หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) และโรคถุงลมปอดโป่งพอง (Pulmonary Emphysema) เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกือบทั้งหมดเป็นผลจากการหายใจเอามลภาวะที่เป็นพิษ ซึ่งอาจอยู่ในรูปก๊าซหรือฝุ่นเข้าไป ทำให้มีการอักเสบและทำลายระบบทางเดินหายใจคือ หลอดลมและปอด โรคนี้เกือบทั้งหมดจะเกิดร่วมกัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีหลอดลมอักเสบมากกว่า แต่บางรายอาจมีถุงลมปอดโป่งพองมากกว่า น้อยรายที่จะเกิดเพียงอย่างเดียว ทางการแพทย์จึงเรียกรวมว่า โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD)
อาการบอกโรค
ประวัติที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยสูบบุหรี่จัด สูบมาเป็นเวลานาน และมีอาการไอเรื้อรัง ระยะแรก ๆ มักไอตอนเช้าหลังตื่นนอน ไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นเสมหะใส ๆ ป่วยเป็นหวัดง่าย ระยะนี้อาการเหนื่อยยังไม่มีหรือถ้ามีก็มีไม่มาก อยู่ ๆ ก็มีอาการเหนื่อยหอบหลังมีการอักเสบของหลอดลมหรือปอด เช่น มีไข้หวัด หายใจมีเสียงหืด ระยะหลังจะมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบากเพิ่มขึ้น อาการจะแย่ลงเรื่อย ๆ แม้จะงดสูบบุหรี่แล้วก็ตาม และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะการหายใจล้ม
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคนอกจากประวัติสูบบุหรี่และอาการของผู้ป่วยแล้ว การตรวจสมรรถภาพปอดจะไวต่อการวินิจฉัยโรคมากกว่าเอกซเรย์ บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังอยู่ในระยะที่เป็นมาก แต่เอกซเรย์ปอดยังปกติ การตรวจสมรรถภาพปอดโดยดูว่ามีหลอดลมตีบหรือไม่ในขณะหายใจออกจะสามารถตรวจพบผู้ป่วยในระยะแรกได้เร็วกว่า
การรักษาด้วยยา
เพราะอาการของผู้ป่วยคือ หอบเหนื่อย หายใจลำบากเมื่อออกกำลัง ผู้ป่วยออกกำลังไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพเสื่อมลง ทั้งร่างกายและจิตใจ อาการหอบเหนื่อย หายใจลำบากเป็นผลจากการตีบของหลอดลม เนื่องจากมีการอักเสบ การหดเกร็งของกล้ามเนื้อบุหลอดลม จากเสมหะในหลอดลม และจากหลอดลมขนาดเล็ก (Bronchiole) ถูกกดให้ตีบตันลง(Expiratory Dynamic Airway Compression) ขณะหายใจออก ยาที่ใช้จึงมี 5 ประเภท ได้แก่
-
ยาลดการอักเสบ ได้แก่ ยาที่ลดปฏิกิริยาการอักเสบ เช่น พวก Corticosteroids
-
ยาขยายหลอดลม
-
ยาละลายเสมหะ
-
ยาฆ่าเชื้อโรค เมื่อมีการติดเชื้อโรคในทางเดินหายใจและปอด
-
การให้ออกซิเจนที่บ้านตามความจำเป็น
ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าการใช้ยาที่เหมาะสมอาจทำให้สมรรถภาพปอดดีขึ้น และอาจมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น มียาหลายชนิดที่กำลังอยู่ในระยะทดลอง และมีแนวโน้มว่าจะใช้ได้ผลดี การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบของโรค (Acute Exacerbation) มีความสำคัญมาก คือ ไอบ่อยขึ้น เสมหะเพิ่มขึ้น เสมหะเปลี่ยนลักษณะเป็นคล้ายหนอง และเหนื่อยมากขึ้น เพราะถ้ายิ่งมาช้าจะยิ่งรักษายากขึ้น ผู้ป่วยพวกนี้ส่วนใหญ่ตายจากภาวะการหายใจล้ม ซึ่งมักเกิดตามหลังการติดเชื้อทางระบบหายใจ และผู้ป่วยมาหาแพทย์ช้าเกินไป
การผ่าตัดรักษา
การผ่าตัดเป็นการบรรเทาอาการของโรคและยังทำกันน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มีอยู่ ในผู้ป่วยที่มีถุงลมปอดโป่งพองเป็นถุงใหญ่และเนื้อปอดรอบ ๆ ยังพอทำงานได้ดี การตัดเอาถุงลมนั้นออกไปจะทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยน้อยลงได้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคระยะท้าย ๆ การผ่าตัดอาจช่วยได้ แต่ต้องเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสม และมีผู้ป่วยเป็นส่วนน้อยที่ได้ผลดีจากการผ่าตัด ได้แก่ ผู้ป่วยที่โรคส่วนใหญ่อยู่ในส่วนบนของปอดกลีบบนและโรคกระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ ยังมีเนื้อปอดที่ดีเหลืออยู่บ้าง การตัดปอดบางส่วนที่เสียออกไปเพื่อลดปริมาตรปอด (Lung Volume Reduction Surgery หรือ LVRS) อาจทำให้กล้ามเนื้อช่วยการหายใจ โดยเฉพาะกระบังลมทำงานได้ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนปอด (Lung Transplantation) ก็มีผู้ทำกัน แต่ควรทำในที่ๆ มีความชำนาญเท่านั้น
การรักษาโดยไม่ใช้ยา
ผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยหอบและหายใจลำบากอาจไม่ได้มาจากโรคปอดทั้งหมด ผู้ป่วยจำนวนมากที่อาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ทำงานไม่ได้ เพราะเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อทั่วไปและ/หรือกล้ามเนื้อช่วยหายใจอ่อนกำลังลง (Peripheral and Respiratory Muscle Dysfunction) จากการที่ผู้ป่วยไม่ได้ออกกำลัง ดังนั้นการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยที่เหมาะสมจึงเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของหน่วยกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพปอด (Pulmonary Physical Therapy and Rehabilitation) ที่ต้องทำ ไม่ว่าขณะที่ผู้ป่วยมีอาการตามปกติ มีการกำเริบของโรค หรือหลังฟื้นจากการเจ็บป่วย นอกเหนือจากการแนะนำ การหายใจที่ถูกวิธี การออกกำลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อหายใจ การระบายเสมหะ โดยมีความจำเป็นที่ต้องประเมินสิ่งเหล่านี้เพิ่มด้วย ได้แก่
- โภชนาการและน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
- นอกจากช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ต้องให้กำลังใจ พยายามให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองได้มากขึ้น และเข้าสังคมดีขึ้น
- การสอนผู้ป่วยและญาติให้เข้าใจถึงโรค อาการ และยาที่ใช้ เพื่อประโยชน์ในการดูแลตัวเอง
- การติดตามผู้ป่วยที่บ้าน อาจเป็นในรูปโทรศัพท์ หรือไปเยี่ยมถึงที่บ้าน และมีความจำเป็นที่บุคลากรการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยทุกคนต้องทราบข้อมูลและนำมาประเมินร่วมกัน
- หน่วยกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพปอดมีความจำเป็นและมีประโยชน์สำหรับการดูแลผู้ป่วยอย่างมาก
นอกจากนี้การรักษาโรคนี้จำเป็นต้องครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมของการเจ็บป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยน้อยลง คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นภาระต่อญาติน้อยลง ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ไปพบแพทย์และเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลน้อยลง ขาดงานน้อยลง รวมทั้งมีชีวิตยืนยาวขึ้น การรักษาจึงไม่ใช่เพียงการให้ยาอย่างเดียว ต้องรวมถึงการรักษาที่ไม่ใช่ยาด้วย เช่น
-
หลีกเลี่ยงการหายใจเอาสารมลภาวะเป็นพิษเข้าไป โดยเฉพาะการงดสูบบุหรี่
-
การประเมินความรุนแรงของโรคเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
-
การตรวจและรักษาโรคร่วมอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ
-
โภชนาการและน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
-
สุขภาพทางจิตใจของผู้ป่วย
-
การฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดและของร่างกายทั้งหมด
-
การป้องกันและรักษาอาการกำเริบของโรคแต่เนิ่น ๆ
-
การสอนผู้ป่วยให้เข้าใจโรคและช่วยเหลือตัวเองได้
-
การสอนญาติให้เข้าใจเพื่อช่วยเหลือดูแลอาการของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง
ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ
ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลผู้ป่วยครบในที่เดียว โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญ และผ่านการอบรมเฉพาะโรคทางระบบหายใจเป็นพิเศษร่วมกันดูแลผู้ป่วยในทุกรายละเอียด ได้แก่
-
การดูแลผู้ป่วยในคลินิกนอก (Out – Patient Chest Clinic)
-
การดูแลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน เมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบ (Emergency Room Department)
-
การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยมีอาการป่วยมาก ดูแลที่บ้านไม่ได้ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (In – Patient Service Ward)
-
มีหน่วยบริการผู้ป่วยอาการหนักมากทางระบบหายใจ (Respiratory Care Unit) ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการหนัก หายใจไม่พอ และอาจเกิดภาวะการหายใจล้ม (Respiratory Failure) และอาจต้องใช้เครื่องช่วยการหายใจ (Mechanical Ventilator)
-
หน่วยกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพปอด (Pulmonary Physical Therapy and Rehabilitation) ดูแลเรื่องการหายใจและการระบายเสมหะที่ถูกวิธี ฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้อการหายใจและกล้ามเนื้อทั่วไปเพื่อให้ผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น ดูแลเรื่องโภชนาการ การให้กำลังใจ เพื่อลดอาการซึมเศร้า กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมมากขึ้น สอนผู้ป่วยและญาติให้รู้เรื่องโรค และวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยที่ถูกต้อง
-
หน่วยตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests Unit) เพื่อเป็นแนวทาง การวินิจฉัย และการรักษาโรค
การให้บริการที่มีประสิทธิภาพของทุกหน่วยงานที่มีความร่วมมือในการรักษาเป็นอย่างดีมีความสำคัญมากในการที่จะดูแลผู้ป่วยให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง