หลายคนอาจไม่รู้ว่าโรคนิ่วในไตสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้ชายมีโอกาสพบได้มากกว่าผู้หญิง และช่วงวัยที่พบส่วนใหญ่คืออายุ 30 – 40 ปี หากปล่อยทิ้งไว้นานไม่รีบรักษา อาจเกิดการติดเชื้อบ่อยจนเนื้อไตเสีย ไตเสื่อม และไตวายเรื้อรังได้ในอนาคต จึงควรรีบรักษาให้หายก่อนรุนแรง
รู้จักนิ่วในไต
นิ่วในไตเป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุแข็งชนิดต่าง ๆ จนกลายเป็นก้อนแข็งที่มีชนิดและขนาดแตกต่างกัน โดยมักจะพบที่ไตบริเวณกรวยไตและระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นผลมาจากการปัสสาวะเข้มข้นมากและตกตะกอนเป็นนิ่ว ซึ่งนิ่วในไตมีโอกาสเป็นซ้ำได้
สาเหตุนิ่วในไต
การเกิดนิ่วในไตมีความเกี่ยวข้องกับการมีแคลเซียมในปัสสาวะมากผิดปกติจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่
- รับประทานอาหารแคลเซียม โปรตีน เกลือ และน้ำตาล สูงมากเกินไป
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป
- ใส่น้ำตาลในเครื่องดื่มมากเกินไป
- กินอาหารที่มีสารออกซาเลตยับยังการดูดซึมแคลเซียม อาทิ ถั่ว หน่อไม้ ช็อกโกแลต ผักปวยเล้ง มันเทศ ฯลฯ
- กินวิตามินซีมากกว่าวันละ 1,000 มิลลิกรัม
- ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
- โรคแทรกซ้อนจากการเป็นโรคเกาต์
- โรคลำไส้อักเสบ เรื้อรัง
- โรคอ้วนน้ำหนักมากเกินไป
- โรคเบาหวาน
อาการบอกโรค
อาการที่กำลังบ่งบอกว่าเป็นนิ่วในไต ได้แก่
- ปวดเอวข้างที่มีก้อนนิ่ว
- ปวดหลังหรือช่องท้องช่วงล่างข้างใดข้างหนึ่ง
- ปวดเสียด ปวดบิดเป็นพัก ๆ
- มีไข้หนาว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปัสสาวะขุ่นแดง
- ปัสสาวะเป็นเม็ดทราย
- ปัสสาวะแล้วเจ็บ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะน้อย
- ปัสสาวะไม่ออก
- ปวดบิดในท้องรุนแรงถ้าก้อนนิ่วตกลงมาที่ท่อไต
***ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดง
ตรวจวินิจฉัยนิ่วในไต
การตรวจวินิจฉัยนิ่วในไตต้องประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ มีหลายวิธี ได้แก่
- ตรวจปัสสาวะ หากพบเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก แพทย์อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นนิ่วในไต
- ตรวจเลือด ผู้ป่วยนิ่วในไตมักมีปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือดมากเกินไป
- เอกซเรย์ช่องท้อง ช่วยให้แพทย์เห็นก้อนนิ่วบริเวณทางเดินปัสสาวะ
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ช่วยให้แพทย์เห็นก้อนนิ่วขนาดเล็ก
- อัลตราซาวนด์ไต ช่วยตรวจหาก้อนนิ่วในไตได้ชัดเจน
- ตรวจเอกซเรย์ไตด้วยการฉีดสี (IVP) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการเกิดนิ่วในไตและช่วยให้สามารถวางแผนเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไตซ้ำ
***การตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ เพิ่มเติมต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
รักษานิ่วในไต
การรักษานิ่วในไตส่วนใหญ่รักษาตามชนิดและสาเหตุ ได้แก่
- การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด หากนิ่วมีขนาดก้อนเล็กมากอาจหลุดออกมาได้เอง โดยการดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ โดยแพทย์อาจพิจารณาสั่งยาช่วยขับก้อนนิ่วตามความเหมาะสม
- การใช้เครื่องสลายนิ่ว (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการสลายนิ่วขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวและขับออกมาทางปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจเจ็บเล็กน้อย และมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา จึงควรทำการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญอย่างใกล้ชิด
- การส่องกล้องสลายนิ่ว (Ureteroscopy) เป็นการสลายนิ่วขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีกล้อง Ureteroscopy ติดอยู่ด้วยเข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ
- การรักษาแบบผ่าตัด (PercutaneousNephrolithotomy : PCNL) ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่และรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็ก ๆ บริเวณหลังของผู้ป่วยแล้วใช้กล้องส่องเพื่อนำเครื่องมือสอดเข้าไปทำให้นิ่วแตกเป็นชิ้นเล็ก จากนั้นจึงคีบก้อนนิ่วออกมาทางรูเดิม ซึ่งวิธีนี้ต้องพิจารณาและทำการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเท่านั้น
ป้องกันนิ่วในไต
- ดื่มน้ำให้มากช่วยลดโอกาสการตกตะกอนของก้อนนิ่ว
- กินแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติให้เพียงพอ
- เลี่ยงเค็ม ลดเกลือในมื้ออาหาร
- ควบคุมการกินเนื้อสัตว์ นม เนย
- กินผักให้เยอะช่วยลดโอกาสเกิดนิ่ว