จากข้อมูลของสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติระบุว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงมากกว่า 199 ล้านคนเป็นเบาหวานและจะเพิ่มเป็น 313 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583 อีกทั้งเบาหวานยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 9 ของผู้หญิงทั่วโลกอีกด้วย ดังนั้นเนื่องในวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความรุนแรงและรู้เท่าทันโรคเบาหวานก่อนจะสายเกินไป
ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปบวกกับเมนูรสหวานที่มีให้เลือกทานได้ง่ายดาย ทั้งบิงซู ไอศกรีม เครื่องดื่มรสหวาน ขนมเค้ก และอีกมากมาย ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณเกินความต้องการในแต่ละวัน นำไปสู่ความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในคุณผู้หญิง
โรคเบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวานเกิดจากเซลล์ร่างกายมีความผิดปกติในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงาน ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างโดยตับอ่อนและมีหน้าที่ในการส่งต่อน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายได้เพียงพอร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ส่งผลให้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งพบได้ทุกเพศทุกวัย และหากไม่รีบเข้ารับการรักษาหรือไม่รู้ตัวว่าเป็นจึงปล่อยปละละเลยอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
พญ.รัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า
หากระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมมากกว่า 6.4% ขึ้นไปจะถือว่าผู้นั้นเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งถือเป็นโรคที่น่ารำคาญโรคหนึ่ง เพราะเมื่อเป็นแล้วจะส่งผลในระยะยาว รวมทั้งนำมาซึ่งความรุนแรงถึงชีวิตได้หากไม่ควบคุมและทำการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นตาบอด ไตวายเรื้อรัง สูญเสียขา หลอดเลือดหัวใจอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ดังนั้นยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งควบคุมได้เร็ว จะช่วยชะลอผลแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้”
อาการโรคเบาหวานเป็นอย่างไร
อาการของโรคเบาหวานที่สามารถสังเกตได้และควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว คือ
- ปัสสาวะบ่อย
- น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ
- กระหายน้ำบ่อย กินจุมากกว่าปกติ
- ชาปลายมือปลายเท้า อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ เวียนหัว หงุดหงิด
- ตามัว ขาดสมาธิ
ประเภทและการรักษาเบาหวานเป็นอย่างไร
ประเภทและการรักษาเบาหวานมีทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มักพบในเด็กหรือผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี รักษาโดยการฉีดอินซูลิน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานและการออกกำลังกาย
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) พบมากในคนไทย เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่มากนัก ส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งอายุที่เพิ่มมากขึ้นมีส่วนทำให้การทำงานของตับอ่อนลดประสิทธิภาพลง หากเป็นแล้วรักษาได้โดยการทานยาและฉีดยา พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานและการออกกำลังกาย
นอกจากนี้ในปัจจุบันคนไทยเป็นโรคอ้วนกันมาก “ส่วนใหญ่คนอ้วนมักเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากภาวะดื้ออินซูลิน เพราะเวลาที่ไขมันมีปริมาณมากส่งผลให้อินซูลินทำหน้าที่ได้ไม่ดีนักในการส่งน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ซึ่งการควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์จะช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานได้”
- โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการตั้งครรภ์ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน มีแนวโน้มที่จะมีระดับน้ำตาลสูงขึ้น ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป หรือคุณแม่ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน เช่น มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์สูง ครรภ์แฝด หรือผู้มีบุตรยาก เป็นต้น จำเป็นที่จะต้องตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ 2 และ 3 หากคุณแม่เป็นเบาหวานจะส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ การรักษานั้นจะเน้นการใช้ยาที่มีผลข้างเคียงกับคุณแม่และทารกน้อยที่สุดและดูแลเรื่องการทานอาหารอย่างใกล้ชิด
- โรคเบาหวานชนิดอื่นที่มีสาเหตุเฉพาะ ได้แก่ ความผิดปกติทางพันธุกรรม ความผิดปกติของฮอร์โมน การได้รับยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์หรือสารเคมี เป็นต้น การรักษาจะพิจารณาจากอาการของแต่ละบุคคล
ป้องกันเบาหวานได้อย่างไร
การป้องกันโรคเบาหวานสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรคเบาหวาน ได้แก่
- เลี่ยงของหวาน น้ำอัดลม น้ำรสหวานทุกชนิด
- กินให้ถูกสัดส่วน เลือกทานอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
- อาหารควรเน้นทานรสจืด โดยเฉพาะมื้อต่าง ๆ ในครอบครัว
- รักษาน้ำหนักให้คงที่เป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสม
หากเป็นเบาหวานแล้วควบคุมโรคได้อย่างไร
สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน สิ่งที่ควรทำคือ
- เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นเบาหวานให้ยอมรับตัวเองและเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ
- ให้ความร่วมมือในการรักษา ทานยา และปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- เลี่ยงน้ำหวาน ผลไม้หวาน ลดไขมันและอาหารเค็ม ทานผักให้มาก
- ดูแลระดับน้ำตาลอย่างใกล้ชิด คุมความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือด
พญ.รัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ ฝากถึงการใส่ใจให้ห่างไกลจากโรคนี้
เบาหวานเป็นเรื่องใกล้ตัว คนที่ไม่มีกรรมพันธุ์ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นต้องดูแลตนเอง ไม่ติดกับรสหวาน เพราะประโยชน์ที่ได้รับน้อยมาก ถ้าเลี่ยงได้จะดีต่อสุขภาพ ยิ่งผู้หญิงยุคใหม่สามารถเลือกได้ว่าจะไปกินของหวาน หรือไปออกกำลังกาย เพราะหากระวังตั้งแต่วันนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานในระยะยาวได้”
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาเบาหวาน
พญ.รัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาเบาหวาน
โรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์ และทีมสหสาขาที่พร้อมให้การดูแลอย่างใกล้ชิด