IVF & ICSI ยากแค่ไหนก็มีลูกได้

5 นาทีในการอ่าน
หรือ
rifm-iconrifm-play-icon
ฟัง AI สรุปให้
IVF & ICSI ยากแค่ไหนก็มีลูกได้

แชร์

หนึ่งในคำถามที่พบบ่อยจากคู่สมรสที่กำลังเริ่มทำเด็กหลอดแก้วคือ ทำแล้วจะท้องในครั้งแรกเลยหรือเปล่า ถ้าเลือกตัวอ่อนที่ใส่กลับเด็กที่เกิดมาจะสมบูรณ์แข็งแรงร้อยเปอร์เซ็นต์ใช่ไหม ซึ่งการจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ต้องย้อนกลับไปที่ความรู้พื้นฐานจากการตกไข่ การปฏิสนธิของตัวอ่อน จนกระทั่งถึงการคลอด แล้วนำมาเปรียบเทียบกับขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วว่าแตกต่างอย่างไรกับขั้นตอนตามธรรมชาติ


การตกไข่

ใน 1 เดือนจะมีไข่ตก 1 ใบ และไข่ 1 ใบนี้มีโอกาสที่โครโมโซมจะแบ่งครึ่งมาพอดีหรืออาจจะไม่พอดีก็ได้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์จะทำการกระตุ้นไข่จำนวนมากเท่าที่สภาพร่างกายมีในรอบเดือนเดียว ยกตัวอย่างเช่น อาจจะเป็น 10 – 15 ใบต่อ 1 รอบการกระตุ้น โดยยาฮอร์โมนกระตุ้นไข่ไม่ต่างจากฮอร์โมนกระตุ้นไข่จากร่างกายตามปกติ ดังนั้นโครโมโซมในไข่จึงไม่แตกต่างจากการตกไข่ตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้มีความสมบูรณ์ทุกใบ แต่สิ่งที่ได้เปรียบก็คือ เหมือนนำไข่ 10 เดือนมาตกพร้อมกันในเวลาเพียงแค่เดือนเดียว

การปฏิสนธิของตัวอ่อน

เมื่อนำไข่มาปฏิสนธิภายนอกร่างกายจะสามารถมองเห็นได้ว่า ไข่ใบใดสามารถปฏิสนธิได้ตามปกติ และไข่ใบใดมีความผิดปกติไม่สามารถไปต่อได้ ยกตัวอย่างเช่น การไม่ปฏิสนธิหรือปฏิสนธิแล้วแต่แบ่งเซลล์ช้ากว่าปกติ ดังนั้นเมื่อเลี้ยงตัวอ่อนผ่านไป 5 วัน ไข่จะผ่านขั้นตอนต่าง ๆ จนกลายเป็นตัวอ่อนที่โตขึ้นเรื่อย ๆ เสมือนเป็นขั้นตอนการคัดเลือก ทำให้ได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่จะเลือกใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก ส่วนไข่และตัวอ่อนที่โตไม่ทันเพื่อนจะถูกตัดทิ้งไป ซึ่งจากไข่ 10 ใบอาจจะเหลือตัวอ่อนคุณภาพดีที่เลือกใส่กลับเข้าไปเพียงแค่ 3 หรือ 4 ตัวเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นคำตอบว่า การใส่ตัวอ่อน 1 ครั้ง ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าการกระตุ้นไข่และฉีดเชื้อผสมเทียม ซึ่งมีไข่ตกเพียงแค่ 1 หรือ 2 ใบ

IVF & ICSI ยากแค่ไหนก็มีลูกได้
IVF & ICSI

นอกจากนี้ในขั้นตอนการปฏิสนธิจะต่างจากขั้นตอนตามธรรมชาติ เพราะการทำเด็กหลอดแก้วจะมีการปฏิสนธิ 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF – In Vitro Fertilization) จะนำไข่และเชื้ออสุจิมาปฏิสนธินอกร่างกาย โดยจะใช้ตัวอสุจิที่คัดแล้วปล่อยลงไปล้อมรอบไข่ให้ตัวอสุจิแข่งกันเจาะเข้าไปในเปลือกไข่ด้วยตัวเอง วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมือนธรรมชาติ การปฏิสนธิจะเกิดในท่อนำไข่ เมื่อไข่วิ่งเข้ามาในท่อนำไข่จะมาพบกับตัวอสุจิที่ว่ายมาบริเวณนี้เช่นกันเข้าไปล้อมรอบไข่และตัวอสุจิตัวแรกที่เจาะผ่านเปลือกไข่ได้จะทำให้เกิดการปฏิสนธิขึ้น พร้อมที่จะตั้งครรภ์ต่อไป

    กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF – In Vitro Fertilization) แพทย์จะตรวจความพร้อมก่อนกระตุ้นไข่ช่วงวันที่ 2 – 3 ของการมีประจำเดือน จากนั้นจะฉีดยาทางหน้าท้องเพื่อกระตุ้นไข่ประมาณ 8 – 14 วัน เมื่อได้ไข่ตามที่ต้องการจะฉีดยากระตุ้นไข่ตกและนัดวันเก็บไข่ ส่วนคุณผู้ชายต้องทำการเก็บน้ำเชื้ออสุจิสำหรับทำ IVF เมื่อไข่และอสุจิปฏิสนธิจนเป็นตัวอ่อนและเพาะเลี้ยงในน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดีเพื่อให้ตัวอ่อนเติบโตได้ดีเต็มศักยภาพ คุณผู้หญิงจะต้องมาย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกหลังเก็บไข่ 3 – 5 วัน แพทย์จะนัดติดตามและตรวจเช็กเลือดเพื่อดูฮอร์โมนการตั้งครรภ์หลังใส่ตัวอ่อนเรียบร้อยประมาณ 10 วัน

  2. การทำอิ๊กซี่ (ICSI – Intracytoplasmic Sperm Injection) จากปัญหาตัวอสุจิของคุณผู้ชายบางคนมีความผิดปกติจนไม่สามารถเจาะผ่านเปลือกไข่ได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาวิธีใช้เข็มเจาะและส่งตัวสุจิที่ดีที่สุดผ่านเปลือกไข่เข้าไปภายในเนื้อไข่โดยตรงในเวลาต่อมา โดยจะมียาฮอร์โมนช่วยกระตุ้นให้ได้ไข่หลายใบ วิธีนี้มีขั้นตอนคล้ายการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) แต่แตกต่างตรงที่ IVF ไข่และอสุจิหลายตัวจะถูกนำไปผสมในจานเพาะเลี้ยง ซึ่งอสุจิจะว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่ตามธรรมชาติ แต่ ICSI จะคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงที่สุดตัวเดียว แล้วใช้เข็มฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง

ดังนั้นหากคู่สมรสสามารถกระตุ้นและเก็บไข่ได้ 10 ใบ แต่เมื่อส่งสเปิร์มเข้าไปปฏิสนธิด้วยวิธี IVF พบว่าได้ตัวอ่อนเพียง 1 หรือ 2 ใบ หรืออาจไม่ได้เลย การแก้ไขโดยใช้การปฏิสนธิโดยวิธี ICSI มักจะช่วยในการปฏิสนธิให้ได้ตัวอ่อนขึ้นมาเป็น 7 – 9 ตัว แต่อย่างไรก็ตามการเลือกตัวอสุจิที่จะยิงเข้าไปในไข่จะเลือกจากรูปร่างและการเคลื่อนไหวที่ดีที่สุด โดยหัวอสุจิจะมีขนาดเพียง 7 ไมครอน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมองเห็นโครโมโซมที่อยู่ภายในนั้น และในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเห็นโครโมโซมที่อยู่ภายในไข่ตอนที่จะยิงตัวอสุจิเข้าไปด้วย ดังนั้นการทำ ICSI จึงไม่ใช่การสร้างตัวอ่อนที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้มีการปฏิสนธิและเกิดตัวอ่อนขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อให้ได้มีโอกาสคัดเลือกที่ดีที่สุด

กระบวนการทำอิ๊กซี่ (ICSI – Intracytoplasmic Sperm Injection) แพทย์จะกระตุ้นไข่ในวันที่ 2 ของการมีประจำเดือน โดยจะฉีดต่อเนื่องประมาณ 8 – 14 วัน จากนั้นเมื่อไข่พร้อมจะฉีดยากระตุ้นการตกไข่ ทำการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจขนาดและจำนวนถุงไข่ แล้วจึงฉีดฮอร์โมนก่อนที่จะเก็บไข่ด้วยการใช้เข็มเจาะดูดออกจากรังไข่ผ่านทางช่องคลอด จากนั้นแพทย์จะนำไข่และอสุจิไปปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการพร้อมกับการให้ยาฮอร์โมนเพื่อเตรียมมดลูกคุณผู้หญิงให้พร้อมตั้งครรภ์ หลังจากตัวอ่อนเติบโตแข็งแรง แพทย์จะนัดฉีดตัวอ่อนให้เข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกผ่านทางช่องคลอด

ข้อควรปฏิบัติก่อนการเจาะเก็บไข่

  1. ทำจิตใจให้สบาย หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลและความเครียด หากิจกรรมอะไรที่ทำให้ลดความกังวลลงได้
  2. ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนัก หรือมีการกระเทือนร่างกายมาก เช่น วิ่ง กระโดด เนื่องจากรังไข่ที่ได้รับการกระตุ้นมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อมีการกระเทือนมากอาจทำให้เกิดอาการปวดหรือมีการบิดหมุนของรังไข่ได้
  3. งดน้ำและอาหาร 6 ชั่วโมงก่อนการเจาะเก็บไข่
  4. หากมีโรคประจำตัวแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  5. ต้องมีสามีหรือญาติมารับกลับบ้าน ไม่แนะนำให้ขับรถกลับเองหรือกลับรถสาธารณะตามลำพัง เพราะการเจาะเก็บไข่จะมีการดมยาให้ผู้ป่วยหลับ อาจจะทำให้ยังง่วงและยังสะลืมสะลือหลังการทำหัตถการ ทำให้มีอันตรายจากการขับรถได้
  6. เก็บของมีค่าไว้ที่บ้าน เช่น แหวน สร้อย นาฬิกา ฯลฯ
  7. ไม่ควรทาสีเล็บหรือใส่น้ำหอม เพราะจะเป็นการรบกวนไข่หรือตัวอ่อน เนื่องจากตัวอ่อนบอบบาง ไม่ชอบสีหรือกลิ่น
  8. สามีควรเตรียมตัวมาเก็บน้ำเชื้ออสุจิในวันเดียวกัน โดยงดมีเพศสัมพันธ์ 3 – 7 วันก่อนเก็บน้ำเชื้อ

การปฏิบัติตัวหลังเจาะเก็บไข่

  1. หลังการเจาะเก็บไข่จะมีอาการปวดท้องเล็กน้อยเหมือนปวดประจำเดือนและอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยหรืออาจมีเลือดออกภายใน 24 ชั่วโมง แนะนำให้สังเกตอาการและรับประทานยาแก้ปวดทุก 4 – 6 ชั่วโมงตามที่แพทย์สั่ง อาการปวดท้องจะหายไปใน 2 – 3 วัน ส่วนในรายที่มีจำนวนไข่มากควรพักผ่อนและมีกิจกรรมให้น้อยที่สุดในช่วง 2 – 3 วันหลังเก็บไข่ เพื่อรอให้ขนาดรังไข่ยุบลงพอสมควรจะทำให้ลดอาการปวดท้องน้อยหลังเก็บไข่ได้ดี
  2. กรณีที่มีสิ่งผิดปกติอื่น ๆ หลังการเจาะเก็บไข่ โปรดปรึกษาศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเพื่อขอคำแนะนำหรือแพทย์เจ้าของไข้ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากแพทย์เจ้าของไข้จะทราบประวัติและรายละเอียดการรักษา ทำให้สามารถรักษาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
  3. กรณีที่มีปัญหาในการใช้ยาหรือแพ้ยาควรติดต่อขอคำแนะนำจากศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากหรือแพทย์เจ้าของไข้
  4. ในวันถัดไปหลังการเก็บไข่ เจ้าหน้าที่ของศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจะเป็นผู้ติดต่อแจ้งให้ท่านทราบโดยละเอียด หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมของการปฏิสนธิของตัวอ่อนสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก
  5. ให้เบอร์โทรศัพท์ที่สะดวกในการติดต่อกลับ หากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในการรักษา ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจะติดต่อกลับทันที
  6. เจ้าหน้าที่ของศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจะทำการนัดหมายวันและเวลาให้ท่านทราบโดยละเอียด หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากได้ในวันและเวลาทำการ

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. ปวีณา สารการโกศล

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
พญ. ปวีณา สารการโกศล

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
นพ. ปภากร มิ่งมิตรพัฒนะกุล

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
นพ. ปภากร มิ่งมิตรพัฒนะกุล

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
พญ. ชุตินาท อิ่มเอม

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
พญ. ชุตินาท อิ่มเอม

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์ - เสาร์ เวลา 8.00 - 16.00 น.

ประหยัดเวลาค้นหาแพทย์ด้วยตัวเอง

ให้ AI ช่วยประเมินอาการและแนะนำแพทย์ที่เหมาะสม

แชร์

แชร์