หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของแอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) และมักเข้าใจว่าช่วยในการลดน้ำหนัก ทั้งที่ประโยชน์ของแอลคาร์นิทีนที่มีผลยืนยันทางวิทยาศาสตร์คือ ช่วยลดมวลไขมัน เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และลดความเหนื่อยล้า ดังนั้นการทำความเข้าใจว่าแอลคาร์นิทีนคืออะไรและมีประโยชน์กับร่างกายอย่างไรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เลือกรับประทานได้อย่างเหมาะสม
รู้จัก L-Carnitine
แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เป็นสารที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองที่ตับและไตจากกรดอะมิโน 2 ตัวที่มีชื่อว่า Lysine และ Methionine ซึ่งร่างกายนำไปใช้ในกระบวนการดึงไขมันเข้าไปสร้างเป็นพลังงาน แอลคาร์นิทีนจึงมีบทบาทสำคัญต่อขบวนการสลายกรดไขมันในร่างกาย และร่างกายยังได้รับแอลคาร์นิทีนจากการรับประทานอาหารจำพวกกลุ่มเนื้อแดง ถั่ว อะโวคาโดได้ด้วย
งานวิจัยของ The Journal of Sports Medicine and Physical Fitness ได้ศึกษาประสิทธิภาพของแอลคาร์นิทีนในผู้หญิงน้ำหนักมาก โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบกัน 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ยาหลอก กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานแอลคาร์นิทีน กลุ่มที่ 3 ออกกำลังกายและทานยาหลอก กลุ่มที่ 4 ให้ออกกำลังกายร่วมกับรับประทานแอลคาร์นิทีน และติดตามผลที่ 8 สัปดาห์พบว่า ในกลุ่มที่มีการออกกำลังกายแบบแอโรบิกและทานแอลคาร์นิทีนวันละ 2 กรัม สามารถลดการอักเสบในร่างกาย (hs-CRP) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีการศึกษาให้รับประทานวันละ 2 กรัม ในกลุ่มคนสูงอายุและติดตามผลพบว่า ปริมาณของกล้ามเนื้อมากขึ้นและไขมันลดลง และยังลดความอ่อนล้าของร่างกายลง
แอลคาร์นิทีนนับเป็นสารที่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยมากและให้ประสิทธิภาพสูง หากใช้ควบคู่กับการออกกำลังกาย โดยควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 40 – 50 นาทีขึ้นไปจึงจะช่วยสลายไขมันได้ โดยในนักกีฬาหรือคนที่กินแอลคาร์นิทีนเสริมสำหรับการเล่นกีฬาเพื่อช่วยในการสลายไขมันและช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อดีขึ้น ควรจะต้องหยุดใช้เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักบ้างอย่างน้อยเดือนละ 1 สัปดาห์และไม่ควรใช้ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
เสริม L-Carnitine
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมแอลคาร์นิทีนได้รับความสนใจในวงกว้าง ซึ่งชนิดของแอลคาร์นิทีนที่นำมาใช้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่- แอลคาร์นิทีน (LC) ค่อนข้างนิยมใช้อย่างแพร่หลาย
- แอลอะซิทิลคาร์นิทีน [L-Acetylcarnitine (LAC)] เป็นรูปแบบเดียวที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) และโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของสมองอื่น ๆ
- แอลโพรพิโอนิลคาร์นิทีน [L-Propionylcarnitine (LPC)] มีประสิทธิภาพ ใช้ได้ผลดีกับโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดตามแขนขา (Peripheral Vascular Disease-PVD) ที่มีสาเหตุจากเบาหวานหรือเส้นเลือดแข็ง
แม้แอลคาร์นิทีนจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากรับประทานมากเกินไปก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน มีงานวิจัยระบุว่า การรับประทานแอลคาร์นิทีนมากถึง 5 กรัม หรือ 5,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือมากกว่าอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อยากอาหารเพิ่มขึ้น มีกลิ่นตัว มีผื่นแดง เป็นต้น
ดังนั้นสิ่งที่ควรตระหนักไว้เสมอคือ การลดน้ำหนัก คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้อง แอลคาร์นิทีนเป็นสารที่ช่วยทำให้ร่างกายสามารถดึงไขมันไปสร้างเป็นพลังงาน ซึ่งร่างกายสร้างได้เองและได้รับจากการรับประทานอาหารดังที่กล่าวไปตอนต้น ดังนั้นแล้วเราไม่สามารถทราบปริมาณแน่นอนของแอลคาร์นิทีนที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน การปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการก่อนรับประทานแอลคาร์นิทีนย่อมช่วยให้สามารถรับประทานได้เหมาะสมและเกิดประโยชน์กับร่างกายอย่างแท้จริง
ที่มา :
- Deane CS1,2,3, Wilkinson DJ1, Phillips BE1, Smith K1, Etheridge T3, Atherton PJ4. “Nutraceuticals” in relation to human skeletal muscle and exercise. Am J Physiol Endocrinol Metab. 2017 Apr 1;312(4):E282-E299. doi: 10.1152/ajpendo.00230.2016. Epub 2017 Jan 31.
- Malaguarnera M, Gargante MP, Russo C, Antic T, Vacante M, Malaguarnera M, Avitabile T, Li Volti G, Galvano F. L-carnitine supplementation to diet: a new tool in treatment of nonalcoholic steatohepatitis – a randomized and controlled clinical trial. Am J Gastroenterol 2010; 105: 1338–45.
- Stuessi C, Hofer P, Meier C, et al. L: -Carnitine and the recovery from exhaustive endurance exercise: a randomised, double-blind, placebo-controlled trial. Eur J Appl Physiol. 2005 Sep 29
- Rafraf M1, Karimi M, Jafari A. Effect of L-carnitine supplementation in comparison with moderate aerobic training on serum inflammatory parameters in healthy obese women. J Sports Med Phys Fitness. 2015 Nov;55(11):1363-70. Epub 2015 Jan 20.
- http://www.lovefitt.com/healthy-fact