มาตรการตรวจรักษาโรคทางช่องท้องช่วง COVID-19
การตรวจรักษาโรคทางช่องท้องช่วง COVID-19
ในช่วงที่มีการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 หรือ Coronavirus Infection เพิ่มมากขึ้น ทุกคนต้องมีการเตรียมพร้อมเฝ้าระวังป้องกันเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและการกระจายของโรค อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ของโรคอื่น ๆ ที่ตรวจพบโดยทั่วไปและบางครั้งเป็นภาวะฉุกเฉินยังเกิดขึ้นได้ตามปกติ โดยเฉพาะโรคทางศัลยกรรมที่มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องเฉียบพลันที่รวมถึงโรคถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน และอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น อาการตัวเหลืองตาเหลือง คลำพบก้อนในช่องท้องหรือบริเวณขาหนีบ เป็นต้น
อาการผิดปกติบอกโรค
โรคทางศัลยกรรมที่ตรวจพบในภาวะฉุกเฉินมักมีอาการปวดท้อง โดยตำแหน่งของอาการปวดจะบ่งชี้ถึงโรค
ต่าง ๆ ได้ในเบื้องต้น ดังนี้
-
ปวดท้องด้านบนขวาหรือบริเวณลิ้นปี่ อาจเกิดจากโรคถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โรคกระเพาะอาหารอักเสบที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีรูรั่วที่กระเพาะอาหาร เป็นต้น
-
อาการปวดท้องด้านขวาล่าง อาจเกิดจากโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน โรคลำไส้อักเสบ โรคไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบที่ไม่สามารถดันกลับได้ เป็นต้น
-
อาการตัวเหลืองตาเหลือง มักเกิดจากโรคทางระบบน้ำดี ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดตันท่อน้ำดี ซึ่งเป็นภาวะเร่งด่วนที่ควรเข้ารับการตรวจรักษา เนื่องจากอาจนำไปสู่การเกิดโรคทางเดินน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งบางครั้งมีอาการรุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้ โรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคนิ่วในทางเดินน้ำดี โรคก้อนเนื้องอกของตับอ่อน ก้อนเนื้องอกของท่อน้ำดี ก้อนเนื้องอกในตับ นิ่วในถุงน้ำดีขนาดใหญ่ที่มีการกดเบียดท่อน้ำดี เป็นต้น
มาตรการตรวจรักษาโรคทางช่องท้องช่วง COVID-19
-
ผู้ป่วยสามารถพบแพทย์ที่แผนกผู้ป่วยนอกได้ตามปกติ โดยโรงพยาบาลมีมาตรการดูแลและคัดกรองผู้ป่วยทุกจุดทางเข้า – ออกของโรงพยาบาล
-
ผู้ป่วยที่เข้าข่ายสัมผัสโรคหรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจจะแยกพื้นที่การให้บริการออกจากผู้ป่วยทั่วไปที่คลินิกพิเศษเพื่อเพิ่มความมั่นใจเมื่อมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ
-
การตรวจรักษาผู้ป่วยอาจมีโอกาสสัมผัสละอองฝอย (Droplet) ที่เกิดจากการไอ จาม การพูดคุยใกล้ชิด โดยแพทย์ผู้ตรวจผู้ป่วยทุกรายต้องใช้มาตรการป้องกันละอองฝอย (Droplet Precaution) ประกอบด้วยการล้างมือและการใช้อุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ หน้ากากอนามัย (Surgical Mask) กระจังกันใบหน้า (Face Shield Gloves) และผู้ป่วยควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย (Face Mask)
-
กรณีที่ผู้ป่วยไม่สะดวกมาตรวจที่โรงพยาบาลสามารถเลือกรับบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ Bangkok Hospital Delivery บริการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบ Teleconsultation (ผ่านระบบโทรศัพท์ หรือ Video Conference) พร้อมบริการเจาะเลือดถึงบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกหากต้องการตรวจเบื้องต้น อาทิ เจาะเลือดเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค เป็นต้น
การผ่าตัดผ่านกล้องทางช่องท้องในช่วง COVID-19
อย่างที่ทราบกันดีว่าการผ่าตัดผ่านกล้องทางช่องท้องมีข้อดีหลายอย่างเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิด โดยการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นการเจาะรูทางช่องท้องขนาด 5 – 12 มิลลิเมตร โดยอาจมีการขยายแผลใหญ่ขึ้นหากนำชิ้นเนื้อออกทางช่องท้อง ประโยชน์ของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ระยะเวลาในการพักฟื้นและนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้น ทำให้โอกาสที่จะสัมผัสเชื้อโรคในโรงพยาบาลน้อยลง ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และช่วยเหลือตัวเองได้ในระยะเวลาอันสั้น ช่วยลดการสัมผัสจากบุคคลอื่น ๆ ที่สามารถเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาติดต่อได้
ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้องทางช่องท้องได้ตามปกติ โดยทีมแพทย์และโรงพยาบาลมีระบบการป้องกันที่ได้มาตรฐาน ด้วยมาตรการการผ่าตัดและการควบคุมการติดเชื้อในห้องผ่าตัดอย่างรัดกุม ได้แก่
-
การออกแบบห้องผ่าตัดเพื่อลดการสะสมเชื้อโรค
-
อากาศในห้องผ่าตัดมีระบบกรองอากาศให้ปราศจากเชื้อก่อนส่งเข้าไปในห้องและมีระบบหมุนเวียนนำอากาศที่อาจมีการปนเปื้อนออกจากห้องผ่าตัดอย่างสม่ำเสมอ
-
ในกรณีที่มีการดูดควันออกจากช่องท้องจะมีการใช้เครื่องกรองอากาศที่ประสิทธิภาพในการกรองเชื้อไวรัสเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยและบุคลากรที่เข้ารับการผ่าตัด
-
การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในอากาศเพื่อจำกัดการเติบโตของเชื้อ
-
ขั้นตอนการทำความสะอาดห้อง เครื่องมือและอุปกรณ์การผ่าตัด และการกำจัดเชื้อก่อนเริ่มผ่าตัด
-
ห้องผ่าตัดแยกสำหรับการผ่าตัดผู้ป่วยติดเชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
การพักฟื้นของผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่วง COVID-19
-
ผู้ป่วยที่ไม่มีการติดเชื้อในช่วงระยะเวลาพักฟื้น หลังผ่าตัดยังมีการรักษาที่ได้มาตรฐาน โดยผู้ป่วยจะใช้ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลใกล้เคียงกับภาวะปกติ เช่น ภายหลังการผ่าตัดถุงน้ำดีหรือผ่าตัดไส้ติ่งจะใช้เวลาในการนอนโรงพยาบาลเพียง 2 – 3 วันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
-
ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพทุก ๆ ปี รวมถึงหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย