เซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) กีฬาและกิจกรรมสุดฮิตในปัจจุบันที่โดนใจคนทุกเพศทุกวัย ทั้งสนุกและเท่ไป
พร้อม ๆ กัน แต่หากสนุกจนเกินไปหรือไม่ได้เตรียมพร้อมร่างกายอย่างเพียงพอ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ เกิดอุบัติเหตุ และต้องมาโรงพยาบาลได้ เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมเมื่อจะเล่นเซิร์ฟสเก็ตเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย
รู้จักกับ Surf Skate
เซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) เป็นกีฬาบนแผ่นกระดานที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างสเก็ตบอร์ดกับกีฬาเซิร์ฟ โดยการเคลื่อนที่จะใช้การบิดตัว ใช้แขนและสะโพกเหวี่ยงในการเดินหน้าและเปลี่ยนทิศทาง โดยล้อด้านหน้าสามารถหมุนเลี้ยวได้มากกว่า ต่างกับ Skateboard ที่จะใช้ขาไถเพื่อเคลื่อนที่ และถูกออกแบบมาเพื่อเล่นท่าทางต่าง ๆ เช่น การกระโดด เป็นต้น
การบาดเจ็บจาก Surf Skate
กีฬาเซิร์ฟสเก็ตสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ 2 แบบหลัก ๆ คือ เกิดจากการเล่นและเกิดจากอุบัติเหตุ โดยหากเกิดอุบัติเหตุ อาจรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัด
- การบาดเจ็บจากการเล่น Surf Skate เนื่องจากต้องใช้การทรงตัว การบิดตัว และเหวี่ยงสะโพกในการเล่นอยู่ตลอดเวลา ในผู้เล่นหน้าใหม่จึงทำให้เกิดการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและข้อต่าง ๆ ได้ ทั้งอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดก้น ปวดเมื่อยต้นขา รวมทั้งข้อเข่าและข้อเท้า
- การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ Surf Skate ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น มักเกิดจากการล้ม การกระแทก เช่นเดียวกับกีฬาสเก็ตบอร์ด สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ตั้งแต่อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ แผลถลอก แผลแตก หรือรุนแรงถึงขั้นเอ็นฉีกขาด กระดูกหัก หรือสมองกระทบกระเทือนได้เช่นกัน โดยสามารถพบการบาดเจ็บได้ทั่วทั้งร่างกาย
อวัยวะเสี่ยงบาดเจ็บจาก Surf Skate
อวัยวะที่พบการบาดเจ็บได้บ่อย ๆ คือ
- ข้อมือ
- แขน
- ข้อศอก
- ข้อไหล่
- ข้อสะโพก
- ข้อเข่า
- ขา
- ข้อเท้า
- ศีรษะ
สาเหตุการบาดเจ็บจาก Surf Skate
- ขาดเทคนิคและทักษะในการเล่น
ในผู้เล่นมือใหม่อาจจะยังขาดความคุ้นเคยและความเข้าใจในการเล่น ทำให้การทรงตัว การบังคับบอร์ดไม่ราบรื่นตามต้องการ จนอาจเกิดอุบัติเหตุ เสียการทรงตัว หกล้ม กระแทกได้ รวมทั้งบางคนที่ร่างกายขาดความพร้อม ขาดความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และความคล่องตัว อาจจะเพิ่มความรุนแรงของการบาดเจ็บได้ - สถานที่หรือสนามไม่เหมาะสม
หากเลือกสถานที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นขรุขระ มีทราย มีน้ำขัง มีทางลาดชันมาก หรือผู้คนพลุกพล่าน สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้มากขึ้น โดยเฉพาะหากเลือกเล่นบริเวณใกล้ถนน หรือมียานยนต์สัญจรไปมา อาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรงถึงชีวิตแก่ผู้เล่นและผู้สัญจรได้เช่นกัน - อุปกรณ์ไม่พร้อม ไม่เหมาะสม
ชนิดของบอร์ด ทรัค และล้อมีหลากหลายรูปแบบ หากคุณภาพไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้การเล่นติดขัดได้มากขึ้นและเสี่ยงต่อการล้ม การบาดเจ็บ รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ที่จะช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บได้ เช่น หมวกกันกระแทก สนับศอก สนับข้อมือ สนับเข่า ล้วนช่วยลดความรุนแรงในการบาดเจ็บได้ แต่มักถูกละเลยจากผู้เล่นส่วนใหญ่ - มั่นใจในตัวเองมากเกินไป
หากผู้เล่นมีความชำนาญในระดับหนึ่งมักจะมีความต้องการในการเล่นท่าทางผาดโผนต่าง ๆ มากขึ้น หรือลองเล่นในพื้นที่ลาดเอียงหรือท้าทายมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการบาดเจ็บและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
อาการบาดเจ็บรุนแรงจาก Surf Skate
หลังจากกีฬา Surf Skate ฮิตติดลมบนในประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากกีฬาชนิดนี้จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้น โดยอาการบาดเจ็บรุนแรงที่พบคือ อุบัติเหตุจากการเสียการทรงตัว ล้ม หรือกระแทก และหากเล่นบนถนนที่มีการจราจรอาจจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
ตัวอย่างอาการบาดเจ็บรุนแรงจากกีฬา Surf Skate ได้แก่
- บาดเจ็บศีรษะ เช่น ศีรษะแตก กะโหลกร้าว สมองกระทบกระเทือน หรือมีเลือดออกในสมอง
- กระดูกหัก เช่น ข้อมือหัก ข้อศอกหัก กระดูกหัวไหล่หัก ไหปลาร้าหัก ข้อสะโพกหัก ลูกสะบ้าแตก ข้อเท้าหัก
- ข้อเคลื่อนหลุด เช่น ข้อไหล่หลุด ข้อศอกหลุด ลูกสะบ้าเคลื่อนหลุดบริเวณเข่า
- เอ็นฉีกขาด เช่น เอ็นหัวไหล่ฉีกขาด เอ็นข้อศอกฉีกขาด เอ็นเข่า หรือเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด
ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับบาดเจ็บ
หากเกิดการบาดเจ็บจากกีฬา Surf Skate สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันที โดยใช้หลัก P.R.I.C.E.
- P – Protect คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น เช่น การใช้ที่คล้องแขน การดามบริเวณที่บาดเจ็บ หรือการใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินเพื่อลดการลงน้ำหนัก
- R – Rest คือ การพักการเล่นและการใช้งาน เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ โดยแนะนำให้พักดูอาการ 2 – 3 วัน
- I – Ice คือ การประคบเย็น สามารถประคบเย็นบริเวณที่ปวดบวมหรือฟกช้ำครั้งละ 15 – 20 นาที ทำได้บ่อยตามต้องการ
- C – Compression คือ การใช้ผ้ายืดพันรอบบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อลดการบวมและลดการเคลื่อนไหว
- E – Elevation คือ การยกสูง ทำโดยยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการบวม
บาดเจ็บจาก Surf Skate แบบไหนต้องพบแพทย์
- ศีรษะกระแทก มีอาการมึนงง จำเหตุการณ์ไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือสลบไปชั่วขณะ อาจเป็นสัญญาณของภาวะกระทบกระเทือนทางสมอง หรืออาจมีเลือดออกในสมองได้
- ปวด บวม ผิดรูปของกระดูกและข้อ อาจมีภาวะข้อเคลื่อนหลุด หรือกระดูกหักได้
- อาการปวดต่อเนื่องระหว่างการเล่น หลังการเล่น หรือพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจะไม่ใช่อาการเมื่อยล้าหรือฟกช้ำ แต่อาจจะเป็นอาการที่รุนแรงกว่าที่คาดคิดได้
- ข้อไม่มั่นคง หลวม หรือการเปลี่ยนทิศทางเดินแล้วเข่าทรุด อาจเป็นอาการของภาวะเอ็นฉีกขาด เช่น เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดได้ จากการล้ม หรืออุบัติเหตุเข่าบิด
เตรียมพร้อมเล่น Surf Skate
- เลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ อยู่ในสภาพที่ดี ใช้งานได้ตามปกติ
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันน็อก สนับข้อมือ สนับศอก สนับเข่า ช่วยลดความรุนแรงการบาดเจ็บได้
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่แนะนำให้เล่น ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ควรมีผู้ดูแลควบคุมที่มีประสบการณ์
- ผู้สูงอายุต้องระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากอาจมีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนร่วมด้วย หากเกิดอุบัติเหตุล้ม จะมีความรุนแรง เกิดกระดูกหักได้ โดยเฉพาะข้อมือ ข้อสะโพก และกระดูกสันหลัง
- เลือกสถานที่ให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อการเล่น เช่น Skate Park เลี่ยงการเล่นบริเวณใกล้ถนนและบริเวณที่มีกรวด ทราย น้ำขัง
- เตรียมร่างกายก่อนเล่นด้วยการวอร์มอัพ ยืดเหยียด วิ่งจ็อกกิง หรือกระโดดตบ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความพร้อมของข้อต่อและกล้ามเนื้อ
- บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ใช้งานหลัก ๆ ในการเล่น Surf Skate เช่น กล้ามเนื้อแกนกลาง กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขา และน่อง เช่น การบริหารท่า Plank หรือ Squat
- ศึกษาและฝึกซ้อมเทคนิคการเล่นระดับพื้นฐานก่อน เรียนรู้การทรงตัว การเคลื่อนที่ และฝึกการล้มอย่างถูกวิธี ประเมินตนเอง ไม่เสี่ยงจนเกินพอดี
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากหากเล่น Surf Skate เป็นเวลานานกลางแดดร้อน อาจเกิดภาวะขาดน้ำและเกิดอันตรายจากความร้อนได้
สำหรับกีฬา Surf Skate อาจจะมองว่ามีอันตรายพอสมควร แต่หากผู้เล่นเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ไม่เสี่ยงจนเกินสมรรถภาพร่างกาย นับเป็นอีกชนิดกีฬาที่สนุกและเสริมสร้างสุขภาพร่างกายได้เป็นอย่างดีในทุกเพศทุกวัย
หากใครต้องการตรวจเช็กสภาพร่างกาย ทดสอบการทรงตัว ความยืดหยุ่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมทั้งออกกำลังกายบริหารเพื่อเพิ่มสมรรถนะและป้องกันอาการบาดเจ็บ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ (BASEM) มีโปรแกรม Sport Performance ที่ออกแบบจำเพาะต่อกีฬาแต่ละชนิด หรือหากมีปัญหาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา Surf Skate สามารถเข้ารับการรักษา ฟื้นฟู หรือผ่าตัด โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา อาทิเช่น ออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่พร้อมให้คำแนะนำตามมาตรฐานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า เพื่อให้ผู้เล่นทุกคนกลับมาโชว์ลีลาบนบอร์ดได้อย่างมั่นใจ