ตัวเหลือง ตาเหลือง ภัยร้ายมากกว่าที่คิด

4 นาทีในการอ่าน
ตัวเหลือง ตาเหลือง ภัยร้ายมากกว่าที่คิด

เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติไม่ว่าจะในอวัยวะส่วนใดก็ไม่ควรนิ่งเฉยหรือคิดไปเองว่าไม่น่าจะเป็นอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้สึกหรือมีคนทักว่า ตัวเหลือง ตาเหลือง ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยหนึ่งของร่างกายที่ต้องระวัง เพราะนี่ไม่ใช่ภาวะปกติของร่างกาย อาจเป็นภัยร้ายที่คุณคาดไม่ถึง

 

รู้จักภาวะเหลือง

ภาวะเหลือง เกิดจากสารหนึ่งในร่างกายที่ชื่อว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งอยู่ในกระแสเลือดมากกว่า 2 – 3 mg/dL. สามารถแบ่งออกเป็นภาวะเหลืองปกติ (Physiologic Jaundice) ในเด็ก และภาวะเหลืองผิดปกติ เนื่องจากมีพยาธิสภาพ (Pathologic Jaundice) โดยภาวะตัวเหลืองจากการอุดตันท่อทางเดินน้ำดีอยู่ในข่ายของภาวะเหลืองผิดปกติเนื่องจากมีพยาธิสภาพ


ตรวจวินิจฉัยภาวะเหลือง

หากคนไข้มีภาวะเหลือง เมื่อมาถึงแพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้และตรวจร่างกายว่ามีภาวะเหลืองมากขึ้นหรือไม่ เหลืองมานานแค่ไหน เคยเป็นมาก่อนหรือไม่ ปัสสาวะสีเข้มขึ้นไหม อุจจาระสีซีดหรือเปล่า นี่เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะถ้าอุจจาระสีซีดแสดงว่าน้ำดีไม่ลงมาที่ลำไส้ น้ำดีไม่ขับออก สีอุจจาระจึงซีด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน แต่ไม่ใช่ว่าจะเจอในคนไข้ทุกราย เพราะในระยะแรกยังคงมีน้ำดีหลงเหลือค้างอยู่ ทำให้สีของอุจจาระอาจยังไม่ซีดทีเดียว นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ ประวัติการทานยา การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ประวัติการเข้าป่าหรือเดินทางต่างประเทศ ประวัติคนในครอบครัวที่เป็นโรคเลือดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมถึงโรคประจำตัวต่าง ๆ เพื่อแยกสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเหลือง


ภาวะเหลืองกับท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน 

ภาวะเหลือง เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ที่คุ้นเคยกันคงจะเป็นเหตุจากโรคดีซ่าน หรือภาวะโรคที่เกี่ยวกับตับ แต่รู้หรือไม่ว่าภาวะตัวเหลืองเกิดได้จากอีกหนึ่งปัจจัยที่เรียกว่า ท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน (Obstructive Jaundice) เริ่มต้นกันตั้งแต่เมื่อเกิดภาวะเหลือง สิ่งที่คนทั่วไปจะสังเกตเห็นได้ชัดคือ ตา โดยเมื่อเกิดภาวะเหลืองแล้วจะเห็นชัดที่สุดที่บริเวณตาขาว ถ้าสังเกตจากสีผิว บางคนผิวคล้ำ บางคนผิวเหลืองจนทำให้มองภาวะตัวเหลืองได้ไม่ชัด แต่หากไม่มีสิ่งที่บ่งชัดออกมาให้เห็นแล้ว คนไข้ส่วนใหญ่กว่าจะทราบว่าเกิดภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตันก็ต่อเมื่อมาตรวจร่างกายประจำปี แล้วผลตรวจออกมาว่าค่าการทำงานของตับมีความผิดปกติ และอาจคิดว่ามีความผิดปกติที่ตับแต่เพียงอย่างเดียว


ตัวการท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน

สาเหตุท่อทางเดินน้ำดีอุดตันที่พบได้บ่อยที่สุด คือ นิ่วในถุงน้ำดีที่ไหลตกลงมาตามท่อทางเดินน้ำดีแล้วเกิดอุดตัน ซึ่งการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดีจะขึ้นอยู่กับระดับของท่อทางเดินน้ำดีที่ขยายตัว อาทิ หากท่อทางเดินน้ำดีขยายตัวด้านบนอาจนึกถึงโรคของก้อนในตับ เนื้องอกในท่อทางเดินน้ำดี หากมีนิ่วในถุงน้ำดีหรือเนื้องอกของถุงน้ำดีอาจไปกดเบียดท่อทางเดินน้ำดีได้ หรือกรณีที่เกิดการอุดตันที่ท่อทางเดินน้ำดีส่วนปลายอาจเกิดได้จากเนื้องอกที่อยู่บริเวณดังกล่าว คือ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งรูเปิดน้ำดี และมะเร็งลำไส้เล็กส่วนต้น 


ภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตันอย่านิ่งนอนใจ 

ผู้ป่วยบางรายสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่เกิดปัญหา แต่ส่วนใหญ่เมื่อถึงจุดที่ค่าน้ำดีหรือค่า Bilirubin สูงขึ้น จนเมื่อท่อทางเดินน้ำดีอุดตันแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อในท่อทางเดินน้ำดีได้ ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี น้ำดีไม่ลงไปย่อยอาหาร มีอาการปวดท้องมาก มีไข้สูงเฉียบพลัน อาการเป็น ๆ หาย ๆ หากไม่ได้พบแพทย์เพื่อรักษา ที่สุดอาจนำไปสู่การติดเชื้อในทางเดินน้ำดี มีภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว และอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุจะมีความรุนแรงของโรคมาก 

ในทางกลับกันสำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุของทางเดินน้ำดีอุดตันจากก้อนเนื้อหรือมะเร็ง กลุ่มนี้จะมีอาการรับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดผิดปกติ ไม่ค่อยมีอาการปวดท้อง ร่วมกับภาวะเหลือง ในช่วงท้ายอาจมีอาการมากขึ้นจนทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานแย่ลง 

สิ่งที่น่ากังวลคือ ท่อทางเดินน้ำดีอักเสบ เมื่อท่อทางเดินน้ำดีอุดตันอาจมีการติดเชื้อ และนำไปสู่ภาวะท่อทางเดินน้ำดีอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรียบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นใกล้รูเปิดของท่อทางเดินน้ำดี คนไข้จะมาด้วยอาการ มีไข้ ตาเหลือง ตัวเหลือง ปวดท้อง ภาวะนี้ค่อนข้างอันตราย บางรายอาจเสียชีวิตถ้ามารักษาไม่ทัน

ตัวเหลือง, ตาเหลือง, ท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน, นิ่วในถุงน้ำดี, ถุงน้ำดี, ทางเดินน้ำดี


ภาวะเหลืองจากนิ่วในถุงน้ำดี

สำหรับคนที่เคยเป็นนิ่วในถุงน้ำดีหรือเคยตรวจร่างกายแล้วเจอนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อใดก็ตามที่มีภาวะเหลือง ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาร่วมด้วย อาจนึกถึงสาเหตุของภาวะเหลืองจากนิ่วในถุงน้ำดีที่ตกลงมาอุดตันที่บริเวณท่อทางเดินน้ำดี ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าภาวะเหลืองสัมพันธ์กับนิ่วหรือไม่ โดยการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์เพื่อวินิจฉัยในรายที่พบก้อนนิ่วไปอุดตันท่อทางเดินน้ำดี แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีการส่องกล้องตรวจและคล้องเอานิ่วออก ที่เรียกว่า Endoscopic Retrograde Cholangio – Pancreatography (ERCP) ทั้งนี้อุบัติการณ์การเกิดภาวะเหลืองจากทางเดินน้ำดีตีบตันโดยรวมพบว่า นิ่วในถุงน้ำดียังคงเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งนิ่วสามารถตกลงมาในท่อทางเดินน้ำดีได้ใหม่สูงถึง 10 – 20% 


ภาวะเหลืองรีบพบแพทย์ 

เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเหลืองมีมากมาย หากคนไข้สังเกตเห็นอาการแต่เนิ่น ๆ ควรพบแพทย์เป็นดีที่สุด เพราะหากภาวะเหลืองจากทางเดินน้ำดีอุดตันที่เกิดจากก้อนเนื้อหรือมะเร็งหากถูกปล่อยไว้ 1 หรือ 2 เดือน การรักษาจะทำได้ยากขึ้น วิธีการรักษาอาจเปลี่ยนไป จากรักษาหายขาดอาจทำได้แค่รักษาแบบประคับประคอง จากรักษาด้วยการผ่าตัดได้ กลายเป็นผ่าตัดไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อมีภาวะเหลืองแล้วควรมาพบแพทย์ เพราะไม่ใช่ภาวะปกติ ยิ่งเหลืองมากยิ่งไม่ดี เพราะอาจส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ บางครั้งการอ่านข้อมูลทั่วไปอาจทำให้เกิดความผิดพลาดและได้รับการรักษาที่ล่าช้า ถ้าสังเกตว่าตัวเหลือง ตาเหลืองเมื่อไรแล้ว ควรจะรีบมาพบแพทย์ อย่างน้อยเพื่อให้รู้ว่าเป็นภาวะอะไร หากเป็นภาวะที่รุนแรงจะได้รับการรักษาแก้ไขอย่างรวดเร็ว

 

ท่อทางเดินน้ำดีอุดตันเกิดได้ทุกเพศทุกวัย เมื่อเกิดภาวะตัวเหลือง ตาเหลืองอย่านิ่งนอนใจ ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อค้นหาแยกสาเหตุของโรค เพื่อประโยชน์ในการรักษาได้ทันท่วงที

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด