เนื้องอกมดลูก ภัยเงียบที่ผู้หญิงไม่ควรละเลย

3 นาทีในการอ่าน
เนื้องอกมดลูก ภัยเงียบที่ผู้หญิงไม่ควรละเลย

ปัญหาภายในของคุณผู้หญิงนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะเนื้องอกมดลูกที่พบบ่อยในผู้หญิงและมีเพียงประมาณร้อยละ 20 – 30 ที่แสดงอาการ กว่าจะรู้ตัวขนาดของเนื้องอกอาจเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบกับอวัยวะใกล้เคียง ส่งผลให้อาการแย่ลงหรือการรักษามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น การใส่ใจสัญญาณเตือนและรู้เท่าทันโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

รู้จักเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูกคือโรคของกล้ามเนื้อมดลูก โดยการโตของเนื้องอกอาจโตในโพรงมดลูกหรือโตเป็นก้อนนูนจากมดลูก ซึ่งการเติบโตจะค่อย ๆ โตไปอย่างช้า ๆ หรืออาจมีขนาดเท่าเดิม ซึ่งขนาด ตำแหน่ง และจำนวนที่พบจะแตกต่างออกไปในผู้ป่วยแต่ละบุคคล พบได้บ่อยในผู้หญิงอายุ 30 – 40 ปี ส่วนใหญ่เนื้องอกมดลูกไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่สร้างจากรังไข่สามารถกระตุ้นให้เนื้องอกมีขนาดโตขึ้นได้ ในขณะเดียวกันหากเข้าสู่วัยทองหรือหมดประจำเดือนขนาดของเนื้องอกก็สามารถเล็กลงได้


ชนิดเนื้องอกมดลูก

ชนิดของเนื้องอกมดลูกแบ่งตามตำแหน่งได้ดังนี้

  • เนื้องอกบริเวณผิวนอกผนังมดลูก หากขนาดโตมากอาจเบียดอวัยวะอื่นหรือนำมาซึ่งอาการปวดรุนแรงได้
  • เนื้องอกในเนื้อมดลูกหรือในผนังมดลูก ส่งผลให้ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมามาก มีบุตรยาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก
  • เนื้องอกในโพรงมดลูก ส่งผลให้ประจำเดือนมาก ผิดปกติ ปวดประจำเดือน มีบุตรยาก และมีโอกาสแท้งบุตร

อาการที่ปรากฏ

ผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกอาจมีอาการหรือไม่มีอาการ อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน หรืออาจมีหลายชนิดปนกันได้ โดยอาการสำคัญที่ไม่ควรละเลยคือ

  • ปวดประจำเดือน ปวดหน่วงท้องน้อย
  • ประจำเดือนนาน ๆ ครั้งมา มาบ่อยผิดปกติ หรือมาในปริมาณมาก
  • ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก 
  • ท้องผูก ปวดหน่วงทวารหนัก
  • คลำเจอก้อนบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้องในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมาก
  • ปวดเฉียบพลันร่วมกับมีไข้และคลื่นไส้หากเนื้องอกโตนอกมดลูกและเกิดการบิดขั้วของก้อนเนื้องอก

เนื้องอกมดลูก ภัยเงียบที่ผู้หญิงไม่ควรละเลย

การตรวจวินิจฉัย

สามารถตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ซึ่งสามารถเห็นรายละเอียดได้ชัดเจนนอกจากนี้สามารถตรวจโดยการส่องกล้องตรวจในมดลูกหรือช่องท้อง


การรักษา

การรักษาเนื้องอกมดลูก ทำได้โดยการผ่าตัด ซึ่งความยากขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่ง แบ่งออกเป็น

  1. การตัดก้อนเนื้องอก (Myomectomy) สามารถทำได้หลายทาง ทั้งการผ่าตัดเนื้องอกผ่านกล้อง (Laparoscopic Myomectomy) การผ่าตัดเนื้องอกผ่านผนังหน้าท้องแบบแผลเล็กกว่าหรือเท่ากับ 6 เซนติเมตร (Minilaparotomy Myomectomy) และการผ่าตัดเนื้องอกผ่านผนังหน้าท้อง (Abdominal Myomectomy)

     

    ซึ่งในอดีตหากเนื้องอกมีขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตรจะต้องผ่าตัดเนื้องอกผ่านผนังหน้าท้อง แต่ปัจจุบันเนื้องอกมดลูกขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตรก็สามารถผ่าตัดเนื้องอกผ่านกล้องได้ ช่วยลดโอกาสการเสียเลือดมาก ทั้งยังพักฟื้นไม่นาน โดยขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์เป็นสำคัญ

    นอกจากนี้สิ่งที่ควรรู้ไว้คือ 25 – 30% ของผู้ป่วยที่ผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว มีโอกาสที่เนื้องอกจะกลับมาโตอีก แต่อย่างไรก็ตามยังสามารถมีบุตรได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด 

     

  2. การตัดมดลูก (Hysterectomy) สามารถทำได้โดยการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy) การผ่าตัดมดลูกผ่านการส่องกล้องช่องท้อง (Laparoscopic Hysterectomy) การผ่าตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้องแบบแผลเล็กกว่าหรือเท่ากับ 6 เซนติเมตร (Minilaparotomy Hysterectomy) และการผ่าตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้อง (Abdominal Hysterectomy) ซึ่งวิธีนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว

เนื้องอกมดลูกกับมะเร็ง

หลายคนมักสงสัยว่าเนื้องอกมดลูกสามารถกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่ คำตอบคือมีโอกาสแต่น้อยมาก เพราะเนื้องอกที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อดีไม่ใช่เนื้อร้าย และ 80% ไม่ใช่มะเร็ง หรือแม้กระทั่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากเนื้องอกมดลูกก็พบไม่บ่อยนัก ถ้าพบคือในกรณีที่เนื้องอกมดลูกเบียดอวัยวะข้างเคียงอย่างท่อไต อาจทำให้เกิดโรคไตได้ 

ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันหรือทำให้รับมือกับเนื้องอกมดลูกได้คือการตรวจภายในเป็นประจำทุกปีและหากมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์ทันที

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. หยิงฉี หวัง

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

พญ. หยิงฉี หวัง

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์สุขภาพสตรี

ชั้น 2 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด