Radio Frequency Coagulation (RF) รักษาริดสีดวง...แบบเจ็บน้อย

3 นาทีในการอ่าน
Radio Frequency Coagulation (RF) รักษาริดสีดวง...แบบเจ็บน้อย

เมื่อพูดถึงริดสีดวงสำหรับหลายคนอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะคนที่มีอาการท้องผูกหรือท้องเสียบ่อย ๆ มักจะมีปัญหาเรื่องของริดสีดวงตามมาอยู่บ่อย ๆ เช่นเดียวกัน

 

รู้จักริดสีดวงทวารหนัก

ริดสีดวงทวารหนัก คือ กลุ่มหลอดเลือดบริเวณทวารหนักที่โป่งพอง ซึ่งจัดเป็นอวัยวะของร่างกายมนุษย์ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 

  1. ริดสีดวงทวารหนักภายใน (Internal Hemorrhoid)
  2. ริดสีดวงทวารหนักภายนอก (External Hemorrhoid

โดยทั่วไปริดสีดวงทวารหนักมีหน้าที่ช่วยในการกลั้นอุจจาระและช่วยรับความรู้สึกบริเวณทวารหนัก ริดสีดวงทวารหนักเองอาจเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพอันไม่พึงประสงค์ได้ ทั้งนี้หากมีแรงดันเพิ่มขึ้นบริเวณทวารหนัก ที่อาจเกิดจากภาวะท้องผูก ท้องเสีย นั่งห้องน้ำนาน ยกของหนัก หรือการตั้งครรภ์

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ริดสีดวง คือ โรค แต่จริง ๆ แล้ว ริดสีดวง ไม่ใช่โรค แต่เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย มีหน้าที่ในการช่วยกลั้นอุจจาระและรับประสาทสัมผัสที่ทวารหนัก ถ้าไม่มีริดสีดวง เวลาที่เกิดอาการท้องเสีย จะทำให้กลั้นอุจจาระได้ไม่ดี


อาการริดสีดวงทวารหนัก

อาการผิดปกติที่เกิดจากริดสีดวงทวารหนักอาจพบได้ตั้งแต่

  • รู้สึกไม่สุขสบายบริเวณทวารหนัก 
  • คลำได้ก้อน 
  • ปวด 
  • คัน 
  • อาจมีเลือดสดติดกระดาษชำระขณะเช็ดทำความสะอาด 
  • พบเลือดในโถส้วมหรือมีเลือดเคลือบอุจจาระ 

รักษาริดสีดวงทวารหนัก

การรักษาริดสีดวงขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค หลัก ๆ มีอยู่ 2 วิธี คือ  

1) รักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด ทำได้หลายวิธี เช่น  

  • แช่ทวารหนักด้วยน้ำสะอาด 
  • ทาครีมหรือเหน็บยา 
  • การใช้ยางรัด 
  • การเย็บเก็บเข้าที่ 
  • การฉีดยาหรือรักษาโดยใช้พลังงานความร้อน อย่างเช่น เลเซอร์ เพื่อทำให้ริดสีดวงฝ่อหรือเล็กลงไป

2) รักษาด้วยการผ่าตัด

ปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาริดสีดวงพัฒนาไปมาก มีการนำเทคนิค Radio Frequency Coagulation ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการแพทย์ เช่น นำมาใช้เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักในกลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระ ในขณะที่รังสีแพทย์อาจใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อรักษาคนไข้ที่เป็นมะเร็งในตับมาประยุกต์ใช้ในการรักษาริดสีดวง โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ร่วมกับคลื่นความถี่สูงที่เรียกว่า Radio Frequency หรือ RF จี้ไปที่ก้อนริดสีดวง เพื่อทำให้ก้อนฝ่อลง การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ใช่เลเซอร์แต่ทันสมัยกว่าเลเซอร์ การรักษาได้ผลดี คนไข้เจ็บน้อยมากหรือแทบไม่เจ็บเลย ภายหลังการรักษา สามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือที่เรียกว่า Day Surgery


Radio Frequency Coagulation (RF) รักษาริดสีดวง...แบบเจ็บน้อย

ระวังมะเร็งลำไส้ตรง

นอกจากริดสีดวงแล้ว อีกโรคที่ต้องระวังและมีอาการเบื้องต้นคล้าย ๆ กับ ริดสีดวง ก็คือ โรคมะเร็งลำไส้ตรง หรือ  Rectal Cancer ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระมีเลือดปนคล้ายกับอาการของริดสีดวงมาก หากเป็นมากอาจมีก้อนอุจจาระขนาดเล็กลง ท้องผูก รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด อาจมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย ปวดท้องน้อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจพบได้สำหรับโรคมะเร็งชนิดนี้ อาทิ ความเสี่ยงทางพันธุกรรม อายุมากกว่า 45 ปี หรือมากกว่า 50 ปี โรคอ้วน ชอบรับประทานอาหารมัน เนื้อแดง หรือผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ

การวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมีความสำคัญมากในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น  ถ้าสังเกตเห็นว่ามีเลือดออกปนมากับอุจจาระ ถ่ายเป็นเลือด ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและทวารหนัก เมื่อพบก้อนเนื้อผิดปกติจะส่งพิสูจน์โดยการตัดชิ้นเนื้อ หากยืนยันว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะประเมินระยะของโรคด้วยภาพถ่ายรังสีและวางแผนการรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทางสหสาขา ทั้งศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา อายุรแพทย์มะเร็ง และพยาธิแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ตรงด้วยการฉายรังสีร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเหมาะสมก่อนการผ่าตัดรักษาจะช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็งและเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ตรง ด้วยเทคนิคผ่าตัดแผลเล็กและสามารถเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ที่เรียกว่า Sphincter Saving Surgery ได้

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การมาพบแพทย์และเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสม จะช่วยให้สามารถแยกแยะได้ระหว่างอาการของริดสีดวงทวารหนัก (Hemorrhoid) และมะเร็งลำไส้ตรง (Rectal Cancer) เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

ข้อมูลโดย

Doctor Image
ศ.(พิเศษ) ดร. นพ. อัฑฒ์ หิรัณยากาศ

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ศ.(พิเศษ) ดร. นพ. อัฑฒ์ หิรัณยากาศ

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 1 อาคาร D ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด