โรคหวัดเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปีและพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย เมื่อเป็นหวัดแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันอาจมีแค่เพียงบางอาการ แต่สาเหตุการเกิดโรคหวัดมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน
โรคหวัด
เวลาที่เป็นหวัด แพทย์จะหมายถึงคนไข้มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ ส่วนอยู่เหนือเส้นเสียงในหลอดลมขึ้นมา จนถึงช่องคอและจมูก ซึ่งสามารถแบ่งอาการไล่ตามอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น- ในจมูก จะมีน้ำมูก คัดจมูก แสบจมูก จาม
- ในคอ จะมีเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ ไอ คอแดง ต่อมทอนซิลโต แดงเป็นหนอง
- ในหลอดลมส่วนต้น มีเสมหะ เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
โดยอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการของทางเดินหายใจ เช่น
- ไข้
- ปวดเมื่อย
- ครั่นเนื้อครั่นตัว
- คลื่นไส้
- ปวดหัว
- มึนหัว
- ปวดตัว
- เบื่ออาหาร
- ท้องเสีย
- มีผื่น
รักษาโรคหวัด
เมื่อเป็นหวัดสิ่งที่ต้องทำ คือ สังเกตตัวเองว่า หวัดในครั้งนี้เป็นหวัดไวรัสหรือหวัดแบคทีเรีย เพราะมีการรักษาที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่พบว่าเป็นหวัดไวรัส คือ มีอาการเจ็บ ๆ คอเล็กน้อย มีน้ำมูกเล็กน้อย ไอจามเล็กน้อย เพลีย ๆ เล็กน้อย ประมาณ 2 – 3 วัน ก็หายเองได้ เพียงแค่พักผ่อนให้เพียงพอ บางครั้งยังไม่ทันสังเกตตัวเองด้วยซ้ำว่าเป็นหวัด มึน ๆ ทานยาพาราเซตามอลครั้งเดียวก็หาย ไม่ต้องมาพบแพทย์ และหวัดเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสในอากาศ ไม่มียารักษาโดยตรง (เพราะไวรัสส่วนใหญ่ไม่มียาฆ่าเชื้อ) ใช้ยารักษาตามอาการ และรอให้หายเอง ซึ่งอาจมีมากถึง 70 – 80% ของจำนวนคนที่เป็นหวัดด้วยซ้ำ
สังเกตหวัดไวรัสหรือหวัดแบคทีเรีย
หากเป็นหวัดที่อาการค่อนข้างหนักจนเป็นปัญหาให้ต้องมาพบแพทย์ ให้ลองสังเกตว่าเราเป็นหวัดจากการติดเชื้อไวรัสหรือติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนี้
1) สังเกตอาการตนเอง
สังเกตว่าเป็นหวัดไวรัสหรือหวัดแบคทีเรีย ด้วยการสังเกตสีของน้ำมูกและเสมหะ ถ้าเป็นหวัดแบคทีเรีย น้ำมูกหรือเสมหะจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว เพราะเวลาเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นทหารไว้ป้องกันศัตรูในร่างกายของเรามาต่อสู้กับแบคทีเรียที่เป็นเชื้อโรคจะทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ในเม็ดเลือดขาวที่ทำให้เกิดสีเหลืองหรือสีเขียว ดังนั้นเมื่อเสมหะเปลี่ยนสีจากใสหรือสีขาวเป็นสีเหลืองสีเขียว บางครั้งเป็นสีน้ำตาลหรือมีปนเลือดบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นหวัดแบคทีเรียที่ต้องทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Antibiotic หรือยาปฏิชีวนะ)
2) อ้าปากส่องดูในคอ
การอ้าปากส่องดูในคอเหมือนเวลาไปพบแพทย์ สามารถทำได้โดยใช้ไฟฉายส่องดูคอในกระจก ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้แสงขาว เช่น เปิดไฟฉายจากโทรศัพท์ก็ได้ สิ่งสำคัญคือ เวลาอ้าปาก ต้องอ้าเพื่อให้เห็นหลังคอ โดยอ้าปากให้กว้างที่สุด แล้วสูดหายใจเข้าทางปาก ลิ้นจะต่ำลง ลิ้นไก่จะยกตัวขึ้น เปิดให้เห็นหลังคอ ไม่ต้องแลบลิ้นหรือกระดกลิ้น ไม่ต้องเกร็งลิ้น เพราะลิ้นจะยิ่งบังคอ ทำให้มองไม่เห็น จนต้องเอาไม้กดลิ้นมากดลิ้นลง บางคนก็เกร็งลิ้นต้านยิ่งทำให้มองไม่เห็น นอกจากบางคนลิ้นใหญ่จริง ๆ อาจจะทำยังไงก็ไม่เห็น
เมื่ออ้าปากเปิดคอเป็นแล้ว สิ่งที่ให้สังเกตคือ การหาหลักฐานของการติดเชื้อแบคทีเรียเพื่อพิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ให้ดูว่าคอแดงหรือไม่ มีต่อมทอนซิลที่อยู่ด้านข้าง 2 ข้างซ้ายขวาโตหรือไม่ บวมแดงเป็นหนองหรือไม่ ลิ้นไก่บวมแดงดูอักเสบหรือไม่ ถ้าคอดูค่อนข้างปกติ แดงนิดหน่อย ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นแบคทีเรียหรือไวรัส แต่ถ้าคอแดงมาก มีหนอง ลิ้นไก่บวมแดง ต่อมทอนซิลโตบวมแดงเป็นหนอง น่าจะเป็นแบคทีเรีย ซึ่งถ้าไม่ได้ทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อาจจะหายหวัดด้วยตัวเองยาก หรือค่อนข้างช้า
3) สังเกตอาการไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
เชื้อไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของหวัดไวรัสชนิดเดียวที่มียาฆ่าเชื้อโดยตรงคือ ยา Oseltamivir หรือที่รู้จักกันในชื่อยี่ห้อยา Tamiflu หรือขององค์การเภสัชฯคือ GPO-vir
-
การติดเชื้อไวรัส มีลักษณะเด่นคือ จะมีอาการหลาย ๆ ระบบนอกเหนือไปจากอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย (ระบบทางเดินอาหาร) ปวดตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ (ระบบกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ) ตาแดง ผื่น (ระบบผิวหนัง) ฯลฯ เรียกรวม ๆ ว่า Viral Syndrome คือ อาการของการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสมีหลายชนิด ทั้งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดทั่ว ๆ ไป ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสเดงกี่ที่ก่อโรคไข้เลือดออก ไวรัสตับอักเสบ จนกระทั่งไวรัส HIV ที่ก่อโรคเอดส์
-
หากเป็นเชื้อไวรัสในตอนเริ่มต้นจะแสดงอาการของการติดเชื้อไวรัสเหมือน ๆ กัน ทำให้บางครั้งแยกไม่ออกว่าเป็นโรคอะไร จนกว่าอาการอื่นที่ชัดเจนของโรคนั้น ๆ จะปรากฏขึ้น เช่น
– ถ้ามีอาการของการติดเชื้อไวรัส คือ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดตัว ร่วมกับอาการหวัดและเป็นค่อนข้างหนักให้สงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่
– ถ้ามีอาการของไวรัสร่วมกับไข้สูงลอย ร่วมกับประวัติโดนยุงลายกัดให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก
– ถ้ามีอาการของไวรัสร่วมกับตัวเหลือง ตาเหลือง นึกถึงไวรัสตับอักเสบ
– ถ้ามีอาการของไวรัสแล้วหายไปเอง พอนาน ๆ ไป เริ่มมีภูมิต่ำ ติดเชื้อง่าย ให้สงสัยว่าเป็น HIV จะมีอาการคล้าย ๆ หวัด มีผื่น คล้าย ๆ จะเป็นติดเชื้อไวรัส พอหายไปเองก็เลยไม่ได้สนใจ นั่นอาจจะเป็นอาการแสดงของการติดเชื้อเอชไอวีระยะเฉียบพลันก็เป็นได้ แล้วก็แพร่เชื้อต่อให้คนอื่นมาเรื่อย ๆ จนกว่าจะแสดงอาการจนรู้ตัวว่าเป็นเอดส์ ซึ่งถ้าเราป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่สำส่อน ก็ไม่ต้องกังวล เพราะไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ -
ควรสังเกตตนเองว่ามีอาการอื่นอะไรร่วมด้วยอีกบ้าง เมื่อรู้แล้วว่าเป็นหวัด ขั้นตอนต่อไปคือการรักษา
4) ยาฆ่าเชื้อ
สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคหวัด แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ยาฆ่าเชื้อกับยาที่ใช้รักษาตามอาการ มี 2 แบบ คือ ยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อ (Antibiotic หรือยาปฏิชีวนะ) กับยาแก้อักเสบแก้ปวด (NSAIDs)
โดยยาฆ่าเชื้อสำหรับรักษาโรคหวัด มี 2 อย่าง คือ ยาฆ่าเชื้อไวรัสกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- ยาฆ่าเชื้อไวรัส มีชนิดเดียว คือ ยาฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ (Oseltamivir หรือ Tamiflu)
- ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีมากมายหลายกลุ่ม หลัก ๆ ที่ใช้คือ กลุ่มเพนนิซิลิน เบื้องต้นคือ Amoxicillin เรียกง่ายๆว่า “อะม็อกซี่” ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัททั้งในและต่างประเทศผลิตยาตัวนี้ขึ้นมาขายกันมากมาย แล้วแต่บริษัทไหนจะตั้งชื่อว่าอะไร ใช้แคปซูลยาสีอะไร
- ยาอีกกลุ่มที่เป็นยาเบื้องต้นในการรักษาหวัดไวรัส สำหรับคนแพ้เพนนิซิลิน คือ Roxithromycin ชื่อยี่ห้อคือ Rulid ซึ่งก็มียาในประเทศผลิตยาตัวนี้ออกมาอีกหลายบริษัท ใช้ชื่อยี่ห้อต่างๆกันอีกเช่นกัน
เพราะฉะนั้น คนไข้ควรอ่านชื่อยาด้วยว่ากินยาอะไรเข้าไป ก่อนจะพบหมอหรือซื้อยาตัวใหม่ในร้านขายยา นอกจากนี้ยาแต่ละอย่างมีวิธีกินไม่เหมือนกัน เช่น กินครั้งละ 1 เม็ด หรือครั้งละ 2 เม็ด วันละกี่ครั้ง บางตัวกินหลังอาหาร บางตัวกินก่อนอาหาร บางตัวให้กินนาน 3 วัน บางตัว 5 วัน หรือ 7 วัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความรู้ ควรปรึกษาแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง
5) หลักการกินยาฆ่าเชื้อ
หลักการกินยาฆ่าเชื้อ คือ ถ้าทหารในตัวเราคือเซลล์เม็ดเลือดขาวแข็งแกร่งไม่พอในการต่อสู้กับเชื้อโรค จนเราต้องกินยาฆ่าเชื้อ เหมือนเราส่งอาวุธเข้าไปช่วยในการต่อสู้ เพราะฉะนั้นส่งอาวุธเข้าไป ต้องให้ตู้มเดียวจบ กินยาให้ถูกขนาด ครบมื้อ ครบจำนวนวัน ฆ่าเชื้อให้หมด ไม่ใช่กินนิด ๆ กินบ้าง ไม่กินบ้าง กินแบบคิดว่าเป็นยาแก้เจ็บคอ พอหายเจ็บคอก็เลิกกิน พอเชื้อแบคทีเรียเจออาวุธเราเข้าไป จำนวนหนึ่งก็ตาย อีกจำนวนหนึ่งยังไม่ตาย ก็กลับไปพัฒนาอาวุธตัวเองกลับมาต่อสู้ใหม่ กลายเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดดื้อยา เพราะเคยเจออาวุธเราแล้วรอดมาได้ พอแบ่งตัวเพิ่มก็มีแต่ตัวพวกที่สู้อาวุธเราได้ทั้งนั้น เราก็จะกลายเป็นพวก เป็นหวัดเชื้อดื้อยาไป
6) ไข้หวัดใหญ่ทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ
ไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อไวรัส โดยไวรัสจะไปทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ เหมือนโดนทำลายรั้วบ้าน เมื่อติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จึงอาจจะมีติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมวันหลังได้ โดยอาการตอนแรกเป็นเหมือนไวรัสร่วมกับอาการหวัด พอกินยาฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ ก็ไข้ลดลง หายปวดตัว ทานข้าวได้ ต่อมาอีก 2 – 3 วันมีไข้กลับขึ้นมาอีก เสมหะเปลี่ยนสีเป็นเหลืองเขียว แสดงว่าโดนแบคทีเรียเข้าแล้ว ก็อาจจะต้องกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
7) ยารักษาตามอาการ
ยาที่ใช้รักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก ยาแก้ปวดลดไข้ ยาอม ยาพ่นคอ ยาบ้วนปากกลั้วคอ เหล่านี้เป็นยาตามอาการ ลดอาการหวัดต่าง ๆ ช่วยให้รู้สึกสุขสบายขึ้น สามารถทานยาตามอาการได้ และหยุดเมื่อไม่มีอาการ เพื่อรอจนกว่ายาฆ่าเชื้อจะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้หมด ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงประวัติการแพ้ยาและผลข้างเคียงของยาบางตัวที่อาจจะทำให้ง่วง ใจสั่น ท้องผูก ฯลฯ ซึ่งคนไข้ควรจำชื่อยาไว้ว่าชอบหรือไม่ชอบยาตัวไหน เพื่อซื้อหรือแจ้งหมอในครั้งต่อไป
เมื่อรับประทานยารักษาโรคหวัดแล้ว ให้สังเกตอาการว่าดีขึ้นบ้างหรือไม่ ถ้าดีขึ้น สบายตัวขึ้น แสดงว่ายาได้ผลดี แต่ถ้าไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง 2 – 3 วัน ก็ควรจะกลับมาพบแพทย์ หรือดีขึ้นเหมือนจะหาย แต่พอหยุดยาฆ่าเชื้ออาการกลับมาเป็นอีก กลับมาเจ็บคอ มีไข้ ไอ มีเสมหะอีก ควรกลับมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาว่าเชื้อดื้อยาหรือไม่ ต้องให้ยาฆ่าเชื้อตัวเดิมต่อหรือควรปรับยาฆ่าเชื้อให้แรงขึ้นหรือไม่ หรือบางครั้งอาจจะดีขึ้น แต่หายไม่สนิท เช่น พอหายหวัดก็ยังไอคอกแคก ๆ มาเรื่อย ๆ เป็นเดือน มีน้ำมูก คัดจมูก มีเสมหะติดคอตลอด มีไข้ตัวรุม ๆ เป็นบางครั้ง บางคนปล่อยให้เป็นต่อมาอีกนาน 1-2 เดือน จนลืมไปแล้วว่าเริ่มต้นจากการเป็นหวัด ก็อาจต้องกินยาฆ่าเชื้อหรือกินยาตามอาการต่อจนกว่าจะหายสนิทกลับมามีสุขภาพแข็งแรง 100% เหมือนเดิม
โรคแทรกซ้อนจากหวัด
หากเป็นหวัดอาจจะมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวเดิม หรือลักษณะของร่างกายที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อในส่วนอื่นข้างเคียงร่วมด้วย เช่น
-
ไซนัสอักเสบ เมื่อเป็นหวัด มีน้ำมูก มีเยื่อจมูกบวมที่ทำให้คัดจมูก จนลามขึ้นไปถึงโพรงไซนัสที่อยู่ข้างโพรงจมูกและหน้าผาก ทำให้มีหนองหรือน้ำมูกอยู่ในโพรงไซนัสด้วย เรียกว่า ไซนัสอักเสบ จะมีอาการปวดโพรงไซนัส เสียงอู้อี้ขึ้นจมูก หายใจมีกลิ่นเหม็น การรักษาใช้ยาคล้ายๆรักษาหวัด แต่อาจจะเป็นยาฆ่าเชื้อที่แรงขึ้น ซึ่งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ รวมทั้งการล้างจมูกด้วยตนเองก็ช่วยลดปริมาณเชื้อโรค และทำให้หายใจโล่งขึ้นได้
-
หูอักเสบ เนื่องจากหูและคอมีท่อที่เชื่อมต่อกัน คือ ท่อยูสเตเชียลทิวบ์ เมื่อเป็นหวัด เยื่อบุต่าง ๆ บวม ทำให้เยื่อที่บุอยู่ในท่อนี้บวมไปด้วยจนตีบตัน จึงไม่สามารถระบายแรงดันอากาศในช่องหูชั้นกลางออกมาได้ ทำให้ปวดหูหรือบางครั้งเชื้อโรคอาจจะลามขึ้นไปติดเชื้อในหูชั้นกลาง ทำให้เกิดเป็นหูอักเสบหรือหูน้ำหนวกได้ด้วย การรักษาจะใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดที่สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคหูอักเสบได้ หรือมียาหยอดหูร่วมด้วย
-
หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เมื่อเชื้อโรคผ่านหลอดลมลงมาส่วนล่าง เข้ามาที่ปอด ก็สามารถทำให้เป็นหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้ จะทำให้ไอมากขึ้น มีไข้ หรือหอบเหนื่อยได้ บางกรณีที่เป็นมาก อาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือด
-
หอบหืด สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวเดิมเป็นหอบหืด คือ หลอดลมมีความไวต่อการถูกกระตุ้น และเกิดการตีบตัว ทำให้หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย มีเสียงวี้ดในปอด เป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขอาการหลอดลมตีบด้วยยาขยายหลอดลม คนที่เป็นโรคหอบหืดจึงต้องรีบรักษาหวัดให้หาย อย่าให้เป็นมาก
-
ชักจากไข้สูง มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ให้รีบลดไข้ด้วยการเช็ดตัวหรือทานยาลดไข้ อย่าปล่อยให้เด็กไข้สูงนาน จนเกิดอาการชัก และรักษาหวัดให้หาย
ป้องกันโรคหวัด
-
โรคหวัดติดต่อทางอากาศหรือทางสารคัดหลั่งต่าง ๆ ที่ออกจากตัวผู้ป่วย เช่น ไอจามใส่กัน คนอื่นที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอ อาจจะนอนน้อยพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย ก็จะติดเชื้อหวัดได้ง่าย เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นหวัด ให้ใส่หน้ากากปิดปากปิดจมูกเพื่อป้องกันไม่ให้ไอจามใส่คนอื่น หรือถ้าไม่อยากติดเชื้อหวัดจากใคร เวลาที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีคนเยอะ รถโดยสารสาธารณะ ห้องประชุม โดยเฉพาะเวลามาโรงพยาบาลที่เป็นแหล่งรวมของเชื้อโรค ควรใส่หน้ากากป้องกันไม่ให้รับเชื้อ ล้างมือบ่อย ๆ โอกาสในการติดหวัดก็จะน้อยลง
-
ถ้าหากเป็นหวัดแบคทีเรียที่มีต่อมทอนซิลอักเสบเกิน 6 ครั้งต่อปี หรือเกิน 2 เดือนครั้ง ให้ลองปรึกษาแพทย์หู คอ จมูกเพื่อพิจารณาผ่าตัดต่อมทอนซิลออก อาจจะทำให้เป็นหวัดน้อยลง หากเป็นหวัดบ่อยมาก ๆ เป็นเกือบทุกเดือน หรือเป็นหวัดเชื้อดื้อยา ให้กลับมาพิจารณาตนเอง ว่าได้ดูแลสุขภาพตัวเองบ้างหรือยัง ปล่อยให้ร่างกายอ่อนแอจนป่วยบ่อยหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นให้ปรับสมดุลชีวิตตนเองบ้าง จัดสรรเวลาในการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ลดความเครียดลง หรือทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น รับประทานอาหารเสริมที่เสริมภูมิคุ้มกันบ้าง