หนึ่งในโรคที่เป็นกันมากอย่างโรคกระเพาะอาหาร มักสร้างความรำคาญในการใช้ชีวิต แต่หลายคนมักละเลยอาการโรคกระเพาะอาหาร เพราะปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อหายแล้วก็ไม่ไปพบแพทย์เพื่อรักษาจนพัฒนากลายเป็นโรคเรื้อรังและเพิ่มความเสี่ยงในระยะยาว
โรคกระเพาะอาหารคืออะไร
โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia) เป็นโรคที่เกิดจากการที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นมีบาดแผล รวมถึงการที่เยื่อบุกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะการปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
สาเหตุโรคกระเพาะอาหารคืออะไร
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) หรือ เอชไพโลไร (H. Pylori)
- กินอาหารไม่เป็นเวลา
- กินอาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
- อดอาหารบ่อยครั้ง
- เครียด วิตกกังวล
- ดื่มกาแฟ ดื่มแอลกออล์ สูบบุหรี่
- รับประทานยาแก้ปวด ยาสมุนไพร อาหารเสริม ที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
อาการโรคกระเพาะอาหารเป็นอย่างไร
- ปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือช่องท้องส่วนบนเหนือสะดือ
- ปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ นานเป็นเดือนไปจนถึงเป็นปี
- ปวดแน่นท้อง ปวดแสบ จุกแน่น
- ปวดท้องเวลาหิวหรือเมื่อท้องว่าง
- ปวดก่อนหรือหลังมื้ออาหาร หรือปวดตอนที่นอนหลับไปแล้ว
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- บางคนปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลที่กระเพาะอาหาร บางคนไม่ปวดท้องแต่แผลที่กระเพาะอาหารใหญ่มาก
ชนิดของโรคกระเพาะอาหาร
- โรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล พบได้มากที่สุด โดยมีสาเหตุจากการที่กรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป การบีบตัวของกระเพาะอาหารไม่ปกติ หรือติดเชื้อแบคทีเรียเอช. ไพโลไร
- โรคกระเพาะอาหารชนิดมีแผล จากเชื้อแบคทีเรียเอช. ไพโลไร ยาแก้ปวด ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน เกิดบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น
- โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มักมาด้วยอาการปวดท้อง พบได้แม้จะเป็นส่วนน้อย
ตรวจวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหาร
แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหาร อาจมีการตรวจเลือด อัลตราซาวนด์ช่องท้อง ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โดยสามารถตัดชิ้นเนื้อมาตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมได้ การส่องกล้องกระเพาะอาหารมักจะทำในกรณีที่ปวดท้องเรื้อรัง รับประทานยาแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้น หรือมีภาวะโลหิตจาง น้ำหนักลด
รักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างไร
การรักษาโรคกระเพาะอาหารแบ่งออกเป็น
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ รับประทานอาหารตรงเวลา งดอาหารรสจัด งดดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป เลี่ยงการรับประทานยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
- การรับประทานยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ โดยรับประทานยาให้ครบตามระยะเวลาอาการจึงดีขึ้น และหยุดยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
- การผ่าตัดรักษากระเพาะอาหาร ใช้ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างการมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กทะลุ รวมถึงการอุดตันในกระเพาะอาหาร
ป้องกันโรคกระเพาะอาหารอย่างไร
- กินอาหารให้เป็นเวลา
- อย่าปล่อยให้ท้องว่าง
- หากหิวต้องรองท้องด้วยนม น้ำเต้าหู้ น้ำผลไม้
- เลี่ยงการกินอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
- ถ้าต้องกินยาที่ทำให้กระเพาะอาหารระคายเคืองต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล
แพทย์ที่ชำนาญด้านการรักษาโรคกระเพาะอาหาร
นพ.จตุรงค์ อมรรัตนโกศล แพทย์ผู้ชำนาญการ ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
โรงพยาบาลที่พร้อมให้บริการรักษาโรคกระเพาะอาหาร
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาโรคกระเพาะอาหารด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข