ภาวะการมีลูกยาก
ภาวะการมีบุตรยากหรือภาวะการมีลูกยาก (Infertility) หมายถึง เมื่อคู่สมรสที่มีความสัมพันธ์ทางเพศเป็นปกติเป็นเวลา 12 – 24 เดือนขึ้นไป แล้วยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยในระหว่างนี้ไม่มีการใช้การคุมกำเนิดใด ๆ ทั้งสิ้น
จากการสำรวจวิจัยคู่สมรส 100 คู่ ที่อยู่กันครบ 1 ปี มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ จะมีลูกหรือกำลังตั้งครรภ์ถึง 90 คู่ หรือคิดเป็นร้อยละ 90 เหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ยังไม่มีลูก บางคนอาจเคยมีลูกมาแล้ว มีความประสงค์อยากจะมีลูกใหม่ และได้พยายามอยู่นานเกินกว่า 1 ปี ก็ยังไม่สำเร็จ กลุ่มนี้ก็ถือว่ามีอาการภาวะมีลูกยากเช่นกัน ต้องพิจารณาตรวจหาสาเหตุ และแก้ไขรักษาตามหลักวิชา ซึ่งในปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีแขนงนี้ก้าวหน้าไปไกลมาก
การปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ตัวผู้กับไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ตัวเมียจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ เชื้ออสุจิต้องแข็งแรง จำนวนมากพอ และเคลื่อนไหวได้ดี ภรรยาต้องมีไข่ซึ่งเกิดจากรังไข่ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ทั้งก่อนและหลังไข่ตก การตกไข่ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เชื้ออสุจิจะพบกับไข่ที่ท่อนำไข่ ซึ่งต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมไม่เป็นพิษ
ตัวอ่อนที่ได้จากการผสมจะเดินทางในท่อนำไข่เข้าไปยังโพรงมดลูก ซึ่งในระหว่างทางจะแบ่งตัวและเติบโต ใช้เวลาเดินทางในท่อนำไข่ 5 – 7 วัน อยู่ในโพรงมดลูกสักระยะหนึ่งและฝังตัวในราววันที่ 7 – 9 นับแต่วันที่ปฏิสนธิ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มูกปากมดลูก ซึ่งต้องมีคุณภาพดี และปริมาณพอเหมาะ ปากมดลูก โพรงมดลูก และท่อนำไข่ ไม่มีพยาธิสภาพที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเดินทางของตัวอ่อน เช่นเดียวกับสภาพภายในมดลูกต้องไม่มีเนื้องอก เยื่อโพรง มดลูกต้องสมบูรณ์แข็งแรง และต้องหนาพอที่จะรองรับการฝังตัวและเจริญเติบ โตของตัวอ่อนได้
ต้นเหตุจากผู้ชาย
สาเหตุจากฝ่ายชายเท่าที่มีรายงานภาวะมีลูกยาก พบประมาณร้อยละ 20 – 30 ซึ่งสามารถพิสูจน์ทราบได้โดยการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ เป็นการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา หรืออาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจหา กรณีที่ผลออกมาผิดปกติ การรักษาจะข้ามขั้นตอนไปทำ “อิ๊กซี่” หรือ “เด็กหลอดแก้ว” กรณีที่ผลออกมาปกติต้องทดสอบคุณสมบัติของตัวอสุจิต่อไป โดยตรวจดูความสามารถของตัวอสุจิในมูกปากมดลูกว่าตัวอสุจิสามารถอยู่รอดและเคลื่อนไหวในมูกปากมดลูกได้หรือไม่ การทดสอบนี้จะช่วยบอกได้ว่าปัญหาอยู่ที่ปากมดลูกหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาภูมิต้านทานต่อตัวอสุจิ ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีบุตรยากปัญหาที่พบได้บ่อย ได้แก่
- จำนวนสเปิร์มน้อย
- การเคลื่อนไหวแหวกว่ายผิดปกติ
- ท่อนำเชื้อหรือท่อปัสสาวะตีบตัน
- โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
- การติดเชื้อหรือผิดปกติตั้งแต่กำเนิดในระบบสืบพันธุ์
- บางรายพบว่าสาเหตุเกี่ยวข้องกับความอ้วน ภาวะทุพโภชนา ความเครียด บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีผลต่อความแข็งแรงของเชื้ออสุจิ
ผู้ป่วยโรคต่อมไร้ท่อชนิดขาดฮอร์โมนเพศชายจะมีปัญหาการมีบุตรยากเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Klinefelter’s Syndrome ซึ่งโครโมโซมเพศจะมีลักษณะ XXY พัฒนาการของลูกอัณฑะผิดปกติ การสร้างตัวอสุจิลดน้อยลง และระดับของฮอร์โมนเพศชายลดลง
โรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดปัญหาการมีบุตรยากที่สำคัญได้แก่ โรคหนองในแท้และโรคติดเชื้อคลามัยเดีย ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ที่พบได้บ่อย การติดเชื้อทำให้ทางเดินน้ำอสุจิเกิดภาวะตีบแคบและมีผลต่อการสร้างตัวอสุจิอีกด้วย
ต้นเหตุจากผู้หญิง
สาเหตุจากฝ่ายหญิงพบได้ประมาณร้อยละ 40 – 50 การทำงานของระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด การติดเชื้อ ความผิดปกติของระบบฮอร์โมน ทำให้ไม่มีการตกไข่ ผนังมดลูกเจริญเติบโตไม่ดี พบท่อรังไข่อุดตัน พังผืด หรือเนื้องอกในมดลูก เยื่อผนังมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการตรวจคุณสมบัติของมูกปากมดลูก เช่น ตรวจความเป็นกรดด่าง การทดสอบหลังมีเพศสัมพันธ์ ตรวจการตกผลึกเป็นรูปเฟิร์นและการยืดตัวในช่วงไข่ตก รวมทั้งการเพาะเชื้อ เป็นต้น
การตรวจประเมินสภาพของมดลูก โดยการฉีดเข้าโพรงมดลูก การส่องกล้องเข้าไปดูภายในโพรงมดลูก การเจาะท้องส่องกล้องดูพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน การขูดมดลูกเพื่อตรวจสอบการตกไข่ และการทำงานของรังไข่ การตรวจสอบสภาพของปีกมดลูกเพื่อดูว่ามีการอุดตันหรือไม่ โดยการฉีดสีเข้าโพรงมดลูกและเอกซเรย์ การเจาะท้องส่องกล้องร่วมกับการฉีดสีเข้าทางปากมดลูก การฉีดลมผ่านเข้าโพรงมดลูกและให้ผ่านออกทางปีกมดลูก และการฉีดของเหลวทางปากมดลูก พร้อมกับตรวจอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด เพื่อดูการผ่านของของเหลวในปีกมดลูกเข้าไปสะสมที่อุ้งเชิงกรานส่วนต่ำสุด การประเมินสภาพของรังไข่โดยการเจาะเลือดตรวจฮอร์โมน (FSH, LH, Estradiol, Progesterone) และติดตามดูอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ทราบว่ามีการตกไข่หรือไม่ การทำงานของรังไข่ก่อนและหลังไข่ตกเป็นอย่างไร อาจตรวจโดยวิธีอ้อม เช่น การวัดอุณหภูมิกายพื้นฐาน การขูดเอาเยื่อบุโพรงมดลูกมาตรวจเพื่อดูการทำงานของรังไข่ภายหลังไข่ตก เป็นต้น
ภาวะมีลูกยากที่หาสาเหตุไม่พบ
ภาวะมีลูกยากที่หาสาเหตุไม่พบ หมายความว่า คู่สามีภรรยาที่มีลูกยากนั้นได้ทดสอบทุกวิธีกระบวนการหาสาเหตุเท่าที่จะทำได้แล้ว ไม่พบความผิดปกติทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสาเหตุจริง ๆ เมื่อมีเครื่องมือทดสอบที่ดีขึ้นก็มีโอกาสค้นหาสาเหตุได้ โดยในอดีตที่ผ่านมาหลายสิบปี อุบัติการณ์นี้จะพบประมาณร้อยละ 10 – 20 ปัจจุบันอุบัติการณ์นี้ได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5