หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นขณะแข่งขันฟุตบอล

4 นาทีในการอ่าน
หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นขณะแข่งขันฟุตบอล

สำหรับคนที่มีความเกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอล ผู้จัดการทีม แพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดประจำทีม ผู้จัดการสนาม หรือท่านประธานสโมสรฟุตบอล ควรต้องเตรียมความพร้อมหากนักฟุตบอลหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นในสนามฟุตบอลจะได้รับมือได้ทันท่วงที

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสาเหตุที่รุนแรงและที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตของนักฟุตบอล อย่างการหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นของนักฟุตบอลในสนามฟุตบอล เพราะสาเหตุย่อย ๆ ที่อาจทำให้ผู้เล่นหมดสติเป็นลม หรือดูเหมือนหยุดหายใจอาจมีรายละเอียดค่อนข้างมากและอาจไม่ทำให้เกิดหัวใจหยุดเต้นอย่างทันทีทันใด


สาเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้น

1. อายุต่ำกว่า 35 – 40 ปี

ในกรณีที่มีอายุต่ำกว่า 35 – 40 ปีส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ แต่นักกีฬาเหล่านี้ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ ร่างกายและหัวใจมีการปรับตัวจนสามารถทำให้เล่นกีฬาได้อย่างดีหรือเป็นเลิศได้ โดยนักกีฬาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมีความผิดปกติอยู่ แต่เมื่อมีการเล่นกีฬาที่หัวใจต้องทำงานหนัก (ซึ่งอาจเท่าเดิมที่เคยทำอยู่หรืออาจมากขึ้นกว่าปกติ) การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เป็นสาเหตุจากการหยุดหายใจ (หัวใจหยุดเต้น)

2. อายุมากกว่า 35 – 40 ปี

ในกรณีที่มีอายุมากกว่า 35 – 40 ปี ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เวลาร่างกายออกแรงมาก หัวใจจะทำงานมากขึ้น แต่เลือด (ที่มีอ็อกซิเจนอยู่ด้วย) ไม่สามารถมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอก็จะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้


การจัดบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินในสนามแข่งขันฟุตบอล

  • ในแต่ละทีมฟุตบอลที่เข้าร่วมการแข่งขันควรต้องมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ประจำทีม ได้แก่ แพทย์ประจำทีม นักกายภาพบำบัดประจำทีม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎระเบียบแน่ชัดว่าต้องมีอย่างแน่นอน แต่ในอนาคตทางสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือเอเอฟซี จะออกกฎระเบียบออกมาให้ทีมชาติของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องมีแพทย์ประจำทีมติดตามทีมไปด้วย ดังนั้นฝ่ายจัดการแข่งขันโดยเฉพาะฝ่ายจัดบริการทางการแพทย์จึงต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นว่ามีทีมใดบ้างที่ไม่มีแพทย์ประจำทีม นักกายภาพบำบัด
  • ในปัจจุบันการแข่งขันทัวร์นาเมนต์นานาชาติที่เอเอฟซีรับผิดชอบส่งผู้ควบคุมการแข่งขันชาวต่างชาติเข้ามาดูแลเรื่องการจัดการแข่งขัน ฝ่ายจัดการแข่งขันจะต้องเตรียมรถพยาบาล จำนวน 2 ชุด พร้อมแพทย์ประจำสนาม 1 ท่าน เพื่อให้มีความพร้อมในการดูแลภาวะฉุกเฉินในสนามแข่งขัน พร้อมที่จะนำผู้บาดเจ็บส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และ/หรือโรงพยาบาลที่รับผิดชอบในการแข่งขันนั้น ๆ การที่จำเป็นต้องมีรถพยาบาล 2 คัน เพราะเมื่อถึงคราวที่ต้องส่งโรงพยาบาลและการแข่งขันยังไม่เสร็จสิ้น อาจมีกรณีฉุกเฉินรายต่อไปเกิดขึ้นได้
  • สำหรับอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูงนั้น หมายถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR – Cardio Pulmonary Resuscitations) ในภาวะที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ หรือหมดสติ เช่น เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Defibrillator) เครื่องมือสำหรับใส่ท่อหายใจเข้าไปยังหลอดลม รวมทั้งยาที่จำเป็นสำหรับการช่วยชีวิตในภาวะวิกฤติ
  • เปลสนาม จะต้องมีเปลพร้อมเจ้าหน้าที่ 4 ท่าน จำนวน 2 ชุด เพราะในขณะขนผู้เล่นออกจากสนามการแข่งขันและการแข่งขันดำเนินต่อไป อาจเกิดการปะทะและมีการบาดเจ็บที่จำเป็นต้องใช้เปลอีกรายหนึ่งในเวลาไล่เลี่ยกันได้ การจัดเปลสนามจึงต้องมี 2 ชุด และในข้อกำหนดของฟีฟ่าที่เขียนเอาไว้เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่เปล ก็คือ จะต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เล่นเป็นหลัก โดยเฉพาะในกรณีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง กระดูกคอ เวลาปะทะกันอย่างรุนแรง การเคลื่อนย้ายผิดวิธีอาจทำให้เกิดอัมพาตขึ้นได้ นอกจากนี้แพทย์ประจำสนาม 1 ท่าน (Pitch Doctor) จะต้องคอยเฝ้าติดตามการแข่งขันว่าในบางกรณีอาจต้องลงไปในสนามพร้อมเวรเปลเพื่อประเมินความรุนแรงและควบคุมการเคลื่อนย้าย
  • ห้องพยาบาล หรือ Medical Room สนามแข่งขันทุกแห่งจะต้องมีห้องพยาบาลพร้อมอุปกรณ์พื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้จากส่วนที่มีอยู่ในรถ Ambulance และนำไปติดตั้งเตรียมพร้อมไว้ในกรณีที่นำผู้ป่วยเข้าไปรักษาเบื้องต้นอยู่ในห้องพยาบาล และในบางสนามในต่างประเทศจะมีตู้ยาพร้อมยาจำเป็นพื้นฐานที่คนทั่วไปอาจหยิบออกมาใช้ได้ เสมือนเป็นตู้ยาสามัญประจำบ้านหรือตู้ยาสามัญประจำสนามการแข่งขัน มีรายชื่อยาพร้อมกับข้อมูลสรรพคุณเบื้องต้น รวมทั้งขนาดยาที่ควรใช้ มีวันเวลาบอกไว้สำหรับวันหมดอายุของยาและเวชภัณฑ์ที่อยู่ในตู้ยา เช่น ที่สนามแข่งขันฟุตบอลของเมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีกฎหมายออกมาว่าต้องมีอุปกรณ์ AED (Automatic External Defibrillator)  หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถใช้งานได้ โดยมีคำแนะนำเป็นเสียงเทปให้ผู้ที่ต้องการใช้อุปกรณ์ AED ปฏิบัติตามเป็นขั้นตอนไปเรื่อย ๆ หากใช้ผิดพลาดก็ไม่มีอันตรายต่อตัวผู้ป่วย อย่างในการแข่งขันฟุตบอลไซตามะคัพ ที่เมืองไซตามะ ประเทศญี่ปุ่นมี AED บริเวณห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวในสนามแข่งขันขนาดไม่ใหญ่นัก  สำหรับเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจฉุกเฉินมีการติดตั้งอยู่ทั่วไปในสถานที่สาธารณะของประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น สนามบินทุกแห่ง ซึ่งจะต้องมีจำนวนเครื่องที่เหมาะสมต่อพื้นที่นั้น ๆ และเครื่องชนิดนี้ได้ออกแบบมาให้คนทั่วไป อาจหาซื้อไว้ในบ้านของตนเอง หากมีสมาชิกบางรายของครอบครัวที่อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้
  • โรงพยาบาลที่มีความพร้อมและอยู่ใกล้สนามแข่งขันมากที่สุดจะต้องมีการวางแผนและประสานงานไว้ล่วงหน้าว่าในวันที่มีการแข่งขันในกรณีฉุกเฉินมาก รถพยาบาลจากในสนามอาจต้องแวะไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่อยู่ในรถพยาบาลขณะนั้นและได้รับการประเมินแล้วว่าต้องได้รับการรักษาทันที
  • การบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ชมและผู้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสนามแข่งขันในการแข่งขันนัดสำคัญ ๆ ที่มีผู้ชมต็มความจุของสนามแข่งขัน และมีผู้ที่มาและไม่สามารถเข้าชมในสนามแข่งขันได้ การจัดบริการทางการแพทย์จะต้องคำนึงถึงคนกลุ่มนี้ด้วย ตลอดจนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บครั้งเดียวเป็นจำนวนมากๆ (Mass Casualty)
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด