ไทรอยด์หรืออ้วน เข้าใจให้ถูกก่อนเริ่มรักษา

2 นาทีในการอ่าน
ไทรอยด์หรืออ้วน เข้าใจให้ถูกก่อนเริ่มรักษา

เวลาที่น้ำหนักขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ตัวบวม รู้สึกอ้วนอึดอัด หลายคนมักสงสัยว่าเกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติหรือเป็นโรคอ้วนกันแน่ ดังนั้นการพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กและทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อนเริ่มรักษาจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะได้ทราบต้นเหตุที่แท้จริงและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี

ไทรอยด์กับความอ้วน

ไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่มีความสำคัญในการควบคุมการเผาผลาญและรักษาอุณหภูมิของร่างกาย หากไทรอยด์ทำงานผิดปกติย่อมส่งผลให้ระบบในร่างกายทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งโรคไทรอยด์มีหลายชนิด แต่ที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนที่ส่งผลกับระบบการเผาผลาญเป็นหลัก มี 2 ชนิด ได้แก่

  1. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroid) คือ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาน้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนจึงเผาผลาญน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการบวม อ้วนง่าย เพลียง่าย ง่วงบ่อย ผิวแห้ง หนาวง่าย เป็นต้น
  2. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) หรือไทรอยด์เป็นพิษ คือ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนมากเกินไปจึงเผาผลาญมากกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำหนักลดลง หิวง่าย กินเยอะแต่ไม่อ้วน เหนื่อยง่าย ขับถ่ายบ่อย มือสั่น ใจสั่น ร้อนง่าย เป็นต้น

ดังนั้นภาวะต่อมไทรอยด์ที่มีความสัมพันธ์กับความอ้วนจะเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroid) เนื่องจากระบบเผาผลาญทำงานลดลงส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอ้วนต้องมีภาวะไทรอยด์เสมอไปและในผู้ที่ลดน้ำหนักมากเกินไปไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะไทรอยด์ 

นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่สามารถพบได้อย่างก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เนื้องอกต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์อักเสบจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ต่อมไทรอยด์โต จึงควรสังเกตอาการไทรอยด์เบื้องต้นด้วยตัวคุณเอง คลิก https://www.bangkokhospital.com/content/10-thyroid-disease-signs


ตัวการไทรอยด์

มีหลากหลายสาเหตุในการเกิดภาวะไทรอยด์ ได้แก่

  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ จึงเข้าไปกระตุ้นการทำงานของไทรอยด์ ทำให้ไทรอยด์ทำงานเยอะเกินไปหรือทำงานน้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย
  • คุณแม่หลังคลอดบุตรอาจมีภาวะไทรอยด์อักเสบหลังคลอด
  • พันธุกรรมจากคนในครอบครัว
  • ยาบางชนิดส่งผลให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เช่น ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือยารักษามะเร็งบางตัว
  • ภาวะขาดไอโอดีน

ไทรอยด์หรืออ้วน เข้าใจให้ถูกก่อนเริ่มรักษา

ตรวจวินิจฉัยไทรอยด์

  • ซักประวัติ
  • ตรวจร่างกาย
  • คลำดูต่อมไทรอยด์ 
  • ตรวจเลือดเพื่อดูระดับไทรอยด์ฮอร์โมนและไทรอยด์แอนติบอดี
  • ตรวจอัลตราซาวนด์
  • ตรวจชิ้นเนื้อไทรอยด์ (Fine Needle Biopsy)

รักษาภาวะไทรอยด์

การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญได้แก่

  • กรณีที่ไทรอยด์ทำงานผิดปกติสามารถรับประทานยาเพื่อปรับให้ไทรอยด์ทำงานปกติได้
  • ถ้ามีถุงน้ำในไทรอยด์ใช้รักษาโดย Aspiration หรือการทำ Percutaneous Ethanol Injection 
  • ถ้าเป็นมะเร็งไทรอยด์จำเป็นต้องผ่าตัดไทรอยด์ออก

ป้องกันไทรอยด์

  • กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารทะเลที่มีไอโอดีน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดูแลใจไม่ให้เครียด 

หากป่วยเป็นไทรอยด์แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาอาจทำให้อาการรุนแรงเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือร้ายแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ จึงควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษาไทรอยด์ให้หายโดยเร็วที่สุด 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ณัฐนนท์ มณีเสถียร

อายุรศาสตร์เวชศาสตร์ครอบครัว

อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
นพ. ณัฐนนท์ มณีเสถียร

อายุรศาสตร์เวชศาสตร์ครอบครัว

อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ

ชั้น 2 อาคาร โรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์ – ศุกร์ 7.00 - 16.00 น.

เสาร์ – อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ 7.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด