โรคหลอดเลือดดำเป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหากวนใจและบางโรคอาจอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะฉะนั้นจึงควรรู้เท่าทันและใส่ใจอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยให้รับมือได้อย่างเหมาะสมและถูกวิธี
รู้จักหลอดเลือดดำ
หลอดเลือดดำเป็นหลอดเลือดที่นำพาเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนต่ำจากทุกส่วนของร่างกายไหลกลับเข้าสู่หัวใจ โดยอาศัยการบีบตัวของกล้ามเนื้อรอบหลอดเลือดดำ และส่วนที่เรียกว่า ลิ้นของหลอดเลือดดำ (Valve) ทำหน้าที่คอยปิดกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับสู่ขา เหมือนบานประตูเปิดปิด
โดยหลอดเลือดดำแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ หลอดเลือดดำที่อยู่ตื้น และหลอดเลือดดำที่อยู่ลึก
1) หลอดเลือดดำที่อยู่ตื้น คือ เส้นเลือดที่สามารถมองเห็นได้จากผิวหนัง อาจเห็นเป็นสีเขียว สีแดง สีม่วง หรือเป็นเส้นเลือดขอด ในกรณีการผ่าตัดบายพาสหัวใจ บางครั้งแพทย์จะนำเส้นเลือดดำส่วนนี้ตัดออกไปต่อเป็นบายพาสหัวใจได้ แม้ว่าจะเป็นเส้นเลือดที่ไม่มีความจำเป็น และเป็นเส้นเลือดที่สร้างโรคสร้างความน่ารำคาญ แต่ไม่ใช่โรคที่ต้องวิตกกังวลนัก
2) หลอดเลือดที่อยู่ลึก ถือเป็นเส้นเลือดที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางการแพทย์แล้ว หากหลอดเลือดดำที่อยู่ลึกมีความผิดปกติเกิดขึ้นย่อมก่อให้เกิดปัญหาได้หลากหลาย และอาจร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้
ใส่ใจโรคหลอดเลือดดำ
โรคหลอดเลือดดำที่พบบ่อย ได้แก่ เส้นเลือดขอด หลอดเลือดดำอุดตัน (DVT) และหลอดเลือดดำเรื้อรัง
เส้นเลือดขอด (Varicose Vein)
ภาวะเส้นเลือดขอด คือ การขยายตัวผิดปกติของหลอดเลือดดำในชั้นตื้น เกิดจากลิ้นของหลอดเลือดดำที่ทำหน้าที่เปิดปิดไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ เกิดการทำงานได้ไม่ปกติ หรือไม่สามารถปิดได้สนิท โดยอาจจะเกิดจากความอ่อนแรงของผนังหลอดเลือดดำ หรือเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ทำให้แรงดันในหลอดเลือดดำเพิ่มสูงขึ้น เกิดการไหลย้อนกลับของเลือด จนทำให้หลอดเลือดดำขยายตัวกว้างขึ้น ซึ่งพบมากบริเวณขาและต้นขา แม้ยืนอยู่นิ่ง ๆ ก็เกิดแรงดันในหลอดเลือดดำจำนวนมาก ทำให้เลือดคั่งไม่สามารถไหลอย่างที่ควรจะเป็น จนกลายเป็นเส้นเลือดขอด จากเป็นน้อย ๆ ตั้งแต่เห็นเพียงเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ คล้ายใยแมงมุม จนถึงสีเขียว สีม่วงคล้ำ หรือน้ำเงินโป่งพอง ปูดโปนขึ้นมาคดเคี้ยวเป็นรอยนูนคล้ายตัวหนอน จนกระทั่งเกิดการอักเสบเป็นแผลได้ บางคนอาจมีอาการปวดเมื่อยที่น่อง เป็นตะคริว รู้สึกหนักขา ชาบริเวณเท้าหรือฝ่าเท้า ขาบวม มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง โดยอาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อห้อยขาลงต่ำหรือเมื่ออากาศร้อน
หลอดเลือดดำอุดตัน (Deep Vein Thrombosis หรือ DVT) หรือภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
ภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา ทำให้ปวดขาอย่างมาก ขาบวมแข็งเพียงข้างเดียว มักเป็นบริเวณน่อง มีอาการร้อนที่ขา กดเจ็บตามแนวหลอดเลือดดำที่อุดตัน ผิวหนังเป็นสีแดงหรือสีผิวที่ขาเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด อาจสัมพันธ์กับการนั่งเครื่องบินหรือนั่งรถเป็นเวลานาน นั่งนิ่ง ๆ ไม่ขยับขานานเกิน 4 – 8 ชั่วโมง กล้ามเนื้อขาไม่เกิดการหดตัว กลไกการบีบรีดเลือดกลับสู่หัวใจจึงไม่เกิด เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดการตกตะกอนในหลอดเลือด กลายเป็นลิ่มเลือดคั่ง จับตัวแข็ง อุดตันบริเวณน่อง (ใต้เข่า) ความน่ากลัวเมื่อเกิดลิ่มเลือดก็คือ ลิ่มเลือดนั้นสามารถวิ่งขึ้นไปยังหัวใจแล้วอาจจะค้างอยู่ที่ปอด ถ้าลิ่มเลือดใหญ่มากพออาจส่งผลให้เลือดไม่ไปเลี้ยงที่ปอดและทำให้เสียชีวิตได้ทันที
หลอดเลือดดำเรื้อรัง (Chronic Venous Insufficiency)
ภาวะหลอดเลือดดำเรื้อรัง เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดดำ และภาวะลิ้นหลอดเลือดดำบกพร่อง มักเกิดหลังจากเป็นหลอดเลือดดำลึกอุดตันทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เลือดไหลย้อนกลับลงขาตามแรงโน้มถ่วง ส่งผลให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำสูงขึ้น เกิดการอักเสบและรั่วซึมของเลือดออกนอกหลอดเลือด ทำให้รอบข้อเท้าเกิดสีคล้ำขึ้น น้ำเหลืองคั่งจนข้อเท้าบวมอักเสบ กลายเป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งภาวะหลอดเลือดดำเรื้อรังนี้จะส่งผลในระยะยาวต่อผู้ป่วย เนื่องจากรักษาค่อนข้างยาก อาการอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดของลิ่มเลือดที่อุดตัน ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดน่อง ตึง ขาบวมแข็ง บวมแดงร้อน (คล้ายอาการปวดกล้ามเนื้อขาหรือกล้ามเนื้ออักเสบ แต่ไม่บวม) เป็นตะคริว บางคนมีอาการขาชา หลอดเลือดฝอยพองโตหรือเส้นเลือดขอดร่วมด้วย หรือผิวหนังมีสีดำคล้ำ ผิวหนังแข็งด้าน หรือเป็นแผลเรื้อรังบริเวณรอบตาตุ่มข้อเท้าด้านใน และมักมีขนาดใหญ่ขึ้นจนบางครั้งอาจเป็นรอบข้อเท้าได้ จึงเรียกโรคหลอดเลือดดำเรื้อรังตามอาการว่า โรคแผลเรื้อรังจากหลอดเลือดดำ (Chronic venous ulcer)
กลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดดำ
|
เส้นเลือดขอด |
หลอดเลือดดำอุดตัน |
หลอดเลือดดำเรื้อรัง |
โรคและอาการนำ |
|
|
|
กลุ่มเสี่ยง |
|
|
|
ตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดดำ
หากมีอาการขาบวม แข็ง จากน่องแล้วลามขึ้นมาต้นขา เป็น ๆ หาย ๆ ขาบวมไม่ลดลง หรือมีอาการปวดและชาร่วมด้วย หลังจากเดินทางไกลด้วยเครื่องบินหรือนั่งรถยนต์เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ซึ่งภาวะที่นั่งอยู่นาน ๆ ขาอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ขยับ อาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดคั่งค้างภายในหลอดเลือดดำได้ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจการทำงานระบบการไหลของเลือดในหลอดเลือดดำ ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ว่าหลอดเลือดดำทั้งระบบลึกและตื้นมีปัญหาอย่างไร มีความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดดำอุดตันทั้งหมด หรืออุดตันและตีบตันร่วมด้วยหรือไม่ หาตำแหน่งที่เกิดการอุดตันภายในหลอดเลือด และภาวะการไหลย้อนกลับของเลือด รวมทั้งยังสามารถประเมินผลติดตามการรักษา
วิธีรักษาโรคหลอดเลือดดำ
วิธีรักษาโรคหลอดเลือดดำ แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามอาการที่เป็น และอาการแสดงของผู้ป่วย
1. สวมถุงน่องทางการแพทย์ (Compression Treatment)
เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดในระดับน้อย – ปานกลาง และผู้ที่เป็นหลอดเลือดดำเรื้อรัง หรือแผลเรื้อรังที่เกิดจากการอุดตันในหลอดเลือดดำ ควรสวมถุงน่องทางการแพทย์อยู่เสมอเพื่อบีบเลือดที่คั่งอยู่บริเวณเส้นเลือดดำที่อยู่ตื้นให้วิ่งเข้าไปเส้นเลือดดำที่อยู่ลึก ทำให้อาการของเส้นเลือดขอดดีขึ้น ลดการเกิดตะคริว ลดอาการปวดน่อง และช่วยลดแรงดันในหลอดเลือดดำ ลดการอักเสบของผิวหนังและเร่งการหายของแผล เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณผิวหนังและใต้ผิวหนังได้รับออกซิเจนมากขึ้น การสวมถุงน่องทางการแพทย์ที่ได้รับการออกแบบให้มีความดันของแรงรัดตามระดับที่ถูกต้อง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย และยกขาสูงในระหว่างวัน เป็นต้น เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการป้องกัน การรักษา ตลอดจนเป็นการป้องกันการเกิดซ้ำของโรคได้ด้วย
2. ฉีดยา
- การฉีดยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคหลอดเลือดดำอุดตัน เป็นการฉีดยาเพื่อไม่ให้ลิ่มเลือดหลุดเข้าไปในปอด ร่วมกับการทานยาป้องกันเลือดแข็งตัว เป็นการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปริมาณยาและยาตัวอื่น ๆ เพื่อลดปัญหาเลือดออกผิดปกติ
- การฉีดสารเคมีรักษาเส้นเลือดขอด (Sclerotherapy) เป็นการฉีดสารที่คล้ายโฟมเข้าไปในหลอดเลือดดำเพื่อให้เกิดพังผืดในหลอดเลือด และทำให้เส้นเลือดเกิดการแข็งฝ่อตัว เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตร โดยใช้อัลตราซาวนด์ช่วยชี้นำตำแหน่งหลอดเลือดดำ หลังฉีดแล้วควรยกขาสูงและสวมถุงน่องทางการแพทย์ เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นเส้นเลือดขอดซ้ำ
3. การรักษาผ่านหลอดเลือด (Endovascular Therapy)
เป็นวิธีการรักษาเส้นเลือดขอดแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery สามารถทำการรักษาแบบ Day Case Surgery สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล แผลมีขนาดเล็กประมาณ 2 – 3 มิลลิเมตร ลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาท ฟื้นตัวเร็ว โดย มี 2 วิธีคือ
- การใช้เลเซอร์ความร้อน (Endovenous Laser Ablation: EVLA) หรือคลื่นวิทยุความถี่สูง (Endovenous Radio Frequency: EVRF) โดยการใช้สายสวนสอดเข้าไปในหลอดเลือดดำที่มีปัญหา เพื่อทำให้ผนังหลอดเลือดดำที่โป่งพองหดตัวฝ่อลีบและผนังด้านในตีบติดกัน ด้วยพลังงานความร้อนจากเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูง หลังจากทำการรักษาแล้วจะทำการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ซ้ำเพื่อประเมินว่าหลอดเลือดดำได้ถูกทำให้ตีบโดยสมบูรณ์ และไม่มีการการจายของลิ่มเลือดไปยังหลอดเลือดดำชั้นลึก จากนั้นพันเท้าตลอดถึงต้นขาด้วยผ้ายืด Elastic Bandage เพื่อให้หลอดเลือดดำแฟบ และช่วยให้ผนังด้านในของหลอดเลือดดำติดกัน จากนั้นสวมถุงน่องทางการแพทย์เพื่อพยุงกล้ามเนื้อบริเวณขาทั้งหมด วิธีนี้เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่ไม่คดเคี้ยวมากเกินไป และไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดลึกดำอุดตัน
- การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอดโดยผ่านสายสวน เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ใช้ความร้อน โดยใช้ร่วมกับเครื่อง MOCA เพื่อทำให้ผนังเส้นเลือดที่โป่งพองหดตัว แล้วฉีดยาเข้าเส้นเลือดให้กลายเป็นพังผืด หลังการรักษาผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ควรทำซ้ำ 2 – 3 ครั้ง เพื่อรักษาเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นซ้ำ การรักษาด้วยวิธีนี้มีแผลขนาดเล็ก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความกังวลเรื่องรอยแผลเป็น
4. การผ่าตัด
- การผ่าตัดแผลเล็กลอกหลอดเลือดดำที่มีปัญหาออก ถือเป็นมาตรฐานในการรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่และผิดรูป เส้นเลือดขอดที่อยู่ชิดกับผิวหนังทำให้ไม่สามารถฉีดยาได้ เส้นเลือดขอดโป่งพองและหลอดเลือดดำอุดตัน ซึ่งไม่สามารถใส่สายสวนได้ ซึ่งก่อนทำการผ่าตัดแพทย์จะทำการตรวจยืนยันด้วยการทำอัลตราซาวนด์ในท่ายืนก่อน เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดดำระบบอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ดูตำแหน่งและขนาดของหลอดเลือดดำ ความลึกจากผิวหนัง ทิศทางการวางตัวของหลอดเลือดดำ แผลผ่าตัดมีขนาด 3 – 4 เซนติเมตรบริเวณรอยพับขาหนีบ แพทย์ใช้เครื่องมือเกี่ยวเส้นเลือดดำที่มีปัญหาออกผ่านทางแผลเล็ก ๆ แยกเป็นจุดๆ หลังการผ่าตัดแนะนำให้ผู้ป่วยใส่ถุงน่องทางการแพทย์ เพื่อลดอาการปวดบวมและอัตราการเกิดหลอดเลือดดำขอดซ้ำต่ำ
- การผ่าตัดรักษาหลอดเลือดดำเรื้อรัง เป็นการผ่าตัดซ่อมสร้างหลอดเลือดส่วนลึก เพื่อแก้ไขการไหลย้อนกลับของหลอดเลือดดำให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล มีอาการของภาวะหลอดเลือดดำเรื้อรัง ผู้ป่วยมีอาการขาบวมอย่างรุนแรง และมีผลกระทบต่อการทำงานของชีวิตประจำวัน โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเย็บซ่อมลิ้นของหลอดเลือดดำที่เสียให้ตึงขึ้น หรือผ่าตัดนำลิ้นที่ดีจากหลอดเลือดดำบริเวณแขนมาใช้แทนหลอดเลือดดำบริเวณขาสำหรับหลอดเลือดดำที่ลิ้นถูกทำลายจนหมด หรือผ่าตัดเอาลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดดำออก วิธีผ่าตัดดังกล่าวจะช่วยให้แผลหลอดเลือดดำเรื้อรังหายเร็วขึ้น ลดการเกิดแผลและการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดขาและขาบวม ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สัญญาณเตือนควรพบแพทย์
- ปวดเมื่อยบ่อย ๆ รู้สึกหนักขา เป็นตะคริว คัน ขาบวม
- เส้นเลือดขอดคลำเป็นลำแข็ง ๆ เจ็บ
- ขาบวมข้างเดียวโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากนั่งเครื่องบิน หรือนั่งรถยนต์เป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีปัจจัยโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดร่วมด้วย
- กดเจ็บตามแนวหลอดเลือดดำที่อุดตัน
- ข้อเท้ามีอาการบวมแข็ง ผิวหนังเป็นสีคล้ำ มีแผลเรื้อรังเบาหวาน รักษาไม่หาย
แพทย์แนะนำว่า หากจะต้องยืนนาน ๆ ให้เดินเสียยังดีกว่า ถ้าจะต้องนั่งนาน ๆ ให้นอนเสียดีกว่า ฉะนั้นแล้ว ถึงคราวต้องเดินทางไกลพยายามยืดเส้นยืดสายขยับแข็งขา กระดกข้อเท้าเพื่อให้เลือดไหลเวียนดีไม่คั่งค้าง เป็นพฤติกรรมที่พึงปฏิบัติ ป้องกันการเกิดโรคจากหลอดเลือดดำ