ทางเลือกใหม่ในการรักษาอาการบาดเจ็บและการอักเสบของข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น โดยใช้เกล็ดเลือดของผู้ป่วย หรือ PRP (Platelet Rich Plasma) ฉีดไปยังบริเวณที่บาดเจ็บ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาด้วยเซลล์รักษาเซลล์ที่ช่วยเร่งกระบวนการรักษาฟื้นฟูด้วยวิธีธรรมชาติให้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้นที่มีสารเร่งการเจริญเติบโต (Growth Factor) มีส่วนช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมเอ็นหรือข้อต่าง ๆ ลดอาการปวดและการอักเสบเรื้อรัง ที่สำคัญคือ ไม่ต้องใช้สเตียรอยด์ ไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด และไม่มีผลข้างเคียงกับร่างกาย
PRP คืออะไร
PRP (Platelet Rich Plasma) เป็นการรักษาฟื้นฟูอาการบาดเจ็บและอักเสบของข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นโดยใช้พลาสมาที่มีเกล็ดเลือดเข้มข้นของผู้ป่วย ผ่านกระบวนการปั่นแยกเอาเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวออก ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการอักเสบด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ ทำให้ได้เกล็ดเลือดและสารเร่งการเจริญเติบโต (Growth Factor) ที่มีความเข้มข้นสูงเพียงพอและเหมาะสมต่อการรักษา ก่อนฉีดกลับเข้าไปยังบริเวณที่ต้องการรักษา โดยเกล็ดเลือดจะกระตุ้นให้มีการหลั่ง Growth Factor เพื่อซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ได้เร็วกว่ากลไกปกติสูงสุดถึง 50% จึงเป็นอีกทางเลือกในการรักษาด้วยเซลล์รักษาเซลล์ที่นำมาใช้ในการบำบัด ลดอาการปวด และฟื้นฟูอาการบาดเจ็บของกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เป็นสำคัญ
PRP รักษาอาการบาดเจ็บใด
- กล้ามเนื้ออักเสบ
- กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง
- กล้ามเนื้อน่อง
- กล้ามเนื้อต้นขาด้านนอก
- รองช้ำกระดูกสะโพกด้านนอก
- เอ็นอักเสบหรือฉีกขาดบางส่วน
- เอ็นประคองเข่าด้านในฉีก
- เอ็นหน้าเข่าอักเสบ
- เอ็นไขว้หน้าเข่าบาดเจ็บ
- เอ็นร้อยหวายอักเสบ
- เอ็นอักเสบข้อพับเข่าด้านหลัง
- เอ็นอักเสบขาหนีบ
- เอ็นอักเสบสะโพก
- เอ็นอักเสบที่ข้อศอกด้านนอก
- เอ็นหัวไหล่อักเสบ เอ็นไหล่ฉีกขาด
- เอ็นกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อพังผืดอักเสบ
- เอ็นกล้ามเนื้อเคล็ด ขัด ยอก
- เอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือรองช้ำ
- เอ็นข้อเท้าบาดเจ็บ
- ข้อเสื่อมและข้ออักเสบต่างๆ
- ข้อเข่าเสื่อมและอักเสบ หมอนรองข้อเข่าฉีก กระดูกสะบ้า
- ข้อสะโพกเสื่อมและอักเสบ
- ข้อไหล่
- ข้อศอก ปุ่มกระดูกข้อศอกบาดเจ็บ
- ข้อเท้าเคล็ด ขัด ยอก
PRP มีขั้นตอนการรักษาอย่างไร
ขั้นตอนการรักษาด้วย PRP ประกอบด้วย
- เจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ ปริมาณไม่เกิน 10 cc. บริเวณหลังมือหรือข้อพับแขนของผู้ป่วยด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ
- นำเลือดมาปั่นด้วยเครื่อง Centrifuge ด้วยรอบความเร็วที่เหมาะสม เพื่อคัดแยกเกล็ดเลือดและสารช่วยสร้างเนื้อเยื่อ (Growth Factors) ทำให้ได้พลาสมาที่มีความเข้มข้นของเกล็ดเลือดที่มีปริมาณเพียงพอกับการรักษา
- แพทย์นำเกล็ดเลือดเข้มข้นมาฉีดในตำแหน่งที่บาดเจ็บ อักเสบ หรือเสื่อมสภาพ เพื่อช่วยลดอาการปวดและกระตุ้นการซ่อมแซมให้อาการบาดเจ็บดีขึ้น
ระยะเวลาและความถี่ในการฉีด PRP เป็นอย่างไร
การฉีด PRP จะทำการฉีดประมาณ 2 – 3 ครั้งเพื่อการรักษา โดยเว้นระยะในการฉีดประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง หรือเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ โดยจะเห็นผลการรักษาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป
เตรียมตัวก่อนทำการรักษาอย่างไร
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกออล์
- แจ้งประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว ยาที่รับประทานอยู่ประจำ โดยเฉพาะยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด
- หากมีประวัติรับประทานยากลุ่ม NSAID ต้องงดยาก่อนและหลังทำหัตถการอย่างน้อย 7 วัน
หลังทำการรักษาดูแลตัวเองอย่างไร
หลังฉีด PRP บริเวณที่ทำการฉีดอาจมีอาการปวดตึงในช่วง 48 ชั่วโมงแรก แนะนำให้ประคบเย็นเพื่อลดอาการปวด หากปวดมากสามารถรับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs ยาแก้อักเสบ สเตียรอยด์เด็ดขาด เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นลดลง นอกจากนี้หากปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด แนะนำให้กลับมาพบแพทย์ทันที
ข้อดีของ PRP คืออะไร
การฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) เป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาอาการบาดเจ็บของข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น จากการศึกษาและการใช้ PRP ในการรักษาผู้ป่วยที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าได้ผลดีและมีผลข้างเคียงต่ำ เนื่องจากเป็นสารสกัดจากเลือดของผู้ป่วยเอง จึงไม่มีสารสังเคราะห์ตกค้างในร่างกาย และไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือผลข้างเคียง หลังการรักษาจะให้ผลการฟื้นฟูดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ผู้ป่วยหรือนักกีฬาส่วนใหญ่จึงเลือกรักษาอาการบาดเจ็บด้วยวิธีนี้
ข้อจำกัดของ PRP คืออะไร
ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ไม่แนะนำให้รักษาด้วยการฉีด PRP (Platelet Rich Plasma)
- ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคหรือกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของเกล็ดเลือด
- ผู้ที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- ผู้ที่มีไข้
- ผู้ที่มีการติดเชื้อเฉพาะส่วนในบริเวณที่ทำการรักษา
- ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งกระดูก
ผู้ป่วยที่มีโรคหรืออาการดังต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยง หรือขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ผู้ทำการรักษา
- ผู้ที่มีการฉีดยาสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ที่ช่วยลดอาการอักเสบที่บริเวณที่ทำการรักษาภายใน 1 เดือน
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disease)
- ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
ความเสี่ยงของ PRP ที่พบคืออะไร
ผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด PRP อาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และอาจมีความเสี่ยงติดเชื้อในบริเวณที่ฉีดเกิดขึ้นได้
ฉีด PRP อย่างไรให้เห็นผล
การฉีด PRP ให้ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจนั้นขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรคและการตอบสนองการรักษาของแต่ละบุคคล อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ และสุขภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ หากฉีดบริเวณกล้ามเนื้ออาจใช้เวลาน้อยกว่ากลุ่มของเส้นเอ็น รวมทั้งขนาดของข้อที่ได้รับการบาดเจ็บ เช่น การรักษาบริเวณข้อศอกกับหัวไหล่ใช้ระยะเวลาและให้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน โดยในผู้ป่วยเรื้อรังจะใช้เวลารักษานานกว่าและผลการรักษาอาจไม่ดีเท่ากลุ่มที่รักษาทันทีที่ได้รับบาดเจ็บ