อันตรายจากแสงสีฟ้าเพิ่มความเสี่ยงโรคตา

3 นาทีในการอ่าน
อันตรายจากแสงสีฟ้าเพิ่มความเสี่ยงโรคตา

ในยุค COVID-19 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทุกเพศทุกวัยใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์กันแทบทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นเรียนออนไลน์ ประชุมออนไลน์ ช็อปปิงออนไลน์ แชทไลน์ ผ่านทางคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ซึ่งมีแสงสีฟ้าออกมาจากหน้าจอของอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนั้นการรู้จักแสงสีฟ้าและดูแลป้องกันให้ถูกวิธีจะช่วยให้ห่างไกลจากโรคตาที่ไม่คาดคิด

รู้จักกับแสงสีฟ้า

แสงที่มนุษย์ทุกคนสามารถมองเห็นได้อยู่ในช่วงแสงสีขาว ซึ่งแสงขาวแบ่งได้ 7 สี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง ซึ่งแต่ละสีมีความยาวคลื่นและพลังงานแตกต่างกัน แสงที่เรามองเห็นได้จะอยู่ที่ช่วงความยาวคลื่นประมาณ 400 – 700 nm โดยแสงสีฟ้าอยู่ที่ช่วงประมาณ 400 – 500 nm ซึ่งแสงสีฟ้าเป็นแสงที่มีพลังงานสูงใกล้เคียงรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) อีกด้วย


ที่มาของแสงสีฟ้า

ในชีวิตประจำวันการหลบเลี่ยงจากแสงสีฟ้าอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแสงสีฟ้ามีทั้งเกิดจากแหล่งพลังงานธรรมชาติ และจากสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ แต่จะมีปริมาณความเข้มข้นของแสงสีฟ้าแตกต่างกันไป ได้แก่

  • แหล่งพลังงานธรรมชาติ เช่น ดวงอาทิตย์ (แสงแดด) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแสงจากธรรมชาติที่มีปริมาณของแสงที่มีความเข้มมากที่สุด
  • อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น หลอดไฟ LED ตามบ้านเรือน หรือแม้แต่ไฟหน้ารถและท้ายรถ อุปกรณ์ดิจิทัลเช่น จอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต

ผลกระทบจากแสงสีฟ้า

ในแต่ละวันเราสามารถเจอแสงสีฟ้าได้ตลอดเวลา ทั้งจากแสงแดดตามธรรมชาติและจากแหล่งกำเนิดแสงต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ความเป็นจริงผลกระทบจากแสงสีฟ้าต่อร่างกายมีทั้งผลดีและผลเสียหากใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่เหมาะสม

  • เปลี่ยนนาฬิกาชีวิต โดยธรรมชาติแสงสีฟ้ามีผลต่อ Circadian Rhythm หรือนาฬิกาชีวิตที่ทำให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ  ช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกมา ทำให้กระฉับกระเฉง รู้เวลานอน รู้เวลาตื่น แต่หากได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอในเวลากลางคืนช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระบบนี้จะถูกรบกวนส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นลำบาก จนรู้สึกว่าร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ และอาจส่งผลกระทบกับงานหรือชีวิตประจำวันได้
  • ทะลวงอวัยวะ ด้วยเหตุที่แสงสีฟ้ามีพลังงานสูง  เมื่อเทียบกับความยาวคลื่นของแสงในช่วงอื่น ๆ จึงสามารถทะลุทะลวงอวัยวะอย่างดวงตา ตั้งแต่กระจกตา เลนส์ตา ไปจนถึงจอตาที่อยู่ลึกเข้าไปและเป็นส่วนสำคัญในการมองเห็น ก่อให้เกิดอันตรายจากแสงสีฟ้า (Blue Light Hazard) 
  • เมื่อยล้า ปวดตา แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล ตาพร่ามัว มักเป็นในคนที่ทำงานหรือใช้หน้าจอเป็นเวลานาน หรือรวมเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Computer Vision Syndrome ซึ่งอาจเกิดจากดวงตาได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจออย่างต่อเนื่อง คลื่นแสงที่มีพลังงานสูง อาจทำลายเซลล์ผิวกระจกตาและเยื่อบุตา บวกกับการสั่นกระพริบของหน้าจอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อลูกตาทำงานหนักมากขึ้นในการปรับโฟกัสภาพ การที่แสงจากหน้าจอที่ไม่พอเหมาะและความไม่คมชัดของตัวอักษรบนหน้าจอ ทำให้ต้องเพ่งมากขึ้นและกะพริบตาน้อยลง ทำให้เกิดอาการตาแห้ง 
  • จอประสาทตาอาจเสื่อม เนื่องจากแสงสีฟ้าสามารถทะลุเข้าไปและทำลายเซลล์รับแสงในจอตา อาจทำให้การมองเห็นส่วนกลางแย่ลงได้ แต่ยังมีเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองและในห้องปฏิบัติการที่พบการถูกทำลายของเซลล์รับแสงในจอตา ยังไม่ยืนยันแน่นอนว่าเป็นสาเหตุของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age – Related Macular Degeneration)

อันตรายจากแสงสีฟ้าเพิ่มความเสี่ยงโรคตา

ดูแลดวงตาให้ถูกวิธี

  1. พักสายตาระหว่างใช้หน้าจอ โดยใช้หลัก “20 – 20 – 20” คือ การละสายตาและมองไกลออกไประยะ 20 ฟุต ทุก 20 นาทีเป็นเวลา 20 วินาทีจะช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าของตาได้
  2. ปรับระยะห่างระหว่างตากับหน้าจอให้อยู่ประมาณ 25 นิ้ว
  3. ติดฟิล์มลดแสงหรือกรองแสงที่หน้าจอ
  4. ปรับแสงสว่างภายในห้องและหน้าจอให้เหมาะสม
  5. หลีกเลี่ยงการใช้สายตาในบริเวณที่มีลมเป่าตาโดยตรง ซึ่งทำให้เกิดอาการตาแห้งและตาเมื่อยล้าได้ง่าย
  6. ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเป็นระยะเมื่อรู้สึกตาแห้ง
  7. ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดสายตาและตรวจสุขภาพตา

แว่นกรองแสงสีฟ้าจำเป็นหรือไม่?

แว่นกรองแสงสีฟ้าช่วยลดแสงสีฟ้าเข้าสู่ดวงตาได้ แต่อาจไม่ได้มีความจำเป็นที่สุด เพราะแสงทุกคลื่นสีก็มีอันตรายต่อดวงตาเช่นกัน การทดสอบแว่นกรองแสงสีฟ้าทำได้ค่อนข้างยาก ไม่สามารถมองแล้วรู้ได้เลยว่ากรองแสงสีฟ้าได้จริงหรือไม่ ซึ่งการพิสูจน์จะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะและไม่สามารถหาได้โดยทั่วไป ดังนั้นเพียงแค่การจัดสภาพแวดล้อมและปรับพฤติกรรมการใช้สายตาอย่างเหมาะสมก็สามารถช่วยป้องกันอันตรายและช่วยรักษาสุขภาพตาของเราได้


แสงสีฟ้าจากหน้าจอเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอดหรือไม่?

แม้จะมีการเผยแพร่ข้อมูลจากหลายรายงานการวิจัยยืนยันภัยอันตรายจากแสงสีฟ้า (Blue Light Hazard) ที่มีต่อดวงตาส่วนต่าง ๆ แต่ระดับความรุนแรงอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปริมาณหรือความเข้มของแสงสีฟ้าที่ดวงตาได้รับ ระยะห่างจากแหล่งกำเนิดแสง หรือระยะเวลาที่ได้รับแสงสีฟ้า อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนว่า การได้รับแสงสีฟ้าในการใช้งานปกติในชีวิตประจำวันจะทำให้เกิดการทำลายดวงตาที่รุนแรงและถาวรหรือถึงขั้นตาบอด


 

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ

จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.

เสาร์ 08.00 - 17.00 น

อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด