แผลหลอดเลือดมีทั้งแผลหลอดเลือดแดงตีบตันและแผลหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ ซึ่งนับว่าเป็นแผลเรื้อรังที่นอกจากสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย หากไม่รีบรักษาอาจร้ายแรงจนทำให้ต้องสูญเสียอวัยวะส่วนนั้นได้ในที่สุด ดังนั้นการทำความเข้าใจเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงทีคือสิ่งสำคัญ
ลักษณะแผลหลอดเลือดตีบตัน
แผลหลอดเลือดตีบตัน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- แผลหลอดเลือดแดงตีบตัน
- แผลหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ
1) แผลหลอดเลือดแดงตีบตัน
แผลหลอดเลือดแดงตีบตันส่วนใหญ่พบในคนอายุมาก เกิดจากภาวะที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน ได้แก่ แคลเซียมที่เกิดจากคอเลสเตอรอล โรคของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงอักเสบ เบาหวาน เป็นต้น
ลักษณะบาดแผลหลอดเลือดแดงตีบตันที่สำคัญ ได้แก่
- แผลจะซีดๆ
- แผลไม่มีเลือดออก
- แผลสามารถลึกถึงเส้นอ้นถึงกระดูกได้
- รู้สึกปวดมาก
- แผลจะลึกและเจ็บ
กลุ่มเสี่ยงแผลหลอดเลือดแดงตีบ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่เท้าชา เท้าผิดรูป
- ผู้ที่มีเส้นประสาทผิดปกติ
- ผู้ที่มีโรคข้อต่าง ๆ
- ผู้ที่ใส่รองเท้าไม่ถูกต้อง ไม่สามารถป้องกันเท้าได้ ทำให้เกิดแรงกดบริเวณปุ่มกระดูกมาก
***รองเท้าที่ดีจะต้องเป็นรองเท้าสวม เช่น รองเท้ากีฬา ขนาดรองเท้าต้องพอดี ไม่คับ ไม่หลวม หัวแม่เท้าห่างจากหัวรองเท้าประมาณ 1 หัวแม่มือ
ความรุนแรงของแผลหลอดเลือดแดงตีบ
หากเป็นแผลหลอดเลือดแดงตีบแล้วปล่อยไว้ไม่รักษาจะเกิดแผลที่เจ็บ ลึก รุนแรง และอาจติดเชื้อ เมื่อแผลติดเชื้อมากๆ อาจลุกลามจนเนื้อตายเป็นบริเวณกว้าง เพราะเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ และอาจต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นแผลหลอดเลือดแดงตีบจากนิ้วเท้าลามมาถึงเท้า ถ้าติดเชื้อจนเนื้อตายมาก ๆ อาจต้องตัดเท้า เป็นต้น ซึ่งระยะการลุกลามนั้นไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่าบาดแผลขาดเลือดมากแค่ไหนและเชื้อโรครุนแรงแค่ไหน
รักษาแผลหลอดเลือดแดงตีบ
การรักษาแผลหลอดเลือดแดงตีบสามารถทำได้เช่นดียวกับรักษาแผลเรื้อรังทั่วไปและตรวจแก้เส้นเลือด หากเส้นเลือดไม่ดีต้องให้ยา อาจร่วมกับการถ่างขยายเส้นเลือดไม่ให้ตีบ หากไม่ได้ผลอาจต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะเลือกใช้เทคโนโลยีการรักษาที่เหมาะสมเข้ามาช่วย การดูแลแผลหลอดเลือดแดงมักจะทำให้แผลแห้งเพื่อลดการติดเชื้อ
ป้องกันไม่ให้เกิดแผลหลอดเลือดแดงตีบซ้ำ
- ห้ามสูบบุหรี่
- ห้ามนั่งไขว่ห้าง
- เลี่ยงอากาศเย็น
- ใส่รองเท้าที่ดี
- ออกกำลังกายเท่าที่ทำได้
2) แผลหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ
แผลหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติจะอยู่ที่ขา เกิดจากการที่เนื้อเยื่อเลือดที่ไหลมาตามหลอดเลือดแดงไหลกลับไปที่หลอดเลือดดำ เกิดการคั่งค้างไม่สามารถไหลกลับสู่หัวใจได้ดี ทำให้ขาบวม ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่ดี ขาดสารอาหารที่มีประโยชน์ และเกิดเป็นแผลขึ้น
ลักษณะบาดแผลหลอดเลือดดำตีบตันที่สำคัญ ได้แก่
- มักเกิดบริเวณด้านข้างขา
- แผลมีสีดำคล้ำ
- ขาบวม
- ไม่ปวด
- แผลจะไม่ค่อยลึกถึงเส้นเอ็น
- แผลจะตื้นและไม่เจ็บ
รักษาแผลหลอดเลือดดำตีบ
- ทำแผลตามหลักการของแพทย์
- ใช้การรัดพันขาให้แน่นในระดับหนึ่งเพื่อให้ยุบ ไม่บวม ซึ่งข้อจำกัดของการพันขาในแผลหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติจะต้องไม่มีปัญหาหลอดเลือดแดงร่วมด้วย เพราะหากมีปัญหาหลอดเลือดแดงเมื่อพันขาจะเกิดแรงกดทับ ทำให้หลอดเลือดแดงไปเลี้ยงไม่ได้
- การผ่าตัดแก้ไขสาเหตุ เพราะแผลหลอดเลือดดำอาจเกิดจากปัญหาหลอดเลือดดำได้
ป้องกันไม่ให้เกิดแผลหลอดเลือดดำตีบซ้ำ
- เมื่อรักษาจนหายแล้วต้องดูแลเท้าให้ดี
- สังเกตตัวเองทุกวัน หากมีแผลต้องรีบพบแพทย์โดยเร็วเพื่อทำการรักษา
- ลดน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์
- ไม่ยืนหรือนั่งห้อยขานาน ๆ
หากเป็นแผลหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นแผลหลอดเลือดแดงตีบตันหรือแผลหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายขาด ปัจจุบันมีเครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษาที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง