เบาหวานขึ้นตา ดูแลให้ดีก่อนสูญเสียการมองเห็น

3 นาทีในการอ่าน
เบาหวานขึ้นตา ดูแลให้ดีก่อนสูญเสียการมองเห็น

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อย ปัจจุบันพบผู้ป่วยเบาหวานกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก สำหรับในประชากรไทยพบผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 3.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ และจำนวนผู้ป่วยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกประเทศทั่วโลก 


โรคเบาหวาน

เบาหวานเกิดจากการที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ซึ่งสาเหตุมาจากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเซลล์ร่างกายไม่ตอบสนองอย่างเหมาะสมต่ออินซูลินที่ร่างกายผลิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายรวมถึงดวงตา


รู้จักเบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่อาจเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ในที่สุด โดยเกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดที่จอตา (Retina) ได้รับความเสียหาย 


ระยะของเบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตาแบ่งเป็น 2 ระยะตามความรุนแรงของโรค ได้แก่

  1. เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรกหรือระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy: NPDR) เป็นระยะที่ผนังหลอดเลือดที่จอตาไม่แข็งแรง ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง อาจทำให้เลือดหรือของเหลวรั่วออกมาในจอตา ทำให้เกิดจอตาบวม ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หากเกิดหลอดเลือดรั่วบริเวณจุดภาพชัด (Macula) จะทำให้เกิดจุดภาพชัดบวม (Macular Edema) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการมองเห็น  หากมีการอุดตันของหลอดเลือด อาจทำให้เกิดจอตาหรือจุดภาพชัดขาดเลือด (Macular Ischemia) ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้
  2. เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า หรือระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เป็นระยะที่หลอดเลือดเกิดการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ มีการขาดเลือดที่จอตามากจนเกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม มีผนังไม่แข็งแรง เปราะแตกฉีกขาดได้ง่าย ทำให้มีเลือดออกในวุ้นตา เกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาลอก (Retinal Detachment) ตามมาได้ หรือถ้าหากเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นไปรบกวนการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตาและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อหิน (Neovascular Glaucoma) ได้

อาการเบาหวานขึ้นตา

ในระยะแรกของเบาหวานขึ้นตาอาจจะไม่มีอาการหรือความผิดปกติในการมองเห็น ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและละเลยการตรวจตา แต่มารู้ตัวอีกทีเมื่อเบาหวานเริ่มขึ้นตาแล้ว ซึ่งอาจพบอาการต่าง ๆ เช่น

  • มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • ตามัว การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่
  • แยกแยะสีได้ยากขึ้น
  • เห็นภาพมืดเป็นบางจุด
  • สูญเสียการมองเห็น
***แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติเลยแม้อยู่ในระยะรุนแรงแล้วก็ตาม

ตรวจวินิจฉัยเบาหวานขึ้นตา

ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาและขยายม่านตาตรวจจอตาแม้ไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็นเพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หลังการขยายม่านตาตรวจจอตาผู้ป่วยอาจมีอาการตามัวเป็นเวลา 4 – 6 ชั่วโมง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเองในช่วงเวลาดังกล่าว ควรมีญาติไปด้วย หากไม่พบความผิดปกติควรตรวจตาและขยายม่านตาเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง กรณีที่พบเบาหวานขึ้นตาอาจได้รับการรักษาหรือได้รับการตรวจบ่อยขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของเบาหวานขึ้นตาและความรุนแรงของโรค

เบาหวานขึ้นตา ดูแลให้ดีก่อนสูญเสียการมองเห็น


รักษาเบาหวานขึ้นตา

  • การรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ หรือยังไม่มีการมองเห็นผิดปกติ อาจยังไม่จำเป็นต้องรักษาในทันที การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับน้ำตาลสะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการรักษา รวมทั้งการควบคุมโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เพื่อช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้ การตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดมากขึ้นจะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้เร็วและได้รับการรักษาได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะของโรคที่รุนแรงและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้
  • การรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า ซึ่งเป็นระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษา ซึ่งแนวทางการรักษา ได้แก่
    • การรักษาด้วยเลเซอร์ เพื่อควบคุมและรักษาการรั่วซึมของหลอดเลือด จอตาขาดเลือด และหลอดเลือดที่ผิดปกติ อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยเลเซอร์มักจะไม่ทำให้การมองเห็นดีขึ้น เพียงแค่ช่วยชะลอหรือป้องกันไม่ให้สายตาแย่ลงเท่านั้น
    • การฉีดยา Anti – Vascular Endothelial Growth Factor (Anti – VEGF) เข้าวุ้นตา เพื่อยับยั้งการเกิดของหลอดเลือดงอกใหม่ ลดการบวมของจุดภาพชัด ซึ่งจะช่วยให้การมองเห็นไม่แย่ลง หรืออาจทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้ นอกจากนี้ยากลุ่ม
      สเตียรอยด์ (Steroids) อาจเป็นยาทางเลือกในผู้ป่วยบางราย
    • การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) ในกรณีผู้ป่วยมีเลือดออกในวุ้นตามาก หรือมีพังผืดดึงรั้งจอตา ทำให้จอตาบวม จอตาหลุดลอกหรือฉีกขาด เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นถาวร

ป้องกันสูญเสียการมองเห็นจากเบาหวานขึ้นตา

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์
  • สังเกตความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นและควรไปพบจักษุแพทย์โดยด่วน หากพบว่ามีการมองเห็นเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น ตามัว มองไม่ชัด หรือมองเห็นเป็นจุดดำ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาเป็นประจำทุกปี ถึงแม้ว่าการมองเห็นจะยังคงเป็นปกติก็ตาม

 

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ

จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.

เสาร์ 08.00 - 17.00 น

อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด