หนึ่งในความเข้าใจผิดที่มักมีต่อผู้สูงอายุคือความเชื่อที่ว่า การนอนไม่หลับหรือนอนได้ไม่ดีเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ทั้งที่ความจริงแล้ว ถึงแม้ว่าอายุจะมากขึ้นแต่คนส่วนใหญ่ยังสามารถนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หากเข้าใจถึงการปรับตัวและสุขอนามัยของการนอนที่ดี
การนอนหลับเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
โดยธรรมชาติแล้วพบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของการนอนหลับเมื่ออายุมากขึ้นได้คือ จำนวนชั่วโมงในการนอนลดลงเล็กน้อย มีการตื่นระหว่างคืนมากขึ้นแต่ยังสามารถกลับไปนอนหลับต่อได้ โดยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มักพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการนอนในผู้สูงอายุ เช่น โรคประจำตัวบางชนิดที่ส่งผลต่อการนอน การต้องตื่นมาปัสสาวะหรือทานยากลางดึก การทานยาบางชนิดที่มีผลต่อการนอน บรรยากาศในบ้านพัก การไม่ได้รับแสงแดดในช่วงกลางวันที่เพียงพอ การขาดกิจกรรมในช่วงกลางวันเป็นต้น
วัยเปลี่ยนการนอนเปลี่ยน
ผู้สูงอายุบางท่านอาจไม่เคยมีปัญหาในเรื่องการนอนมาก่อน แต่เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงตามวัย ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีเหตุการณ์สำคัญหรือความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเกิดขึ้น ทำให้เกิดการนอนไม่หลับขึ้นมาครั้งแรก หลังจากนั้นจึงเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการนอน เกิดความกลัว ความไม่สบายใจ ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ความเครียดที่ต้องการนอนให้หลับในคืนนี้ ทำให้สมองเกิดการเรียนรู้และจดจำการนอนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ผ่อนคลายและไม่สบายตัว ส่งผลให้เกิดการนอนไม่หลับต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานถึงแม้ว่าเหตุการณ์อันไม่สบายใจที่เกิดขึ้นนั้นจะได้รับการแก้ไขแล้ว
โรคที่ส่งผลกับการนอน
โรคที่มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุหลายโรคที่ส่งผลต่อการนอนหรือมีอาการนอนไม่หลับเป็นอาการเริ่มของโรค จำเป็นจะต้องมาพบแพทย์ที่มีความชำนาญการเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป อาทิเช่น
- โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ
- โรคสมองเสื่อม
- โรคหัวใจ
- โรคถุงลมโป่งพอง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคกรดไหลย้อน
- ภาวะการนอนละเมอ
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข
- โรคซึมเศร้า
- โรควิตกกังวล
- ฯลฯ
นอกจากนี้การนอนไม่หลับเป็นระยะเวลานานยังส่งผลให้เกิดความเครียด อาการอ่อนเพลียระหว่างวัน อารมณ์หงุดหงิดง่าย และไม่สดชื่น อีกทั้งยังส่งผลต่อความจำ ทำให้ความจำค่อย ๆ แย่ลงและความมีเสี่ยงในการหกล้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงตามมาได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
เคล็ดลับการนอนสำหรับผู้สูงวัย
สุขอนามัยในการนอนที่ดีสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
- กำหนดเวลาในการเข้านอนและการตื่นนอนในแต่ละวันให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
- หากนอนไม่หลับหลังเข้านอนไปแล้วประมาน 20 นาที ไม่ควรนอนบนเตียงต่อ ควรลุกขึ้นมาทำกิจกรรมที่เบาและผ่อนคลาย เช่น การอ่านหนังสือ การพับผ้า เมื่อรู้สึกง่วงอีกครั้งจึงกลับไปนอนต่อ
- ใช้เตียงนอนเพื่อการนอนหรือกิจกรรมทางเพศเท่านั้น
- ผู้สูงอายุไม่ควรนอนหรืองีบในเวลากลางวัน แต่หากฝืนไม่ได้แนะนำให้งีบกลางวันได้ 10 – 15 นาทีในช่วง 8 ชั่วโมงแรกหลังตื่นนอน
- ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยงดออกกำลังกายในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนถึงเวลานอน
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
- งดสูบบุหรี่ โดยเฉพาะช่วงเย็นและช่วงค่ำ
- หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนถึงเวลานอน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนถึงเวลานอน
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายเป็นเวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน เช่น อ่านหนังสือ อาบน้ำอุ่น จัดเตรียมเสื้อผ้า จัดของใช้ส่วนตัว สวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นต้น
- ไม่ควรรับประทานยานอนหลับโดยไม่ได้พบจิตแพทย์ผู้ชำนาญการ เนื่องจากยาจะส่งผลเสียต่อสมอง ความจำแย่ลง การติดยา การดื้อยา การพลัดตกหกล้ม การเกิดอุบัติเหตุ และการบดบังอาการของโรคอันเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะนอนไม่หลับขึ้นได้
หากมีปัญหาการนอนควรพบแพทย์โดยเร็ว ไม่ควรรอให้เกิดปัญหาในการนอนเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายต่าง ๆ ตามมา อีกทั้งโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุจะไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพมีแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการและมีประสบการณ์ด้านการดูแลรักษาผู้สูงอายุโดยตรงที่สามารถให้การดูแลรักษาภาวะนี้แบบองค์รวม โดยเน้นการรักษาด้วยความจริงใจและเข้าใจผู้สูงวัยภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตรและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย