ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่มีอาการเรื้อรังมานาน รักษาไม่หาย หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา รวมถึงไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของการใช้ยาได้ การกระตุ้นสมองโดยใช้หลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) คืออีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยรักษาให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
กระตุ้นสมองด้วย TMS
Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) คือ การกระตุ้นสมองโดยใช้หลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เริ่มมีรายงานการใช้กับสมองมนุษย์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 เป็นวิธีการรักษาใหม่ทางจิตเวชที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายอมรับว่าสามารถรักษาโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา (Treatment – Resistant Depression) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 หลังจากนั้นมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในต่างประเทศ และได้รับการยอมรับในการช่วยรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder; OCD) และช่วยลดความอยากบุหรี่สำหรับผู้ที่ต้องการหยุดบุหรี่ (Smoking Cessation)
ซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา
ในทางปฏิบัติผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักได้รับการรักษาด้วยยา แต่มีผู้ป่วยจำนวน 1 ใน 3 เท่านั้นที่หายจากโรคได้จากยาต้านเศร้าตัวแรก (Antidepressants) แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการปรับเปลี่ยนยาและทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ร่วมด้วย ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ทนทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถือว่าเป็นโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา (Treatment – Resistant Depression) และ TMS มีบทบาทอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้
นอกจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ดื้อต่อการรักษาจะต้องเผชิญกับอาการของโรคซึมเศร้าแล้ว ผู้ป่วยยังพลาดโอกาสต่าง ๆ ในชีวิต เช่น พลาดการพบเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ พลาดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างหรือคนในครอบครัว ไม่สามารถแสดงศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ การงานหรือการเรียนอาจจะมีปัญหาตามมา ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไรโอกาสที่ผู้ป่วยจะฟื้นตัวจากโรคและจากสถานการณ์ในชีวิตก็จะยากขึ้นเท่านั้น
ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพจึงใช้ TMS กระตุ้นสมองในส่วนที่จำเพาะต่อการรักษา เพื่อลดอารมณ์เศร้า ความกังวล เพิ่มแรงจูงใจ ลดความคิดอยากตาย และเพิ่มความจำในผู้ป่วยกลุ่มนี้ นอกจากนั้น TMS ยังมีผลข้างเคียงต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายน้อยมากเมื่อเทียบกับการรับประทานยา ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ถูกรบกวนด้วยผลข้างเคียง
รักษาด้วย TMS
วิธีการรักษาด้วย Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการกระตุ้นด้วย TMS ครั้งละประมาณ 30 นาที เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ และต้องทำการรักษานาน 4 – 6 สัปดาห์ โดยก่อนเข้ารับการรักษาแพทย์จะทำการประเมินตัวโรค การรักษาที่ผ่านมา ข้อควรระวังหรือข้อห้ามในการรักษา การหาตำแหน่งที่ใช้ในการกระตุ้นบนศีรษะ การปรับค่าการกระตุ้น รวมถึงอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และมีการประเมินเป็นช่วง ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดการรักษา
ผลข้างเคียง TMS
การรักษาด้วย Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) มีผลข้างเคียงต่ำ ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยบริเวณหนังศีรษะที่ได้รับการกระตุ้นหรือปวดศีรษะ แต่อยู่ในระดับที่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยทนได้ ซึ่งอาการจะทุเลาได้โดยการกินยาแก้ปวด และอาการเหล่านี้จะลดลงเรื่อย ๆ โดยแพทย์จะติดตามอาการและปรับค่าของการกระตุ้นเพื่อช่วยลดอาการข้างเคียง แต่ยังคงได้ผลต่อการรักษา ผลข้างเคียงที่รุนแรงของ TMS คือ ชัก ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตามก่อนการรักษาด้วย TMS แพทย์จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงในการเกิดการชักในผู้ป่วยทุกราย กรณีที่มีความเสี่ยงถือเป็นข้อห้ามในการรักษาด้วย TMS
หลายคนสงสัยว่า Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) คือ การรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT) หรือเรียกง่าย ๆ ว่าการช็อตไฟฟ้า แม้ว่าทั้งสองวิธีจะเป็นการรักษาด้วยการกระตุ้นสมอง แต่การรักษาด้วย TMS ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงด้านความจำบกพร่อง ทั้งยังช่วยส่งเสริมเรื่องความจำ ไม่มีการดมยาสลบ และไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล