ภาวะข้อไหล่หลุด

3 นาทีในการอ่าน
ภาวะข้อไหล่หลุด

ข้อไหล่เป็นข้อที่มีโอกาสหลุดสูงที่สุดในร่างกาย ในสหรัฐอเมริกามีอุบัติการณ์การเกิดภาวะข้อไหล่หลุด 23.9 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี  โดยมีสาเหตุจากการล้มร้อยละ 58.8 เกิดภายในบริเวณที่พักอาศัยหรือพื้นที่เล่นกีฬาสันทนาการร้อยละ 47.7 ภาวะข้อไหล่หลุดเคลื่อนมาทางด้านหน้า (Anterior Shoulder Dislocations) พบได้บ่อยถึงร้อยละ 90 ของภาวะข้อไหล่หลุดทั้งหมด มีสาเหตุหลักคืออุบัติเหตุ กลไกการเกิดคือ การตกจากที่สูงหรือมีแรงกระทำอย่างรุนแรงต่อหัวไหล่ขณะอยู่ในท่ากางไหล่และหมุนไหล่ออก (Abducted & Externally Rotated) อัตราการเกิดข้อไหล่หลุดซ้ำหลังการหลุดครั้งแรกพบว่าสูงมากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อยลงและมากกว่าร้อยละ 90 – 95 ในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 19 ปี

อาการข้อไหล่หลุด

ภาวะข้อไหล่หลุด คือ ภาวะที่หัวกระดูกข้อไหล่หลุดออกจากเบ้าไหล่ ซึ่งอาจจะหลุดออกทางด้านหน้า ด้านหลัง หรือหลายทิศทาง ผู้ป่วยที่ข้อไหล่หลุดจะมีอาการปวดมาก หัวไหล่ผิดรูป ขยับแขนไม่ได้  ในบางรายอาจมีอาการชาแขนจากการบาดเจ็บของเส้นประสาท คนไข้จะขยับแขนเคลื่อนไหวไม่ได้หรือลำบาก แขนจะอยู่ในท่าที่ผิดปกติ ร่วมกับอาการปวดที่รุนแรง ไม่สามารถใช้งานแขนด้านนั้ได้  และอาจเป็นอันตรายอย่างมากได้ ถ้าเกิดการหลุดขึ้นในขณะดำเนินกิจกรรมที่ต้องทำต่อเนื่อง เช่น ขับขี่ยานพาหนะหรือควบคุมเครื่องจักรกล เป็นต้น


สาเหตุข้อไหล่หลุด

สาเหตุของภาวะข้อไหล่หลุดส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ หกล้ม หรือเล่นกีฬา เมื่อข้อไหล่ถูกกระแทกอย่างแรง หรือถูกฉุดแขนโดยแรงจะทำให้หัวกระดูกหลุดออกมานอกเบ้า หรือบางรายเกิดจากพันธุกรรมที่เส้นเอ็นและผนังหุ้มรอบข้อหลวมไปทำให้ข้อหลุดออกมาได้เช่นกัน นักกีฬาที่เล่นกีฬาปะทะ เช่น ฟุตบอล หรือกีฬาที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวข้อไหล่สูง เช่น บาสเกตบอล ว่ายน้ำ หรือนักยิมนาสติกจะมีโอกาสข้อไหล่หลุดสูงขึ้น มักพบหลุดออกมาอยู่ทางด้านหน้าของร่างกายมากกว่าไปทางด้านหลัง


รักษาข้อไหล่หลุด

ข้อไหล่หลุดจัดเป็นหนึ่งในภาวะเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาทันที ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรพึ่งการประคบเย็น โดยใช้น้ำแข็งผสมน้ำห่อผ้ามาประคบครั้งละ 5 – 10 นาที ทุก 1 – 2 ชั่วโมง ร่วมกับการประคองข้อไหล่ให้อยู่นิ่งเพื่อลดอาการเจ็บปวดและรีบมาพบแพทย์ ภายหลังจากผู้ป่วยได้ยาระงับปวดแล้ว แพทย์จะดึงข้อให้เข้าที่ จากนั้นให้ใส่อุปกรณ์พยุงแขน โดยเฉพาะผู้ที่ข้อหลุดครั้งแรกควรให้ข้อไหล่อยู่นิ่ง ๆ ประมาณ 3 สัปดาห์ โดยช่วง 2 – 3 วันแรกใช้การประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการปวดได้ จากนั้นให้ทำกายภาพบำบัดและบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อไหล่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่

ปัญหาที่พบบ่อย คือ การหลุดซ้ำ เป็นเพราะเส้นเอ็นภายในหัวไหล่มีการฉีกขาด บางรายเพียงถูกกระแทกเบา ๆ ขณะโหนรถเมล์ หรือนอนยกแขนก่ายหน้าผาก ข้อไหล่ก็หลุดแล้ว สำหรับผู้ป่วยที่ข้อไหล่หลุดซ้ำบ่อย ๆ การผ่าตัดสามารถช่วยได้ โดยแพทย์จะทำการซ่อมเส้นเอ็นที่ฉีกขาดให้ยึดติดกับกระดูกอย่างเดิมเพื่อป้องกันการหลุดซ้ำ 


ผ่าตัดรักษาข้อไหล่หลุด

การผ่าตัดรักษาข้อไหล่หลุดทำได้หลายวิธี ในปัจจุบันมีการพัฒนาของเครื่องมือ เทคนิคการผ่าตัด  การผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อได้รับความนิยมมากขึ้นและได้ผลดีมาก เพราะข้อไหล่เป็นข้อที่อยู่ลึก การผ่าตัดโดยวิธีเปิดจะต้องแหวกผ่านกล้ามเนื้อหลายชั้น แผลผ่าตัดจะค่อนข้างใหญ่ ส่วนการส่องกล้องจะเป็นการเจาะรู แผลผ่าตัดเล็ก  มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น 


ผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อ

ภาวะข้อไหล่หลุดนอกจากจะมีพยาธิสภาพของเยื่อหุ้มข้อยืดหรือฉีกขาดแล้ว ยังพบพยาธิสภาพอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น เยื่อหุ้มข้อฉีกจากกระดูกต้นแขน ขอบกระดูกเบ้าด้านหน้าแตก หรือเส้นเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ฉีกขาดบางส่วน ดังนั้นการรักษาภาวะข้อไหล่หลุดโดยใช้กล้องส่องข้อจึงมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากการตรวจด้วยกล้องส่องข้อ ทำให้แพทย์สามารถเห็นพยาธิสภาพต่าง ๆ ได้ชัดเจน รวมทั้งยังสามารถรักษาโดยการเย็บซ่อมผ่านทางกล้องส่องข้อ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาโดยวิธีผ่าตัดแบบเปิดอาจจะไม่เห็นพยาธิสภาพดังกล่าว หรือเห็นแต่ไม่สามารถเย็บซ่อมหรือแก้ไขได้ดี เนื่องจากการผ่าตัดแบบเปิด แพทย์จะเปิดแผลผ่าตัดเข้าไปในข้อไหล่ได้ในทิศทางเดียว คือ ด้านหน้าหรือด้านหลัง ฉะนั้นพยาธิสภาพที่เกิดร่วมกันหากอยู่ด้านตรงข้ามก็จะแก้ไขได้ยาก

นอกจากนี้การใช้กล้องส่องข้อยังมีประโยชน์ในคนไข้ที่ข้อไหล่หลวมและมีอาการปวดร่วมด้วย ตรวจร่างกายพบมีภาวะข้อไหล่เลื่อน แต่ไม่ถึงกับหลุด เมื่อทำการรักษาโดยกายภาพบำบัดระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น สามารถรักษาโดยใช้กล้องส่องข้อเข้าไปเย็บซ่อมเยื่อหุ้มข้อที่ยืด รวมถึงแก้ไขพยาธิสภาพอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วยได้ 

ปัจจุบันการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อได้พัฒนาขึ้นมาก ทำให้ผลการรักษาดีขึ้นจนใกล้เคียงกับการผ่าตัดแบบเปิด และทำให้มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว การเคลื่อนไหวของข้อไหล่กลับมาใกล้เคียงปกติ สามารถกลับไปใช้งานหรือเล่นกีฬาได้ดังเดิม โดยมีผลข้างเคียงน้อย จึงมีแนวโน้มว่าผู้ป่วยข้อไหล่หลุดหรือหลวมจะได้รับการรักษาโดยวิธีการใหม่นี้มากขึ้นกว่าในอดีต การปล่อยให้ข้อไหล่ที่มีพยาธิสภาพไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดความเสียหายต่อหัวกระดูกไหล่ เบ้ากระดูก และเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น คนไข้ดังกล่าวจึงควรได้รับการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อ ทั้งนี้ผลการผ่าตัดจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความชำนาญของแพทย์ รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพหลังผ่าตัด  ความพร้อมของเครื่องมือ และความร่วมมือของผู้ป่วย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด