นอนตะแคงซ้ายลดแสบร้อนจากกรดไหลย้อน

3 นาทีในการอ่าน
นอนตะแคงซ้ายลดแสบร้อนจากกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานและความรำคาญ เพราะฉะนั้นการปรับพฤติกรรมที่ช่วยลดกรดไหลย้อนได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการนอนตะแคงซ้ายสามารถช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อนได้จริง

 

สัญญาณโรคกรดไหลย้อนคืออะไร

อาการที่เป็นสัญญาณเตือนโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

  • แสบร้อนกลางอก ไล่ขึ้นมาจากยอดอกขึ้นมาถึงคอ
  • ปวด จุกเสียด แน่นลิ้นปี่ มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ
  • อาการเจ็บหน้าอก
  • อาการนอกหลอดอาหาร เสียงแหบ กระแอมบ่อย ๆ ไอเรื้อรัง เจ็บคอ

กินแล้วนอนทำไมกรดไหลย้อน

เมื่อรับประทานอาหารกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารที่เชื่อมต่อกระเพาะอาหารจะเปิด อาหารจึงเคลื่อนลงสู่กระเพาะอาหารได้และจะปิดโดยเร็วเพื่อป้องกันอาหารและน้ำย่อยไหลย้อนสู่หลอดอาหาร ดังนั้นถ้ากล้ามเนื้อหูรูดนี้ทำงานผิดปกติหรือไม่แข็งแรง อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารอาจไหลย้อนมาที่หลอดอาหาร โดยเฉพาะเวลานอน กรดที่ไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารจะทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบและผลแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมา โรคกรดไหลย้อนอาจไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ถ้าปล่อยไว้นานไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาได้ และในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด กรดไหลย้อนจะทำให้เกิดอาการหอบหืดได้มากและบ่อยขึ้นได้


ท่านอนตะแคงซ้ายช่วยลดกรดไหลย้อนได้อย่างไร

ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนในกระเพาะอาหารมากถึง 80% มีอาการกรดไหลย้อนรบกวนในเวลากลางคืน ข้อมูลจากวารสาร The American Journal of Gastroenterology ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างท่านอนและโรคกรดไหลย้อนในเวลากลางคืน โดยใช้วิธีตรวจวัดท่านอนควบคู่กับการวัดระดับ pH ในหลอดอาหาร และวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า (Impedance) เพื่อศึกษาผลกระทบของท่านอนต่ออาการกรดไหลย้อนระบุว่า การนอนในท่านอนตะแคงซ้ายช่วยลดการเกิดกรดไหลย้อนตอนกลางคืนได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับการนอนหงายหรือนอนตะแคงขวา เนื่องจากท่านอนตะแคงซ้ายหลอดอาหารตำแหน่งของหูรูดหลอดอาหารจะอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร ทำให้กำจัดกรดออกจากหลอดอาหารได้เร็วกว่าท่านอนอื่น ถึงแม้ในแต่ละท่านอนจำนวนครั้งที่เกิดกรดไหลย้อนจะไม่แตกต่างกันมาก แต่การลดเวลานอนในท่านอนหงายหรือท่านอนตะแคงขวาอาจช่วยลดอาการกรดไหลย้อนในเวลากลางคืนและทำให้การนอนหลับดีขึ้น ดังนั้นในผู้ป่วยกรดไหลย้อน หากเลือกนอนตะแคงซ้ายจะช่วยลดกรดไหลย้อนได้ดีกว่าท่านอนท่าอื่น 


ผู้ป่วยกรดไหลย้อนควรปรับพฤติกรรมอย่างไร

  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์
  • ไม่นอนหลังรับประทานอาหารทันทีหรือภายใน 2 – 3 ชั่วโมง
  • เลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้กรดไหลย้อน เช่น ของทอด ของมัน อาหารรสจัด น้ำอัดลม ชา กาแฟ เบียร์
  • อย่ารับประทานอาหารเร็วเกินไป เคี้ยวให้ละเอียด
  • ควรหนุนหัวเตียงให้สูงประมาณ  6 – 8 นิ้วขึ้นไป
  • งดสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์

กรดไหลย้อนกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม

แม้รักษากรดไหลย้อนแล้ว ผู้ป่วยกรดไหลย้อนสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ เพราะเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล หากรักษาโรคกรดไหลย้อนแล้วไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนจะกลับมาเป็นซ้ำ และถึงแม้ผู้ป่วยจะรับประทานยาลดการหลั่งกรดติดต่อกันหลายสัปดาห์ตามที่แพทย์แนะนำก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน ทั้งนี้หากผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์อาจพิจารณาการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการส่องกล้องหลอดอาหาร การตรวจการทำงานของหลอดอาหาร และการวัดกรดในหลอดอาหารเพื่อเช็กการทำงานและความเป็นกรดด่างของหลอดอาหาร


Reference:


แพทย์ที่ชำนาญการรักษากรดไหลย้อน

นพ.สุริยะ จักกะพาก ศัลยแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ     

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษากรดไหลย้อน

ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนแบบองค์รวม โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ พยาบาล และทีมสหสาขา พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. สุริยะ จักกะพาก

ศัลยศาสตร์

นพ. สุริยะ จักกะพาก

ศัลยศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ

ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี, เสาร์, อาทิตย์ เวลา 07.00 - 16.00 น.

พุธ, ศุกร์  เวลา 07.00 - 18.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด