การดูแลผู้สูงอายุ

3 นาทีในการอ่าน
การดูแลผู้สูงอายุ

มนุษย์มีการพัฒนาสมบูรณ์สูงสุดเมื่ออายุ 20 – 25 ปี จากนั้นประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและอวัยวะจะเริ่มถดถอยลง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อถึงวัยสูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจ และโรคต่าง ๆ ซึ่งพบได้บ่อยกว่าในวัยอื่น ๆ


ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

1. ความเสื่อมของสติปัญญา
เนื่องจากเซลล์สมองจะน้อยลง ขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากเลือดไหลเวียนสมองน้อยลงและภาวะขาดอาหารและวิตามินบางชนิด ผู้สูงอายุจะมีความจำเสื่อม หลงลืม นอนไม่หลับ ภาวะสมองเสื่อมอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น การพลัดหลง, อุบัติเหตุ, การขาดอาหาร, การติดเชื้อ ฯลฯ


2. ภาวะซึมเศร้า
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางกาย ขาดสมรรถภาพ และขาดความเอาใจใส่จากญาติพี่น้อง ผู้ป่วยจะมีอาการหลายอย่าง ได้แก่ ความผิดปกติของการนอน ขาดความสนใจ รู้สึกผิด ขาดสมาธิ เบื่ออาหาร ถ้ามีอาการรุนแรงอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย


3. อาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้
การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอด หรือทางเดินปัสสาวะฝ่อและอักเสบ และผลข้างเคียงของการใช้ยาและรักษาหลายโรค เช่น ยาคลายเครียด ยารักษาอาการซึมเศร้า หรือยารักษาความดันบางชนิด ยาขับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมาก ก็อาจทำให้ปัสสาวะไม่ทันได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะปัสสาวะไม่สะดวกเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ


4. การหกล้ม
โดยเฉพาะเพศหญิง อัตราการหกล้มสูงถึง 30% ในแต่ละปี และสัดส่วนจะสูงขึ้นตามอายุการทรงตัวจะเสียไป และทำให้เซ่ได้ง่ายในผู้สูงอายุ ทำให้หกล้มได้ง่าย สาเหตุทำให้เกิดการหกล้ม เช่น เลือดไหลเวียนสมองน้อยลง อัมพาต ปอดบวม หัวใจขาดเลือด การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นลื่น เป็นต้น ยาและแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุเสริมที่พบได้บ่อย นอนไม่หลับปัสสาวะไม่ทัน เท้าและอาการบวมก็เป็นปัญหาได้

สาเหตุสำคัญที่สุด คือ การเสียการทรงตัวและกลัวจะหกล้ม การทรงตัวที่ผิดปกติอาจมีสาเหตุจากความเสื่อมตามอายุ โรคของระบบประสาท เช่น อัมพาต ระบบประสาทอัตโนมัติ และระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม เบาหวาน แอลกอฮอล์ ภาวะทุพโภชนาการและโรคของสมองส่วนที่ควบคุมการทรงตัว ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่าจากการใช้ยาบางชนิด หรือเกิดภายหลังการนอนที่นานเกินไป ภาวะทางจิต เช่น ความเครียดหรือซึมเศร้าก็อาจมีส่วนเช่นกัน

การล้มเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะทุพพลภาพที่สำคัญของผู้สูงอายุและอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้ การป้องกันการล้มโดยการจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้าน การใช้อุปกรณ์ในการช่วยการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม การรักษาโรคกระดูกและข้อ และรักษาโรคทางกายต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดการหกล้มเป็นสิ่งจำเป็น ผู้สูงอายุทุกคนควรได้รับการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดการหกล้มอย่างสม่ำเสมอและได้รับการฝึกใช้อุปกรณ์ช่วยเดินในกรณีที่จำเป็น


5. การเคลื่อนไหวลำบาก
เนื่องจากการปวดอ่อนแอ การเสียการทรงตัว และปัญหาทางจิต ทำให้ผู้สูงอายุต้องนอนอยู่เฉย ๆ ภาวะทุพโภชนาการ ความผิดปกติของเกลือแร่ โลหิตจาง ระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อ นอกจากนี้อาจมีสาเหตุร่วมจากโรคทางข้อ เช่น รูมาตอยด์ เกาต์ โรคพาร์กินสัน และยารักษาโรคจิต อาการเจ็บปวดจากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากเคลื่อนไหวได้


6. ผลกระทบจากการใช้ยา
ด้วยเหตุผลหลายประการ ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสจะมีผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่าคนทั่วไป 2 – 3 เท่า การกำจัดของเสียในร่างกายช้าลงมาก เนื่องจากการทำงานของไตและตับเสื่อมลง การตอบสนองต่อยาก็ต่างจากคนทั่วไป เช่น ไวต่อตระกูลฝิ่นและยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยสูงอายุอาจมีภาวะผิดปกติหลายอย่างจึงมีโอกาสได้รับยาหลายขนาน ทั้งที่แพทย์สั่งและซื้อกินเอง โอกาสเกิดผลข้างเคียงจึงมากขึ้น ดังนั้นการเลือกใช้ยาเท่าที่จำเป็นและอย่างเหมาะสมจึงจำเป็นมากเพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียดังกล่าว

 

โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

  • โรคอ้วน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคข้อเสื่อม
  • โรคหัวใจขาดเลือด
  • โรคสมองเสื่อม
  • โรคซึมเศร้า
  • อาการวิตกกังวลและนอนไม่หลับ
  • โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ท้องอืด ท้องผูก


จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุมีปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องได้รับการดูแล ดังนั้นผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจสมรรถภาพร่างกายผู้สูงอายุ (Geriatric Assessment) และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อพบโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ควรรับการตรวจรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเหมาะสมกับวัย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์

ชั้น 1 อาคาร R

เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.00 - 15.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด