กรดไหลย้อนที่คิดว่าใช่ แท้จริงอาจเป็นไส้เลื่อนกะบังลม

4 นาทีในการอ่าน
กรดไหลย้อนที่คิดว่าใช่ แท้จริงอาจเป็นไส้เลื่อนกะบังลม

เมื่อมีอาการแสบร้อนที่หน้าอกหลายคนมักคิดถึงอาการของโรคกรดไหลย้อน (GERD) ทั้งที่ความจริงแล้วยังมีอีกโรคหนึ่งที่มีอาการใกล้เคียงกัน มักพบร่วมกัน แต่หลายคนอาจมองข้ามไป นั่นก็คือ ไส้เลื่อนกะบังลม โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาโรคอ้วน สูบบุหรี่ การมีอายุที่มากขึ้น หรือเป็นโรคกรดไหลย้อนที่รักษาไม่หาย หากไม่รีบรักษาอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น กระเพาะบิดพัน (Gastric Volvulus) และอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าว การพบแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจวินิจฉัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้รับมือกับไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal Hernia) ได้ทันท่วงที 

 

รู้จักไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal Hernia)

กะบังลมเป็นอวัยวะที่กั้นอวัยวะภายในช่องอกและช่องท้องออกจากกัน ซึ่งโดยปกติจะมีช่องเล็ก ๆ ให้หลอดอาหารลอดผ่านจากทรวงอกลงสู่กระเพาะในช่องท้องเพื่อย่อยอาหาร นอกจากนี้กะบังลมยังมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหารที่อยู่บริเวณทรวงอกได้ การเกิดไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal Hernia) เป็นภาวะที่ช่องดังกล่าวมีขนาดใหญ่ขึ้น มีผลทำให้อวัยวะในช่องท้องอย่างกระเพาะอาหารส่วนบนสามารถเลื่อนขึ้นมาอยู่บริเวณทรวงอกผ่านทางช่องโหว่ของกะบังลม เมื่อเป็นไส้เลื่อนกะบังลมจึงส่งผลให้มีอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อน และอาจร้ายแรงถึงขั้นอวัยวะที่เข้าไปในทรวงอกเกิดขาดเลือด อุดตัน และมีเน่าแตกทะลุได้


ไส้เลื่อน, ไส้เลื่อนกระบังลม, กรดไหลย้อน

ปัจจัยเสี่ยงไส้เลื่อนกะบังลม

สาเหตุของไส้เลื่อนกะบังลมนั้นไม่ปรากฏชัดเจน แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนกะบังลม ได้แก่ ภาวะที่มีการเพิ่มความดันในช่องท้องมากขึ้นหรือภาวะที่หูรูดอ่อนแอลง ได้แก่

  • บาดเจ็บบริเวณกะบังลม เช่น อุบัติเหตุ
  • ภาวะตั้งครรภ์ 
  • อ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์ จะพบไส้เลื่อนมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า 
  • สูบบุหรี่
  • ไอเรื้อรัง 
  • การเบ่งขณะขับถ่าย
  • อายุเกิน 50 ปี เนื่องจากความเสื่อมตามวัย

อาการไส้เลื่อนกะบังลม

อาการไส้เลื่อนกะบังลมระยะแรก อาจจะไม่แสดงอาการ หรือตรวจพบจากการตรวจสุขภาพ  หากไม่แสดงอาการที่ส่งผลกระทบกับร่างกาย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยส่วนมากจะมาพบแพทย์ด้วยอาการของกรดไหลย้อน โดยอาการที่พบบ่อย คือ
  • แสบร้อนที่หน้าอก อาการจะรุนแรงเมื่อนอน ก้มตัว หรืองอตัว
  • เรอกินเปรี้ยวในลำคอ
  • สะอึกบ่อยหลังทานอาหาร
  • เจ็บคอ
บางครั้งอาจจะมาด้วยอาการที่ใกล้เคียงกับโรคอื่นได้ เช่น
  • หอบหืด
  • ไอเรื้อรัง
  • กลืนลำบาก
  • เจ็บหน้าอก
ซึ่งจำเป็นต้องตรวจอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคได้อย่างถูกต้อง

ตรวจเช็กไส้เลื่อนกะบังลม

ผู้ป่วยมักมีประวัติอาการคล้ายกรดไหลย้อน หลายคนกินยารักษากรดไหลย้อนแล้วอาการไม่ทุเลา และมักต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น
  • การส่องกล้องทางเดินอาหาร (Endoscopy)
  • การกลืนแป้งและ X – ray (Upper GI Study) เพื่อดูตำแหน่งและการทำงานของหลอดอาหาร
  • การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Abdominal Scan)
  • การดูการหดรัดตัวกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร (Esophageal Manometry)

รักษาไส้เลื่อนกะบังลม

การรักษาไส้เลื่อนกะบังลมในระยะแรกที่อาการไส้เลื่อนเป็นไม่มาก อาจรักษาอาการของกรดไหลย้อน ด้วยการทานยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการติดตามอาการจากแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิด ได้แก่

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น

  • 1.1 การรับประทานอาหาร 
    • ทานอาหารมื้อละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ และเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
    • หลีกเลี่ยงการทานอาหารแล้วนอนทันที ควรรอประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
    • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน บุหรี่ หมากฝรั่ง
    • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ของทอด รสเผ็ด รสเปรี้ยว
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย เช่น เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ๆ ถั่ว ช็อกโกแลต เป็นต้น
  • 1.2 ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • 1.3 พฤติกรรมการนอน
    • ทานอาหารเสร็จทิ้งระยะเวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
    • นอนยกหัวไหล่สูงหรือนอนตะแคงซ้าย                

2. การรับประทานยา ได้แก่ ยาลดกรด ยากระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและหูรูดหลอดอาหาร เป็นต้น

3. การผ่าตัดไส้เลื่อนกะบังลม ในกรณีที่การรักษาเบื้องต้นดังกล่าวไม่ดีขึ้น หรือเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้ จำเป็นต้องผ่าตัดรักษา ในอดีตแพทย์จะทำการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยจะมีแผลยาวกลางหน้าท้องขนาดใหญ่และเจ็บแผลหลังผ่าตัด แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) เข้ามามีบทบาทในการผ่าตัด โดยเข้าไปเย็บซ่อมช่องบริเวณกะบังลมให้แคบลงและอาจเย็บกระเพาะอาหารเพื่อลดกรดไหลย้อนร่วมด้วย (Fundoplication) ด้วยการผ่าตัดวิธีนี้รอยแผลหลังผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก 5 – 10 มิลลิเมตร ผู้ป่วยจึงเจ็บปวดน้อยลงและสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ลดอัตราการติดเชื้อ และในรายที่ช่องไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่ แพทย์จะใช้ตาข่ายชนิดพิเศษเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่ทำให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออกมาอีกด้วย ซึ่งช่วยลดอัตราการกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำได้ 


ผ่าตัดผ่านกล้องรักษาไส้เลื่อนกะบังลม

การผ่าตัดไส้เลื่อนกะบังลมผ่านกล้องส่องผนังหน้าท้องจำเป็นจะต้องใช้ทีมศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง เนื่องจากบริเวณนี้อยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญ ได้แก่ เส้นเลือดใหญ่และเส้นประสาทขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งใช้กล้องความชัดระดับเทคโนโลยี 4K Ultra High Definition ช่วยให้ศัลยแพทย์มองเห็นอวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้อง เส้นเลือด และเส้นประสาทขณะเลาะพังผืดได้ชัดเจน ทำให้การผ่าตัดแก้ไขมีความถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย ผู้ป่วยกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เร็ว 

 

เพราะไส้เลื่อนกะบังลมเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่หากเป็นโรคนี้อาจส่งผลกระทบกับหลอดอาหารจากภาวะกรดไหลย้อน ไม่ว่าจะเป็นแผลที่หลอดอาหาร หลอดอาหารตีบแคบ หลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง และอาจร้ายแรงถึงขั้นมะเร็งหลอดอาหารได้ การสังเกตอาการกรดไหลย้อนที่เกิดขึ้น รวมทั้งอาการผิดปกติต่าง ๆ แล้วรีบพบแพทย์ผู้ชำนาญการทันทีจะช่วยให้ตรวจเช็กสุขภาพทันเวลา ทำการรักษาได้โดยเร็ว กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง


References

1 Guidelines for the Management of Hiatal Hernia

sages.org/publications/guidelines/guidelines-for-the-management-of-hiatal-hernia

2 GERD: Presence and Size of Hiatal Hernia Influence Clinical Presentation, Esophageal Function, Reflux Profile, and Degree of Mucosal Injury. Am Surg. 2018 Jun 1;84(6):978-982.

3 Effect of hiatal hernia on proximal oesophageal acid clearance in gastro-oesophageal reflux disease patients. Aliment Pharmacol Ther. 2006 Mar 15;23(6):751-7.

4 Esophageal hiatal hernia: risk, diagnosis and management. Expert Rev Gastroenterol Hepatol. 2018 Apr;12(4):319-329.

5 Modern diagnosis and treatment of hiatal hernias. Langenbecks Arch Surg. 2017 Dec;402(8):1145-1151.

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ชนินทร์ ปั้นดี

ศัลยศาสตร์

นพ. ชนินทร์ ปั้นดี

ศัลยศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด