออกถึงความสับสน ความวิตกกังวล หรือเกิดเป็นวิกฤตด้านอัตลักษณ์ว่าตนคือใคร เมื่อวัยรุ่นพยายามปรับและหาจุดสมดุลระหว่างความเป็นปัจเจกของตนกับความคาดหวังจากภายนอก จุดเด่นของการสำรวจตัวตนและความพยายามหาสมดุลนั้นมาพร้อมกับการตั้งคำถามทั้งกับตนเอง คนรอบข้าง และสังคม ดังนั้นการตั้งคำถามเรื่องตัวตนเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการเปิดช่องทางการสื่อสารและการเชื่อมต่อระหว่างวัยรุ่นและคนรอบข้าง


วิกฤตตัวตนวัยรุ่น หาตัวเองให้เจอก่อนสับสน

วิกฤตอัตลักษณ์วัยรุ่นคืออะไร

นักจิตวิทยาคลินิกและพัฒนาการ James Marcia ผู้ขยายต่อทฤษฎี Psychosocial Development ของ Erik Erikson และเป็นคนแรก ๆ ที่ยืนยันว่า วิกฤตทางอัตลักษณ์ (Identity Crisis) เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างตัวตนของวัยรุ่น และได้สร้างโมเดลเพื่อความเข้าใจเรื่องการค้นหาอัตลักษณ์ในวัยรุ่นได้อธิบายว่า ในขณะที่วัยรุ่นเดินทางเพื่อการพัฒนาอัตลักษณ์ วัยรุ่นถูกคาดหวังให้ตัดสินใจเลือกและมุ่งมั่นในทางเลือกต่าง ๆ ของตนเองภายในขอบเขตบริบททางสังคมของตน ซึ่งวัยรุ่นอาจเผชิญกับวิกฤตทางอัตลักษณ์ได้  


สภาวะทางอัตลักษณ์ของวัยรุ่นมีกี่แบบ

วิกฤตอัตลักษณ์วัยรุ่นบังคับให้วัยรุ่นเริ่มตรวจสอบตัวเลือกที่เคยเลือกหรืออาจถูกเลือกโดยผู้ปกครองและสังคม และสำรวจความชอบและตัวตนในแบบต่างๆ (Exploration) และความมุ่งมั่นที่สร้างอัตลักษณ์ในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา (Commitment) โดย James Marcia อธิบายว่า วัยรุ่นอาจอยู่ในสภาวะทางอัตลักษณ์ได้ 1 ใน 4 สถานะ ได้แก่

  1. Identity Confusion/Diffusion คือ การที่ไม่สำรวจหรือทดลองทางเลือกใด (Low Exploration) และไม่มุ่งมั่นเลือกอะไรเลย (Low Commitment) 
  2. Identity Foreclosure คือ การที่ไม่ได้สำรวจหรือทดลองทางเลือกใด ๆ (Low Exploration) และมุ่งมั่นกับทางที่ถูกเลือกให้มาแล้ว (High Commitment) 
  3. Identity Moratorium คือ การที่ยังอยู่ในการสำรวจและทดลองทางเลือกต่างๆ (High Exploration) และยังไม่มุ่งมั่นเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Low Commitment) 
  4. Identity Accomplishment คือ การที่ได้สำรวจและทดลองทางเลือกต่าง ๆ แล้ว (High Exploration) และมุ่งมั่นเลือกอัตลักษณ์ของตนเอง (High Commitment)

ความสับสนในอัตลักษณ์วัยรุ่นเป็นเรื่องปกติใช่หรือไม่

ในฐานะพ่อแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักว่าความสับสนในอัตลักษณ์เป็นเรื่องปกติธรรมชาติและจำเป็นในการพัฒนาของวัยรุ่น แทนที่จะเพิกเฉยหรือมองข้ามประสบการณ์ของพวกเขา ผู้ปกครองสามารถจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้วัยรุ่นได้สำรวจและแสดงตัวตนอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากการส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้าง การฟังกันและกันอย่างใส่ใจ การช่วยกันสะท้อนความรู้สึกและประสบการณ์ของพวกเขาอย่างไม่ตัดสิน เพราะวัยรุ่นอาจใช้เวลาในการสำรวจและตัดสินใจในการมุ่งมั่นของตนเอง และไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานะการค้นหาทางอัตลักษณ์อันไหน พวกเขาก็ไม่รู้สึกว่าถูกตัดสินว่าตัวตนของเขาถูกหรือผิด แต่มีโอกาสที่จะทำความเข้าใจความรู้สึกของตนเองได้โดยมีผู้ปกครอง สนับสนุน เพื่อให้พวกเขาได้มีความเชื่อมั่นในการสำรวจและทดลอง และตั้งคำถามต่าง ๆ อย่างมีความหมาย


คำถามปลายเปิดช่วยผู้ปกครองเสริมอัตลักษณ์ได้อย่างไร

ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมการไตร่ตรองตนเองและการตระหนักรู้ในตนเองได้โดยการถามคำถามปลายเปิดและมีส่วนร่วมในการสนทนาที่มีความหมายเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ค่านิยม และความเชื่อ การส่งเสริมให้วัยรุ่นแสดงความคิดและความรู้สึกของตนเอง ผู้ปกครองสามารถช่วยพวกเขาพัฒนาความเข้าใจตนเองและจุดที่เขาอยู่ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อีกทั้ง ผู้ปกครองสามารถเป็นตัวอย่างในการยอมรับและเคารพความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ ทั้งภายในครอบครัวของตนเองและชุมชนในวงกว้าง ด้วยการเปิดรับความแตกต่างและทัศนคติ ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้วัยรุ่นยอมรับอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองและยอมรับและยินดีในความหลากหลายของผู้อื่นด้วย สิ่งนี้จะทำให้วัยรุ่นเองมีความรู้สึกปลอดภัยในใจ เมื่อพวกเขาเห็นว่าผู้ปกครองมีความเปิดกว้างในการยอมรับตัวตนที่หลากหลายในสังคม


วิกฤตตัวตนวัยรุ่น หาตัวเองให้เจอก่อนสับสน

หากวัยรุ่นสับสนในอัตลักษณ์ของตนเองจะเกิดปัญหาใด

สิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองต้องตระหนักคือ เมื่อใดที่วัยรุ่นสับสนในอัตลักษณ์อาจส่งสัญญาณถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ที่สำคัญกว่า เช่น ความซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือการถูกเลือกปฏิบัติสืบเนื่องจากอัตลักษณ์ ซึ่งอาจส่งผลถึงความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา ในกรณีเช่นนี้การขอความช่วยเหลือจากนักบำบัด ผู้ให้คำปรึกษา กลุ่มเพื่อนที่ให้การซัพพอร์ตกันและกันได้ สามารถให้เครื่องมือและทรัพยากรเสริมที่จำเป็นแก่วัยรุ่นในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น


คำแนะนำของผู้ปกครองสำคัญแค่ไหน

คำแนะนำที่ดีของผู้ปกครองคือสิ่งที่วัยรุ่นต้องการมากที่สุดในช่วงเวลาของการตามหาตัวตน เพราะบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมการทำงาน เรื่องบริหารจัดการ การวางแผน การควบคุมตนเอง การตัดสินใจ  ซึ่งก็คือสมองส่วนหน้า ยังต้องใช้เวลาอีกมากในการพัฒนาอย่างเต็มที่มากขึ้นในวัยนี้ไปจนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ดังนั้นการมีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับผู้ปกครองจะเป็นการสร้างความปลอดภัยทางใจให้กับวัยรุ่น และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่จะสนับสนุนการตัดสินใจที่ดี เมื่อวัยรุ่นเผชิญกับความซับซ้อนของสภาพทางสังคมตามวัยของพวกเขา ซึ่งสามารถช่วยปลูกฝังการรักและเคารพตัวเองและคนอื่นของวัยรุ่นได้

โดยสรุปแล้วความสับสนในอัตลักษณ์ของวัยรุ่นเป็นกระบวนการที่เป็นธรรมชาติ ซับซ้อน และจำเป็น ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจ การยอมรับ และการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ด้วยการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับ มีความปลอดภัย และไม่ตัดสิน  ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้วัยรุ่นสำรวจ ยอมรับ และเคารพตัวตนของพวกเขาอย่างแท้จริง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะนำพวกเขาไปสู่การค้นพบตนเองและการเติมเต็มส่วนบุคคลในวัยผู้ใหญ่ต่อไป


แพทย์ผู้ชำนาญด้านการดูแลจิตใจวัยรุ่น 

ดร.สกุลทิพย์ ศิริกันตราภรณ์ นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลกรุงเทพ


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการดูแลจิตใจวัยรุ่น

ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษาทุกปัญหาจิตใจของวัยรุ่นที่ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยที่เติบโตขึ้น เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขสมวัยในทุกวัน


References

  • Beyers, W. & Goossens, L. (2008). Dynamics of perceived parenting and identity formation in late adolescence. Journal of Adolescence, 31 (2), 165-184.
  • Marcia, J. E. (1966). Development and validation of ego-identity status. Journal of personality and social psychology, 3(5), 551.
  • Marcia, J. E. (1980). Identity in adolescence. Handbook of adolescent psychology, 9(11), 159-187.

ข้อมูลโดย

Doctor Image
ดร. สกุลทิพย์ ศิริกันตราภรณ์

จิตวิทยาคลินิก

ดร. สกุลทิพย์ ศิริกันตราภรณ์

จิตวิทยาคลินิก

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด