แม้การบาดเจ็บข้อไหล่ของนักกีฬาฟุตบอลหรือคนทั่วไปไม่พบมากเท่าการบาดเจ็บข้อเข่าและข้อเท้า แต่ก็พบได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้รักษาประตูหรือผู้เล่นที่ต้องทุ่มลูกบอลบ่อยนั้นสามารถพบการบาดเจ็บในลักษณะนี้ค่อนข้างมาก ดังนั้นหากบาดเจ็บรุนแรงจนเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด สิ่งสำคัญคือพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการรักษาโดยเร็ว ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องสามารถรักษาเส้นเอ็นรอบหัวไหล่ฉีกขาดให้กลับมาใช้งานได้ดีอีกครั้ง
รู้จักข้อไหล่
กระดูกข้อไหล่เป็นข้อที่หัวกระดูกและเบ้าไม่ลึกมาก ประกอบขึ้นเป็นข้อไหล่อย่างหลวม ๆ โดยมีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ยึดโดยรอบ ช่วยให้ข้อไหล่มีความมั่นคง ยืดหยุ่น และขยับได้ในองศามากกว่าข้ออื่น ๆ ส่งผลให้ข้อไหล่เป็นข้อที่มีโอกาสเคลื่อนหลุดได้บ่อยกว่าข้ออื่น ๆ ในร่างกาย
บริเวณที่บาดเจ็บข้อไหล่
การบาดเจ็บข้อไหล่พบได้ในบริเวณ
- เส้นเอ็นหัวไหล่
- กล้ามเนื้อรอบหัวไหล่
- กระดูกและข้อไหล่
สาเหตุข้อไหล่บาดเจ็บ
- การแบกหามของหนัก
- การปะทะ
- การกระชากของไหล่
- การเหนี่ยวแขน
- การล้มโดยใช้แขนเท้าพื้น
- การล้มแล้วไหล่กระแทกพื้นโดยตรง
- การเอื้อมแขนมากเกินไป
- การเหวี่ยงหรือขว้างบอลรุนแรง
อาการบาดเจ็บข้อไหล่
สามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้
- เจ็บหัวไหล่
- ปวดไหล่รุนแรงจนต้องตื่นกลางดึก
- ข้อไหล่ติดขัด ไขว้มือไปด้านหลังได้ไม่สุด
วิธีรักษาข้อไหล่
การรักษาข้อไหล่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่บาดเจ็บเป็นสำคัญ ได้แก่
- บาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อรอบ ๆ
ควรพักการใช้งาน ประคบเย็น ทานยาต้านอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการทำกายภาพ
- บาดเจ็บกระดูกหรือข้อเคลื่อนหลุด
ควรดามหรือใส่ผ้าห้อยแขน (Arm Sling) เพื่อไม่ให้เกิดการขยับ จากนั้นรีบส่งพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการรักษาเฉพาะต่อไป เช่น การดึงกระดูกและข้อให้เข้าที่ หรือผ่าตัดเพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็นข้อไหล่ที่หลุดเคลื่อน เป็นต้น
- บาดเจ็บเรื้อรัง
หากได้รับการรักษาโดยยาหรือทำกายภาพแล้วยังไม่หาย เนื่องจากเส้นเอ็นมีการฉีกขาดหลบซ่อนอยู่ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูเส้นเอ็นหัวไหล่ ซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยได้จากการเอกซเรย์ธรรมดา
- บาดเจ็บเส้นเอ็นรอบหัวไหล่ฉีกขาด
ควรพบแพทย์โดยเร็วและเข้ารับการผ่าตัดที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ชำนาญการ
ผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด
ปัจจุบันการรักษาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดสามารถทำได้โดยการผ่าตัดผ่านกล้อง (Arthroscopic Surgery) ที่แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 0.5 – 1 เซนติเมตร การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบข้อมีน้อยมาก เสียเลือดน้อย ลดโอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัด ทั้งยังลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ที่สำคัญหลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็ว เนื่องจากเริ่มทำกายภาพได้ตั้งแต่วันแรกหรือวันที่สอง ทำให้การฟื้นตัวขยับเคลื่อนไหวของข้อทำได้ดีและใช้เวลาน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดในอดีตที่ต้องเปิดแผลกว้าง ทำให้แผลบวมและเป็นแนวยาว จึงหายช้าและใช้ระยะเวลานานหลายวันกว่าจะเคลื่อนไหวได้
ดูแลป้องกันข้อไหล่
- วอร์มอัพ
- ยืดเส้นก่อนและหลังเล่นกีฬา
- ฝึกบริหารกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นรอบหัวไหล่ และกล้ามเนื้อบริเวณสะบักอยู่เสมอ เพื่อให้แข็งแรงและยืดหยุ่น ทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บได้ เช่น รำกระบอง รำมวยจีน เป็นต้น
หากสังเกตตนเองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บข้อไหล่ ควรรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาเพื่อซ่อมแซมโดยเร็ว ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องสามารถช่วยรักษาที่ต้นเหตุ ไม่ต้องทนเจ็บปวดและกลับมาเคลื่อนไหวได้ดีดังเดิม