โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ - ตันกับการออกกำลังกาย

2 นาทีในการอ่าน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ - ตันกับการออกกำลังกาย

ทำไมหลอดเลือดหัวใจตีบ – ตัน

หลอดเลือดแดง หมายถึง หลอดเลือดที่ออกมาจากหัวใจไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยนำออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย รวมทั้งหัวใจ หากร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี หลอดเลือดแดงจะมีผนังที่เรียบ มีความยืดหยุ่นเพื่อปรับขยายหลอดเลือด โดยการยืดและหดตามการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตที่มากขณะที่หัวใจบีบตัว และความดันโลหิตลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว

ผนังด้านในของหลอดเลือดอาจมีไขมันมาเริ่มจับเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่จะรวมตัวกันมากขึ้นจนเป็นแผ่น ค่อย ๆ สะสมพอกตัวหนาขึ้น จนกระทั่งหลอดเลือดจะขาดความยืดหยุ่น เพราะผนังภายในมีไขมันมาจับมากขึ้น จนกระทั่งผนังหลอดเลือดมีการเปลี่ยนแปลงหนาตัวขึ้นและรูภายในหลอดเลือดตีบลง เปรียบเสมือนท่อเหล็กที่มีสนิมสะสมอยู่ภายใน การไหลเวียนของเลือดก็จะลดลงไปด้วย

หลอดเลือดจะตีบและแข็งตัวจนกระทั่งรูสำหรับการไหลเวียนเลือดตีบตันลงไป จะต้องเริ่มจากไขมันไปเกาะที่ผนังภายในหลอดเลือดก่อน ดังนั้นผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงกว่าปกติจะมีโอกาสเกิดความผิดปกติเหล่านี้ได้ง่ายกว่าคนที่มีไขมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำให้หัวใจและระบบการไหลเวียนของเลือดมีประสิทธิภาพดีขึ้น ไม่มีไขมันมาเริ่มเกาะตามผนังหลอดเลือด โอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือดก็มีน้อยลงไป


ผลของหลอดเลือดหัวใจตีบ – ตัน

ตามปกติกล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดที่มีออกซิเจนและสารอาหารมาเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา เพื่อที่จะทำหน้าที่ในการบีบตัวและส่งเลือดผ่านหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งตัวกล้ามเนื้อหัวใจเองด้วย โดยผ่านทางหลอดเลือดหัวใจ 3 แขนงใหญ่

ไขมันอาจเริ่มจับที่ผนังด้านในหลอดเลือดหัวใจเหล่านี้ก่อนที่จะรวมตัวกันมากขึ้นจนเป็นแผ่น ค่อย ๆ สะสมพอกตัวหนาขึ้นจนกระทั่งหลอดเลือดตีบ มีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยงได้ นอกจากนี้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดหัวใจ อาจเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดเหล่านี้ได้ และเมื่อร่างกายต้องทำงานมากขึ้น เกิดสภาวะเครียดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น หัวใจต้องการเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น

หลอดเลือดหัวใจตีบตันที่เกิดขึ้น คือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยงให้เพียงพอต่อการทำงานปกติ ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดขึ้นได้ และถ้าหากมีการอุดตันโดยลิ่มเลือดในหลอดเลือดหัวใจแขนงใดแขนงหนึ่งจะทำให้เกิดภาวะที่มีอันตรายเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจ บางครั้งเกิดขึ้นรุนแรง ทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็วหรือในทันทีทันใด


ข้อเท็จจริงจากงานวิจัย

การศึกษาวิจัยที่มีเผยแพร่ออกมาตลอดเวลา ทำให้เรามีความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นในเรื่องของหลอดเลือดที่เกิดมีการตีบตันและขาดความยืดหยุ่น โดยให้ข้อสรุปไว้ว่า การที่หลอดเลือดมีไขมันมาพอกที่ผนังภายในหลอดเลือด จนกระทั่งเกิดการตีบและขาดความยืดหยุ่นนั้น ในปัจจุบันสามารถพบได้ตั้งแต่คนอายุยังน้อย เช่น ในวัยรุ่นเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ คนส่วนใหญ่ที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มักจะไม่มีอาการแสดงออกใด ๆ เลย และตามสถิติพบว่า มีผู้ป่วยถึง 1 ใน 3 ที่เสียชีวิตทันทีภายหลังที่มีอาการครั้งแรกเท่านั้น หากปล่อยให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับผลกระทบจากการที่เลือดมาเลี้ยงไม่พอ จนกระทั่งเกิดมีแผลเป็นอยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจแล้ว ก็ยากที่จะแก้ไขให้หัวใจกลับมาทำงานได้ 100% เหมือนเดิม ทำให้ความสามารถในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดน้อยลงไป

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด