อ้วนลงพุงสร้างโรค

4 นาทีในการอ่าน
อ้วนลงพุงสร้างโรค

เพราะโรคอ้วนเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมามากมาย ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคอ้วน ไม่ปล่อยให้ตัวเลขน้ำหนักพุ่งเกินเกณฑ์ และควบคุมปริมาณไขมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จะช่วยให้ห่างไกลโรคอ้วน สุขภาพดีได้ในทุกช่วงวัยของชีวิต

 

รู้จักโรคอ้วน

โรคอ้วน คือ ภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้น โดยจะใช้ค่าร้อยละไขมันในร่างกาย > 20 ในชาย หรือ > 30 ในหญิง  ภาวะไขมันสะสมอาจมาจากไขมันใต้ผิวหนังมากหรือจากไขมันในช่องท้องมาก ซึ่งวิธีวัดไขมันมีหลายรูปแบบ ที่นิยมใช้คือการวัดจากดัชนีมวลกาย (BMI) [ค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร) /ส่วนสูง (เมตร)]   

 

 

ค่าดัชนีมวลกาย

(นานาชาติ)

ค่าดัชนีมวลกาย

(ประชากรเอเชีย)

น้ำหนักตัวต่ำ

< 18.5

< 18.5

น้ำหนักเกิน

25.0 – 29.9

23.0 – 27.5

อ้วนระดับ 1

30.0 – 34.9

≥ 27.5 

อ้วนระดับ 2

35.0 – 39.9

 

อ้วนระดับ 3

≥ 40.0

 

 

อ้วนลงพุงอย่าปล่อยไว้

โรคอ้วนลงพุงเป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันในช่องท้องมากเกินไป ทำให้เกิดเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างมาก โดยคนท้วมมีโอกาสเกิดอ้วนลงพุงได้ถึงร้อยละ 25

 

เกณฑ์วินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง

สามารถทำโดยวัดขนาดเส้นรอบเอวมากกว่าเกณท์ ซึ่งจะแตกต่างตามเชื้อชาติ ร่วมกับการพบปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไปใน 4 อย่างดังต่อไปนี้ 

  • ความดันโลหิตตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
  • ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (Triglyceride > 150 mg/dL)
  • ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (Fasting Plasma Glucose > 100 mg/dL)
  • ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือด หรือ High Density Lipoprotein (HDL – Cholesterol) น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้หญิง

 

วิธีวัดโรคอ้วนลงพุง

การวัดโรคอ้วนลงพุงจะวัดในท่ายืนตรงขณะหายใจออก และควรวัดในตอนเช้าก่อนกินอาหาร โดยวัดที่จุดกึ่งกลางระหว่างขอบล่างของซี่โครงสุดท้ายถึงจุดสูงสุดของกระดูกสะโพก (Iliac Crest) ซึ่งเส้นรอบเอวมีความสัมพันธ์กับดัชนีมวลกาย ใช้ทำนายการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนได้ดี

  • ประชากรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนใช้ค่ามากกว่า 90 เซนติเมตรหรือ 36 นิ้วในชาย และมากกว่า 80 เซนติเมตรหรือ 32 นิ้วในหญิง
  • ประชากรในทวีปอเมริกาใช้ค่าเส้นรอบเอวมากกว่า 102 เซนติเมตรในชาย และมากกว่า 88 เซนติเมตรในหญิง 
  • ประชากรในทวีปยุโรปใช้ค่ามากกว่า 94 เซนติเมตรในชาย และมากกว่า 80 เซนติเมตรในหญิง 

 

อ้วนลงพุงสร้างโรค

 

ตัวการอ้วนลงพุง

คนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปมีปัญหาลงอ้วนลงพุงเกือบร้อยละ 30 ในปี 2011 ที่มีการสำรวจสถานการณ์ความอ้วนในประเทศไทยเทียบเคียงกับประชากรเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน พบว่า ประชากรในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ย BMI ≥ 25 อยู่ที่ 32.2% สูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน เห็นได้ว่าภาวะอ้วนในประเทศมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10 – 20 ปี โดยสาเหตุที่ทำให้อ้วนลงพุง ได้แก่

  • การรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงเกินความต้องการของร่างกาย 
  • ขาดการออกกำลังกาย เช่น ไม่มีเวลาออกกำลังกาย พฤติกรรมทำงานใช้กำลังกาย ร่างกายไม่พร้อม อดนอน
  • กรรมพันธุ์   
  • หยุดและเลิกบุหรี่ 
  • ยาที่ทำให้น้ำหนักขึ้น เช่น ยาจิตเวช ยากันชัก อินซูลิน สเตียรอยด์ 
  • โรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่ กลุ่มอาการคุชชิ่ง ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ

 

ผลร้ายจากอ้วนลงพุง

หากตกอยู่ในภาวะอ้วนลงพุงจะส่งผลเสียกับร่างกาย ได้แก่

  • โรคอ้วน ไขมันอุดตัน โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ไขมันเกาะตับ มะเร็ง โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคเกาต์ โรคข้อเสื่อม หยุดหายใจตอนนอน (Sleep Apnea) โรคผิวหนัง เชื้อรา เส้นเลือดขอด
  • รอบเอวเพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 เซนติเมตร จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานได้มาก 3 – 5 เท่า

 

ป้องกันอ้วนลงพุง

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการควบคุมน้ำหนักและพฤติกรรมสม่ำเสมอ โดยเริ่มได้ตั้งแต่เด็ก ๆ

 

รักษาอ้วนลงพุง

การรักษาภาวะอ้วนลงพุง คือ การลดน้ำหนักอย่างน้อย 5% ซึ่งจะมีผลในการช่วยลดการเกิดโรคแทรกซ้อนจากความอ้วนได้ สามารถทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้  

1) ออกกำลังกาย ประมาณวันละ 30 นาทีขึ้นไป 5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือคนทำงานในออฟฟิศควรพักเพื่อทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวระหว่างวัน

2) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารให้ถูกต้อง ได้แก่

  • บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน  
  • เพิ่มการทานอาหารที่มีปริมาณกากใยมาก
  • บริโภคอาหารจำพวกผักได้มากโดยไม่จำกัด   
  • ลดสัดส่วนของอาหารที่จะรับประทาน  
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง          
  • รูปแบบควบคุมอาหารมีหลากหลายและได้ผลไม่แตกต่างกัน จะเลือกใช้วิธีการใดแล้วแต่อุปนิสัยและความเหมาะสมของแต่ละคน โดยสิ่งที่ต้องทำ คือ ลดอาหารที่รับประทานลงจากพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน 500 กิโลแคลอรี่ และลดพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้รับประทานอาหารมากขึ้น   

3) การใช้ยาลดน้ำหนัก เมื่อดัชนีน้ำหนักตัวมากกว่า 30 หรือมากกว่า 27 ถ้ามีโรคที่กระทบจากความอ้วน

4) การรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหาร (Bariatric Surgery) เฉพาะผู้ป่วยที่มีความอ้วนขั้นรุนแรง BMI >40 kg/m2 หรือ BMI >35 kg/m2 ร่วมกับมีผลกระทบต่อสุขภาพที่มาจากโรคอ้วน มีหลายวิธี ได้แก่

  • Malabsorbtive Procedure ได้แก่ Jejunoileal Bypass, Biliopancretic Diversion และ Duodenal Switch ได้ผลในการลดน้ำหนักดีมาก แต่มีโรคแทรกซ้อนมาก 
  • Restrictive Procedure เช่น Gastric Banding, Vertical Banded Gastroplasty ลดความจุของกระเพาะอาหาร

 

การตระหนักรู้และดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคอ้วนคือสิ่งสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ตัวเลขบนตราชั่ง แต่คือการมีสุขภาพดีในระยะยาว เนื่องในสัปดาห์วันอ้วนโลก (World Obesity Day) อย่าลืมใส่ใจตัวคุณและคนใกล้ชิดไม่ให้อ้วนลงพุงจนโรครุมเร้าไม่รู้จบ

 

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกลดน้ำหนักและรักษาโรคอ้วน

ชั้น 2 อาคาร โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด