ไขมันเกาะตับเป็นโรคตับที่พบบ่อยในชาวเอเชียและคนไทย นอกจากไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และโรคตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอลล์ ปัจจุบันยังพบภาวะไขมันสะสมในตับหรือไขมันเกาะตับในผู้ป่วยชาวไทยเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีเครื่องวัดความยืดหยุ่นของตับ Fibroscan with CAP (Controlled Attenuation Parameter) ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากอุบัติการณ์ที่พบทำให้โรคไขมันสะสมในตับกลายเป็นโรคยอดฮิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากตรวจพบครั้งแรกในอเมริกา จากคนอ้วนกลุ่มหนึ่งที่มีค่าตับที่สูงขึ้น และเมื่อตรวจอย่างละเอียดในคนไข้กลุ่มนี้ ทำให้พบว่ามีไขมันเกาะอยู่เต็มเนื้อตับ ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มคนเอเชียที่มีรูปร่างเล็ก ผอมบาง แต่มีภาวะอ้วนลงพุงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต กินดีอยู่ดี ไม่ชอบออกกำลังกาย ภาวะไขมันเกาะตับมีความเชื่อมโยงกับโรคเบาหวาน ความดันสูง คอเลสเตอรอลสูง น้ำหนัก และรอบเอวเกิน หรือรวมเรียกว่า โรคเมตาบอลิกซินโดรมอย่างเห็นได้ชัด
รู้จักภาวะไขมันสะสมในตับ
ภาวะไขมันสะสมในตับ คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันภายในเซลล์ตับในรูปของไตรกลีเซอไรด์ ในผู้ป่วยบางรายอาจพบการอักเสบของตับร่วมด้วย ซึ่งการปล่อยให้ตับอักเสบเรื้อรังอาจนำไปสู่การเกิดพังผืดในตับหรือภาวะตับแข็งได้ในที่สุด ไขมันเกาะตับอาจดูไม่รุนแรง แต่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะคนอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่ก็ใช่ว่าคนที่มีรูปร่างผอมบางจะไม่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะคนอ้วนซ่อนรูป ซึ่ง 1 ใน 4 กลุ่มนี้พบภาวะไขมันสะสมในตับ
ปัจจัยสำคัญตัวการภาวะไขมันสะสมในตับ
ปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะไขมันสะสมในตับ คือ อาการดื้อต่ออินซูลินร่วมกับกลไกอื่นที่มากระตุ้น เช่น การอักเสบและการตายของเซลล์ตับ ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน ในขณะที่บางรายที่เป็นมานานจะเริ่มมีอาการจุกแน่นบริเวณชายโครงด้านขวาหรือมีอาการเริ่มต้นของภาวะตับแข็ง เช่น อ่อนเพลีย ท้องโต ปรากฏให้เห็น ในอดีตคนไข้ที่พบภาวะเสี่ยงตับแข็งหรือไขมันเกาะตับในระยะเริ่มต้นแพทย์จะทำการเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจหาความผิดปกติและให้ยารักษา ในขณะที่ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้พัฒนาเครื่องวัดความยืดหยุ่นของตับ Fibroscan with CAP (Controlled Attenuation Parameter) ที่ให้ผลวิเคราะห์ที่ชัดเจนด้วยเทคนิคอัลตราซาวนด์แทนการเจาะชิ้นเนื้อ เพื่อลดอาการเจ็บปวด และผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาพักรักษา
ตรวจวินิจฉัยภาวะไขมันสะสมในตับ
Fibroscan with CAP (Controlled Attenuation Parameter) เทคโนโลยีใหม่ในการตรวจวินิจฉัยเพื่อดูสภาพการเกิดพังผืดในเนื้อตับ โดยโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้วินิจฉัยผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง นอกจากสามารถตรวจประเมินสภาวะพังผืดในเนื้อตับในผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งระยะแรก ๆ รวมถึงติดตามผลแล้ว ยังช่วยประเมินระดับความรุนแรงเพื่อวางแผนการรักษาและวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งแทนการเจาะเนื้อตับ อีกทั้งยังสามารถประเมินและแสดงปริมาณไขมันสะสมในตับสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ (Fatty liver) ได้พร้อมกันภายในครั้งเดียวอย่างรวดเร็วและชัดเจน
“เครื่อง Fibroscan with CAP สามารถบอกได้ถึงปริมาณไขมันที่สะสมในตับและตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและยืนยันผลการรักษาโดยคนไข้ที่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยชะลออาการและป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบ และตับแข็งในอนาคต”
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ
ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องตรวจตับเป็นพิเศษคือ คนที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังหรือมีค่าการทำงานของตับที่ผิดปกติเกินกว่า 6 เดือน มีภาวะบ่งบอกว่าเป็นตับแข็งระยะต้น เช่น ผลเลือดมีเกล็ดเลือดต่ำ ค่าตับสูงเล็กน้อยม้ามโตเล็กน้อย เครื่องนี้จะบอกได้ว่าตับแข็งหรือไม่
ภาวะไขมันเกาะตับมีความรุนแรงและแตกต่างจากโรคตับที่เกิดจากไวรัส เนื่องจากไม่มียารักษา นอกจากการออกกำลังกาย เปลี่ยนนิสัยการกินอยู่ ลดอาหารประเภทแป้งและไขมัน ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะชะล่าใจคิดว่าตัวเองยังแข็งแรง สุขภาพดี รอจนกระทั่งเกิดการอักเสบเมื่อมาพบแพทย์ก็สายไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มียารักษาพังผืดในตับ แต่แพทย์และนักวิจัยทั่วโลกได้พยายามเดินหน้าวิจัยและพัฒนายารักษาเพื่อป้องกันไม่ให้พังพืดที่เกิดในระยะเริ่มต้นกลายเป็นสาเหตุทำให้ตับแข็งตามมาในภายหลัง