ในผู้ที่สูบบุหรี่นั้นการสูบบุหรี่ไม่เพียงทำให้ตนเองเสี่ยงมะเร็งปอด แต่ยังทำให้คนที่ไม่สูบบุหรี่เสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะควันบุหรี่มือสองยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด เพราะฉะนั้นการไม่สูบบุหรี่คือการป้องกันมะเร็งปอดที่ดีที่สุด
จากการเก็บข้อมูลวิจัยผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวน 266 รายในปี พ.ศ. 2554 ของศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งได้รับการประเมินตามอาชีพ การได้รับพิษจากควันบุหรี่ มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็ง และการเป็นโรคร่วมอื่น ๆ พบว่า 89% ของผู้ป่วยชายที่เป็นมะเร็งนั้นมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก แต่สิ่งที่น่าตกใจมากที่สุดก็คือ ผู้ป่วยหญิงจำนวน 64 คนจาก 74 คนที่ไม่สูบบุหรี่ มีผู้ป่วยหญิง 40 คนหรือประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยหญิงได้รับพิษจากควันบุหรี่มือสอง
Figure 1: สถิติของชายและหญิงผู้เข้าร่วมในการวิจัย
Table 1: ลักษณะและการวัดเบื้องต้นของการวิเคราะห์
ข้อมูล |
ผู้ชาย |
ผู้หญิง |
จำนวนคน |
152 |
74 |
อายุ (โดยเฉลี่ย) |
32 – 82 (55.97) |
32 – 82 (52.98) |
ผู้ที่สูบบุหรี่ |
135 (59.7%) |
10 (4.4%) |
ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
|
17 (7.5%) 13 (5.7%) 3 (1.3%) 1 (0.4%) |
64 (28.3%) 21 (9.3%) 40 (17.7%) 3 (1.3%) |
ในปี พ.ศ. 2550 ประชากรไทยที่อายุมากกว่า 15 ปี จำนวน 11 ล้านคนจากทั้งหมด 51 ล้านคนถูกระบุว่าเป็นผู้สูบบุหรี่ (ในปี 2564 จำนวนผู้ที่ถูกระบุว่าสูบบุหรี่ลดลงเหลือ 9.9 ในจำนวนประชากรทั้งหมด 57 ล้านคน) นั่นหมายถึงผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่มีอัตราส่วน 1:5 ครอบครัวที่มีสมาชิกสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงในการได้รับควันบุหรี่มือสองมากที่สุด ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่จึงมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้หญิงที่สามีไม่ได้สูบบุหรี่
ในทำนองเดียวกัน ผลการสำรวจครัวเรือนทั้งหมด 1,284 ครัวเรือนใน 31 ประเทศ รวมทั้งลาว กัมพูชา ไทย และจีน พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ในครัวเรือนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับระดับความเข้มข้นของนิโคตินในเส้นผม เมื่อมีผู้สูบบุหรี่จำนวนมากขึ้น ระดับความเข้มข้นของนิโคตินในเส้นผมจะสูงขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับควันบุหรี่ ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับการวิจัยในยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และจีน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย พบว่าประชากรที่ไม่สูบบุหรี่สามารถได้รับพิษจากควันบุหรี่มือสองได้
ที่ประเทศอินเดียมีการวิจัยโดยจับคู่ผู้หญิงที่มีสุขภาพดีและไม่สูบบุหรี่จำนวน 50 คนให้ได้รับควันบุหรี่มือสองเทียบกับผู้หญิงวัยเดียวกันจำนวน 50 คนที่ไม่เคยสัมผัสกับควันบุหรี่ โดยเป็นการร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งพบว่า การได้รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อมในช่วงวัยเด็กมีผลอย่างมากกับอัตราการเกิดมะเร็งปอดที่สูงขึ้น (OR = 3.9, 95% CI 1.9 – 8.2) ดังนั้นการได้รับพิษจากควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุของโรคปอดได้หลายชนิด ซึ่งเป็นแบบเดียวกันในประเทศอื่น ๆ เช่นกัน
จากข้อมูลการวิจัยข้างต้นจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า การสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนงดสูบบุหรี่จึงเป็นเรื่องสำคัญทางด้านสาธารณสุขที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับพิษจากควันบุหรี่มือสอง
ในประเทศจีน นอกเหนือจากมะเร็งปอดที่มาจากพิษควันบุหรี่มือสองแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก เช่น ควันน้ำมันจากการทำกับข้าว ควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อม อันตรายจากการทำงาน เช่น การได้รับสารพิษและสารเคมี เช่น แร่ใยหินและมลพิษทางอากาศ
ในปี พ.ศ. 2555 เครือข่ายมะเร็งครบวงจรแห่งชาติ (National Comprehensive Cancer Network® : NCCN®) ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของศูนย์มะเร็งชั้นนำในสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่แนวปฏิบัติทางคลินิกด้านมะเร็งวิทยา (Clinical Practice Guidelines in Oncology : NCCN Guidelines®) โดยแนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดแบบใหม่ แม้ว่าแนวทางนี้จะทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตรวจหามะเร็งในระยะแรกสุด ซึ่งเป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควรขยายขอบเขตการคัดกรองให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงจากพิษควันบุหรี่มือสองด้วย ทั้งนี้การขยายขอบเขตการคัดกรองจะช่วยให้ผู้ชำนาญการสามารถพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การวิจัยของโรงพยาบาลกรุงเทพยังพบอีกว่า สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจากควันพิษมือสองควรได้รับการคัดกรองก่อนอายุ 50 ปี
แนวทางปฏิบัติดูแลรักษามะเร็ง
- ผู้ที่ยังไม่มีอาการมะเร็งปอดจะได้รับการประเมินความเสี่ยงตามปัจจัยดังต่อไปนี้ อายุ ประวัติการสูบบุหรี่ การได้รับสารพิษและสารเคมี อันตรายจากการทำงาน ประวัติการเป็นมะเร็ง มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ประวัติการเป็นมะเร็งปอด และการได้รับควันพิษมือสอง
- หลักการตรวจคัดกรองด้วยวิธี LDCT สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง มีรายละเอียดดังนี้
- ผู้ที่มีอายุ 50 – 74 ปี มีประวัติสูบบุหรี่มากกว่า 30 แพ็กต่อปี หากเป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ควรเลิกสูบแล้วไม่เกิน 15 ปี (หมวด 1)
- ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีประวัติสูบบุหรี่มากกว่า 20 แพ็กต่อปี และมีปัจจัยความเสี่ยงอื่นอีก 1 ปัจจัย (นอกเหนือจากการเป็นการเป็นผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง) (หมวด 2B)
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเป็นประจำไม่จำเป็นสำหรับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงปานกลาง ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีประวัติสูบบุหรี่มากกว่า 20 แพ็กต่อปี หรือเป็นผู้ที่ได้รับควันพิษมือสอง และไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ หรือเป็นกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงน้อย โดยมีอายุต่ำกว่า 50 ปี และ/หรือสูบบุหรี่น้อยกว่า 20 แพ็กต่อปี
จากการวิจัยในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของควันบุหรี่มือสองต่อมะเร็งปอดในผู้หญิง เนื่องจากอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งปอดในการวิจัยคือประมาณ 55 ปี จึงสันนิษฐานได้ว่า การพัฒนาของโรคเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด ทุกคนควรร่วมกันสนับสนุนการรณรงค์ให้ความรู้และการตรวจสุขภาพ โดยเน้นกลุ่มผู้หญิงอายุต่ำกว่า 50 ปีที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นสำคัญ
Reference :