ไซนัสรักษาได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

3 นาทีในการอ่าน
ไซนัสรักษาได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

เมื่อพูดถึงการผ่าตัดไซนัส ปัจจุบันจะใช้กล้องผ่านทางช่องจมูกช่วยในการผ่าตัดเกือบทั้งหมด การใช้กล้องช่วยทำผ่าตัดไซนัสนั้น มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมาไม่น้อยกว่า 30 ปี มีการพัฒนาทั้งอุปกรณ์และเทคนิคในการผ่าตัดมาตลอด จนในปัจจุบันนอกจากใช้ในการผ่าตัดไซนัสแล้ว ยังใช้กล้องช่วยในการผ่าตัดโรคของอวัยวะข้างเคียงต่าง ๆ กันอีกมาก เช่น ผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาส่วนล่างอุดตัน ผ่าตัดแก้ไขตาโปน ผ่าตัดลดแรงกดต่อเส้นประสาทตา ผ่าตัดซ่อมน้ำสมองรั่วเข้าโพรงจมูก – ไซนัส ผ่าตัดเนื้องอกของต่อมใต้สมอง และผ่าตัดเนื้องอกที่ฐานกะโหลกส่วนหน้า เป็นต้น

 

เมื่อใดต้องผ่าตัดไซนัส

1) กรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัดอย่างแน่นอน เช่น 

  • กรณีที่เป็นไซนัสอักเสบและมีโรคแทรกซ้อนจากการอักเสบนั้น ซึ่งมีได้ 2 แบบ คือ อักเสบติดเชื้อลามเข้าไปในตาและอักเสบติดเชื้อลามเข้าไปในสมอง
  • สงสัยว่าเป็นเนื้องอก
  • ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา
  • ช่องเปิดไซนัสอุดตันแล้วมีมูกคั่งในไซนัสเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

2) กรณีที่ควรจะผ่าตัด หมายถึง ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแน่ ๆ เหมือนในข้อที่ 1 แต่ก็น่าจะผ่าตัด โดยการผ่าตัดเป็นทางเลือกและได้ประโยชน์มากกว่าการไม่ผ่าตัด ในกรณีนี้ ได้แก่

  • ผู้ที่มีอาการไซนัสอักเสบแบบเรื้อรังหรือแบบเฉียบพลันที่เป็น ๆ หาย ๆ หรือมีริดสีดวงจมูกที่ใช้ยาที่เหมาะสมแล้วไม่ได้ผล (ระยะเวลาการใช้ยาขึ้นกับความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปประมาณ 1 – 3 เดือน)

 

วิธีการผ่าตัด

โดยทั่วไปจะใช้การดมยาสลบและใช้กล้องสอดผ่านช่องจมูกเข้าไปในบริเวณที่จะผ่าตัด แล้วมีเครื่องมือสอดตามเข้าไปทำการผ่าตัด ในปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องมือขึ้นมามากเพื่อให้มีความสะดวกในการผ่าตัด สามารถตัดเนื้อเยื่อที่เป็นโรคที่ต้องการตัดได้ดี โดยรบกวนเนื้อเยื่อส่วนดีที่ไม่ต้องการตัดได้ดีขึ้นมาก ทำให้มีเลือดออกน้อย ผ่าตัดเสร็จแล้วไม่ต้องใส่วัสดุห้ามเลือดในจมูกมาก หลังผ่าตัดเจ็บแผลน้อย สามารถหายใจทางจมูกได้ดี และผลของการผ่าตัดดีกว่าเมื่อก่อนมาก 

 

ไซนัส, ผ่าตัดส่องกล้อง

ประเภทการผ่าตัด 

การผ่าตัดมีหลายแบบ ตั้งแต่น้อยไปหามากคือ 

  • Balloon Sinuplasty
  • Minimally Invasive Sinus Technique
  • Functional Endoscopic Sinus Surgery (FESS)
  • Full – House FESS

 

ผ่าตัดแบบไหนดี

การผ่าตัดไซนัสจะเลือกผ่าตัดแบบไหนและต้องผ่าไซนัสส่วนไหนบ้าง ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย เพราะไซนัสเป็นอวัยวะที่มีประโยชน์และธรรมชาติสร้างให้มีโครงสร้างในจมูกที่ป้องกันไม่ให้โพรงไซนัสสัมผัสกับช่องจมูกโดยตรง การผ่าตัดไซนัสเป็นการทำให้ช่องเปิดของไซนัสกว้างขึ้นและเปิดช่องทางเดินของมูกของไซนัสให้เชื่อมเข้ากับช่องจมูกโดยตรง มูกในไซนัสจึงขับออกทางจมูกได้ง่ายขึ้น หรือเวลาล้างจมูก น้ำเกลือก็เข้าไปล้างในไซนัสได้ ถ้าใช้ยาผสมในน้ำเกลือ ยาก็สามารถเข้าไปถึงเยื่อยุผิวได้ดี 

แต่ในทางกลับกัน เมื่อมีอะไรในจมูก สิ่งนั้น ๆ ก็จะเข้าไปในไซนัสได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน เช่น เวลาเป็นไข้หวัด (โรคจมูกอักเสบจากไวรัส) ก็จะมีไซนัสอักเสบจากไวรัสได้มากและหนักขึ้น ถ้าผ่าแบบเปิดกว้างมากเช่น Full – House FESS ตัวไซนัสทั้ง 5 ไซนัสจะต่อเป็นโพรงเดียวกับช่องจมูก 

การจะผ่าตัดจึงต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนตามที่ได้กล่าวไปแล้ว การมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดหมายความว่ามีการศึกษาในวงกว้างมาแล้วว่าการผ่าตัดมีความจำเป็นหรือได้ประโยชน์มากกว่าการไม่ผ่าตัด และเวลาผ่าตัดไซนัสจะพิจารณาผ่าตัดเฉพาะในส่วนที่ควรผ่า โดยไม่ผ่าตัดในส่วนที่ไม่จำเป็น ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีสาเหตุของโรค และมีวัตถุประสงค์ในการผ่าตัดที่ไม่เหมือนกัน วิธีการผ่าตัดจึงอาจไม่เหมือนกันทั้งหมดในผู้ป่วยแต่ละราย 

แพทย์จะแนะนำหรือเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม จะดูว่าไซนัสอักเสบแบบไหน จะเลือกใช้การผ่าตัดแบบไหนจึงจะได้ผลดีที่สุด และมีผลกระทบต่อไซนัสส่วนที่เหลือน้อยที่สุด

การผ่าตัดน้อยไปโรคก็ไม่ดีขึ้น หลายรายทำผ่าตัดน้อยไป มีมูกเหนียวหรือเป็นลักษณะที่ศัพท์แพทย์เรียกว่า mucin หรือมีเซลล์อักเสบในเยื่อบุผิวมาก (high tissue eosinophils) มูกที่เหนียวยังขับออกได้ไม่ดี ล้างด้วยน้ำเกลือผสมยาก็เข้าในไซนัสได้ไม่ดี ทำให้ผลการผ่าตัดไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนการผ่าตัดมากไปก็ไม่ดีอย่างที่กล่าวไปแล้ว และอาจมีความเสี่ยงในการผ่าตัดมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

 

ไซนัส, ผ่าตัดส่องกล้อง

ความเสี่ยงจากการผ่าตัด

เนื่องจากไซนัสอยู่ชิดติดกับลูกตา สมอง เส้นประสาทตา และเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมอง การทำผ่าตัดจึงมีความเสี่ยงที่จะไปกระเทือนถูกอวัยวะเหล่านี้ได้ จากข้อมูลทั่วไปพบความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บต่อลูกตาและน้ำสมองรั่วประมาณ 1% ความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บต่อเส้นประสาทตาและเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมองประมาณ 0.1% ในปัจจุบันมีเครื่องมือที่เรียกว่าเครื่องนำวิถีในการผ่าตัด (navigator) ทำให้การทำผ่าตัดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและลดความเสี่่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้ดีขึ้น

 

ผ่าตัดแล้วหายขาดไหม 

ผลของการผ่าตัดนอกจากขึ้นอยู่กับว่าทำผ่าตัดได้ดีแค่ไหนแล้ว ที่สำคัญคือขึ้นกับต้นเหตุหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ สาเหตุบางอย่างได้ผลเกือบ 100% เช่น ไซนัสอักเสบที่เกิดจากก้อนเชื้อรา แต่สาเหตุบางอย่างต้องใช้ยาหลังผ่าตัดร่วมด้วยถึงจะได้ผลดี เช่น ไซนัสอักเสบที่เกิดจากการแพ้เชื้อราหรือมีเซลล์อักเสบ eosinophils ในเนื้อเยื่อมาก สาเหตุบางอย่างได้ผลไม่ดี เช่น ไซนัสอักเสบที่เกิดจากการทำงานของขนกวัด (cilia) ผิดปกติ หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้มูกเหนียวข้น เป็นต้น

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล