ฝุ่น PM 2.5 (Particulate Matters) ฝุ่นพิษขนาดจิ๋วที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นและยากที่จะหลีกเลี่ยง เมื่อสูดเข้าไปแล้วนอกจากลงลึกถึงปอด ทางเดินหายใจ และกระแสเลือด ยังส่งผลให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรัง ทำร้ายสุขภาพได้มากกว่าที่คิด
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร
ฝุ่น PM 2.5 หรือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม ทำให้ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ยิ่งมีปริมาณมากยิ่งเหมือนหมอกหรือควันมาปกคลุม ที่น่ากังวลคือฝุ่น PM 2.5 ลอดผ่านทุกการป้องกันของร่างกาย ทั้งผิวหนัง ขนจมูก เยื่อหลอดลม เซลล์ในถุงลมปอด กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย
ค่าฝุ่น PM 2.5 ระดับไหนที่อันตราย
ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจะใช้ค่าฝุ่น PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศ โดยเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่
ค่าฝุ่น PM 2.5 (ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร) |
ระดับ |
ลักษณะสภาพอากาศ / ผลกระทบต่อสุขภาพ |
0 – 25 |
ดีมาก |
สภาพอากาศดีมาก ทำกิจกรรมได้ปกติ |
26 – 37 |
ดี |
สภาพอากาศดี กลุ่มเสี่ยงต้องระวังทำกิจกรรม |
38 – 50 |
ปานกลาง |
สภาพอากาศปานกลาง เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง |
51 – 90 |
แย่ |
สภาพอากาศแย่ ไม่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เริ่มกระทบต่อสุขภาพ |
91 ขึ้นไป |
แย่มาก |
สภาพอากาศแย่มาก งดกิจกรรมกลางแจ้ง กระทบต่อสุขภาพ |
ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร
- ระบบทางเดินหายใจ ฝุ่น PM 2.5 เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบระบบทางเดินหายใจส่วนบนและระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ ส่งผลให้แพ้สารก่อภูมิแพ้เดิมไวขึ้นและแพ้สารก่อภูมิแพ้ใหม่เพิ่มขึ้น มีทั้งการอักเสบแบบเฉียบพลันและการอักเสบแบบเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียด สำหรับผู้ที่โพรงจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ หอบหืดจากภูมิแพ้ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเรื้อรังจากภูมิแพ้ สามารถฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เพื่อให้อาการแพ้ลดลงและมีโอกาสหายแพ้ในระยะยาว
- ปอด ฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าไปลึกถึงชั้นในสุดของปอด เมื่อได้รับฝุ่น PM 2.5 สะสมเป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นโรคปอดเรื้อรังและมะเร็งปอดได้ ซึ่งมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) มีความสัมพันธ์กับฝุ่น PM 2.5 โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย และผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำหากสูดฝุ่น PM 2.5 จะเสี่ยงมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจึงควรเลิกสูบบุหรี่โดยเร็วที่สุด หรือหลายคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่ตรวจคัดกรองแล้วพบว่าเป็นมะเร็งปอด ส่วนหนึ่งเกิดจากมลพิษทางอากาศได้เช่นกัน ซึ่งคนไทยได้รับมลพิษ PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
นอกจากนี้สามารถตรวจประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งด้วยชุดตรวจหาสารพันธุกรรม เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งที่อาจได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ได้ทั้งในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคมะเร็ง และผู้ที่ต้องการตรวจประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็ง - สมอง ฝุ่น PM 2.5 สามารถซึมผ่านเส้นเลือด เส้นประสาทในโพรงจมูก และเข้าไปยังสมองโดยตรง ทำให้เกิดการอักเสบในสมอง เซลล์สมองบาดเจ็บ ส่งผลให้เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม เร็วขึ้น ในผู้ใหญ่เสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้น รวมถึงในผู้ที่เป็นไมเกรนอาจทำให้ปวดหัวรุนแรงจนต้องพบแพทย์ทันที
- หัวใจ ฝุ่น PM 2.5 ถ้าร่างกายได้รับปริมาณมากสามารถทำให้เกิดการอักเสบระดับเซลล์และส่งผลต่อเยื่อบุหลอดเลือด กระตุ้นให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดในอนาคตได้ หากมีความเสี่ยงโรคหัวใจควรสังเกตตัวเองและพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพหัวใจ
- ผิวหนัง ฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ผิวหนังผ่านรูเปิดของขนหรือผมจึงมีผลกระทบต่อผิวหนังโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ผิวหนังทำงานผิดปกติ กระตุ้นกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง มีผื่นคัน ยิ่งถ้าผิวหนังไม่ปกติ เป็นโรคภูมิแพ้หรือผื่นผิวหนังอักเสบจะยิ่งระคายเคืองและกำเริบมากขึ้น หากสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานานยิ่งเสี่ยงต่อผิวเสื่อมก่อนวัย
- ดวงตา เมื่อฝุ่น PM 2.5 จับกับเปลือกตา เยื่อบุตา หรือกระจกตาจะกระตุ้นการอักเสบเพิ่มขึ้น ทำลายชั้นฟิล์มน้ำตาและเยื่อบุพื้นผิวตา ก่อให้เกิดอาการและโรคตาต่าง ๆ อาทิ ตาแห้ง แสบตา รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายในตา, ตาแดง เยื่อบุตาขาวอักเสบ เคืองตามาก น้ำตาไหล, เปลือกตาอักเสบ ต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน, กระจกตาอักเสบ ผิวกระจกตาอ่อนแอ เป็นแผลถลอกได้ง่าย ปวดตา ตามัวลง เป็นต้น
อาการที่อาจเกิดจากฝุ่น PM 2.5
- หายใจติดขัด ระคายเคืองโพรงจมูก
- ไอ น้ำมูก จาม
- หอบเหนื่อย
- คัน ผื่นแดงตามผิวหนัง
- แสบตา ระคายเคืองตา
- ตาแดง คันตา น้ำตาไหล
กลุ่มเสี่ยงต้องระวังฝุ่น PM 2.5
- เด็ก เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ใหญ่ ฝุ่น PM 2.5 จึงเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่าย ยิ่งเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปียิ่งอันตราย นอกจากทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบตา แสบจมูก ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง เสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจ ที่น่าเป็นห่วงคือ ฝุ่น PM 2.5 เข้าไปทำให้เซลล์สมองเสียหาย นำไปสู่พัฒนาการช้า สมาธิสั้น และไอคิวต่ำ
- หญิงตั้งครรภ์ ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวอย่างภูมิแพ้และหอบหืด โอกาสที่โรคกำเริบสูงมาก ทั้งยังเสี่ยงแท้งบุตร นอกจากนี้ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้ทารกในครรภ์โตช้า เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด มีความพิการแรกคลอด เมื่อคลอดออกมาแล้วเสี่ยงน้ำหนักตัวน้อยและเจ็บป่วยบ่อย
- ผู้สูงอายุ ร่างกายเกิดความเสื่อม มักป่วยง่ายและมีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากสูดหายใจฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมากส่งผลให้เกิดการสะสมตามหลอดเลือด เสี่ยงต่อหลอดเลือดตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต หากสะสมในปอดเสี่ยงต่อถุงลมโป่งพอง หอบหืด มะเร็งปอด ยิ่งถ้าเข้าไปสะสมในสมองจะส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมก่อนเวลาอันควร
- ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจ โรคสมอง หากได้รับฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานานและปริมาณมากย่อมทำให้โรคกำเริบและอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ จึงควรใส่ใจดูแลและสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอและพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
นอกจากนี้ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งและผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งควรเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 ในวันที่ค่าพุ่งสูงเกินมาตรฐาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมปอด ซึมผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลให้ออกซิเจนในร่างกายลดลง ปอดและหัวใจทำงานหนัก ควรอยู่ในบ้านหรือสถานที่ร่มแทน และหากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์โดยเร็ว
วิธีรับมือกับฝุ่น PM 2.5
- สวมหน้ากาก N95 เมื่ออยู่กลางแจ้ง เพราะช่วยกรองฝุ่น PM 2.5 และอนุภาคขนาดเล็กได้มากถึง 95% ยิ่งในช่วงที่มีค่า PM2.5 สูงหรือสถานที่ที่มลพิษสูง หน้ากาก N95 ช่วยป้องกันได้ดีที่สุด ควรเลือกหน้ากากให้แนบสนิทกับใบหน้า ครอบคลุมทั้งจมูกและปาก มีสายรัดกระชับเพื่อไม่ให้ฝุ่นเล็ดลอดเข้ามา ที่สำคัญเปลี่ยนหน้ากากเสมอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน
- เลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน ในวันที่ฝุ่น PM 2.5 ค่าสูงจนเป็นอันตราย ไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยไม่จำเป็น ปิดหน้าต่างให้มิดชิด ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากาก N95 และเลี่ยงการอยู่บริเวณริมถนนที่มีการก่อสร้างเพราะมลพิษสูง
- ลดหรืองดออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 สูง หากต้องการออกกำลังกายควรเปลี่ยนจากวิ่งเป็นเดินช้า ๆ แทนเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและปอด
- เดินทางด้วยยานพาหนะที่ลดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ได้แก่ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รถตู้ เรือโดยสารประจำทาง รถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้เชื้อเพลิง CNG (Compressed Natural Gas) ก๊าซธรรมชาติอัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้แนะนำให้ใช้รถโดยสารสาธารณะมากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อลดการปล่อย PM 2.5
- เช็กค่าฝุ่น PM 2.5 ผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ทุกวันก่อนออกจากบ้านเพื่อจะได้ดูแลตนเองอย่างเหมาะสม อาทิ AirVisual, Air4Thai, AQICN (Air Quality Index), Air Matters, Airveda เป็นต้น
ท่ามกลางการใช้ชีวิตบนโลกที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 การดูแลตนเองและหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักอยู่เสมอ หากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจติดขัด ควรรีบพบแพทย์ทันที
โรงพยาบาลที่พร้อมดูแลรักษาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5
คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษาผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 โดยแพทย์เฉพาะทางพร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงใช้ชีวิตอย่างมั่นใจในทุกวัน
แพทย์ที่ชำนาญด้านการรักษาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5
นพ.ชยพล ชีถนอม อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง