แพ้อาหารเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ ตั้งแต่เป็นผื่นตามตัว ท้องเสีย หายใจลำบาก ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นการทดสอบการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge Test) อย่างถูกวิธีกับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันอาการแพ้อาหาร หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่แพ้ได้อย่างถูกต้อง
รู้จักการทดสอบแพ้อาหาร
การทดสอบการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge Test) คือ การให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่สงสัยว่าทำให้เกิดอาการแพ้ โดยให้ผู้ป่วยลองรับประทานอาหารที่สงสัยเริ่มจากปริมาณน้อย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ เพื่อดูปฏิกิริยาการแพ้ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรคที่น่าเชื่อถือมากที่สุด แต่ผู้ป่วยอาจจะเกิดปฏิกิริยาการแพ้รุนแรงได้ระหว่างที่ทำการทดสอบจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้และต้องทำการทดสอบในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์ ยา และเครื่องมือในการรักษาแบบครบครัน
อาหารชวนแพ้
อาหารที่มักเป็นสาเหตุการแพ้อาหาร ได้แก่
- ไข่
- ปลา
- นม
- ถั่วเหลือง
- ถั่วลิสง
- แป้งสาลีและกลูเต็น
- สัตว์น้ำเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอย หมึก ฯลฯ
- ถั่วตระกูล Tree Nuts เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ ฯลฯ
- ผักและผลไม้ อาจเกิดอาการแพ้ที่ริมฝีปากและในลำคอ
อาการแพ้อาหาร
ปฏิกิริยาอาการแพ้อาหาร (Food Allergy) แบ่งออกเป็น
- ชนิดไม่เฉียบพลัน (Non – IgE – Mediated Food Allergy) เป็นกลุ่มที่มีอาการแบบล่าช้า ค่อย ๆ ปรากฏอาการหลายชั่วโมงหรือเป็นวันหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว เช่น ผื่นเรื้อรัง โดยจะมีผื่นแดง คัน แห้ง ในเด็กมักจะเป็นบริเวณที่แก้มหรือข้อพับ ถ้าเป็นอาการที่ระบบทางเดินอาหาร เมื่อได้รับอาหารที่แพ้อาจถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน และถ่ายเหลวรุนแรง
- ชนิดเฉียบพลัน (IgE – Mediated Food Allergy) มีอาการตาบวม ปากบวม ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดท้อง อาเจียน โดยอาการจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้รุนแรงได้
- ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ คัน ผิวหนังแดงหรือซีด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย
วิธีทดสอบการแพ้อาหาร
วิธีทดสอบอาการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge) เบื้องต้น ได้แก่
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Tests) ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการเจ็บป่วยอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ และงดรับประทานยาแก้แพ้ 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 15 – 20 นาที (ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงจะสามารถทดสอบได้หลังจากมีอาการ 1 เดือน)
- การตรวจเลือด (Blood Test For Specific IgE) ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 3 – 5 วันทำการ โดยมีทั้งผลเป็นบวกและลบ
- ผลเป็นบวก แพทย์อาจให้งดหรืออาจให้ทำทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร (Oral Food Challenge) ตามความเหมาะสม (ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้อยู่ก่อนแล้วและต้องการรู้ว่าหายแพ้แล้วหรือไม่) และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
- ผลเป็นลบ อาจพิจารณาทำการทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร (Oral Food Challenge)
ผู้ที่เหมาะกับการทดสอบแพ้อาหาร
- ผู้ที่เคยทานอาหารได้ แต่ต่อมาถูกวินิจฉัยว่าแพ้อาหารและต้องการพิสูจน์ว่าแพ้หรือไม่
- ผู้ที่เคยตรวจจากผลเลือดว่าแพ้อาหาร แต่ไม่มีอาการ
- ผู้ที่เคยมีประวัติยืนยันว่าแพ้อาหาร แต่ต้องการรู้ว่าหายแล้วหรือยัง
- ผู้ที่สงสัยว่าตนเองแพ้อาหาร แต่มีอาการแสดงไม่ชัดเจน
การแพ้อาหารอาจเกิดจากพันธุกรรมแต่กำเนิดหรือเพิ่งเกิดขึ้นตอนโตก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นการทดสอบการแพ้อาหารกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้มั่นใจก่อนเลือกรับประทานอาหารเข้าไปในร่างกายจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้รุนแรง ไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้ เพราะอาจทำให้ร่างกายแพ้รุนแรงกว่าเดิมได้ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุด