ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นกลุ่มของโรคที่พบบ่อยในคนที่ทำงานออฟฟิศหรือวัยทำงาน เนื่องจากต้องนั่งทำงานนาน ๆ ใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ รวมทั้งอาจมีการจัดระเบียบร่างกายที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ การ Work From Home ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 อาจทำให้เกิดอาการ Office Syndrome ได้เช่นกัน แถมยังอาจจะมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าการทำงานที่ออฟฟิศในสถานการณ์ปกติเสียอีก
รู้จักออฟฟิศซินโดรม
ภาวะออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นคำรวม ๆ ของกลุ่มโรคที่เกิดจากลักษณะการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน นั่งโต๊ะทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง ซึ่งสามารถเกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้หลากหลายระบบ เช่น อาการปวดตึงกล้ามเนื้อ อาการชาที่มือ อาการปวดบวมตามข้อต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งอาการปวดเสียดท้องจากการทานอาหารไม่ตรงเวลาและความเครียดจากงาน
ตัวอย่างของโรคในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่
- กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) ซึ่งทำให้เกิดการปวดเมื่อย มักจะพบบ่อยบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก
- โรคเส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ (Carpal Tunnel Syndrome)
- นิ้วล็อค (Trigger Finger)
- เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tendinitis)
- ปวดหลังจากท่าทางไม่เหมาะสม (Postural Back Pain)
- อาการปวดเข่าทางด้านหน้า (Patellofemoral Syndrome)
- โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia)
ตัวการออฟฟิศซินโดรม
เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ร่วมกับท่าทางของร่างกายไม่เอื้ออำนวย ไม่เหมาะสม กล้ามเนื้อเกิดการล้า ร่วมทั้งสภาวะแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ในบางราย อาจจะมีปัจจัยภายในร่วมด้วย เช่น มีภาวะกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กัน (Muscle Imbalance) หรือภาวะความผิดปกติของกระดูกสันหลัง (Spinal Deformity) ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดได้
ป้องกันออฟฟิศซินโดรมช่วง Work From Home
การป้องกันภาวะออฟฟิศซินโดรมในช่วง Work From Home สามารถทำได้ไม่ยาก ดังนี้
- ปรับโต๊ะทำงานและสภาพแวดล้อม จัดบริเวณทำงานให้เหมาะสม แสงสว่างเพียงพอ หากอยู่ใกล้หน้าต่าง สามารถมองเห็นวิวภายนอกห้องได้ยิ่งดี ควรเลี่ยงการนั่งทำงานบนพื้น เลือกโต๊ะทำงานให้ความสูงเหมาะสม โดยจอคอมพิวเตอร์อยู่ระดับสายตาหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ปรับระดับความสูงเก้าอี้ให้พอเหมาะ หากมีที่วางแขนก็จะช่วยได้มากขึ้น แขน และข้อมือควรจะขนานกับโต๊ะทำงาน ไม่วางเมาส์และคีย์บอร์ดไกลเกินไป ทำให้ต้องเอื้อมแขน หรือก้มหลัง ควรงอข้อศอกประมาณ 90 องศา หลังตรงพิงพนักเก้าอี้ ต้นขาขนานกับพื้น ไม่งอเข่าเกิน 90 องศา หากขาไม่ถึงพื้น สามารถใช้ที่วางเท้าช่วยได้
- ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ควรทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรจะปรับเปลี่ยนท่าทางทุก ๆ 1 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย เหยียดยืดกล้ามเนื้อ ละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ มองวิวภายนอกห้อง ผ่อนคลายความเครียด
- บริหารร่างกายเป็นประจำ ทั้งการยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่นและการออกกำลังเพื่อเสริมความแข็งแรงให้ร่างกายและกล้ามเนื้อมีความพร้อมในการทำงาน
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ปัจจุบันมีการใช้งานมือถือและแท็บเล็ตเป็นเวลานานขึ้น โดยเฉพาะก่อนนอนขณะอยู่บนเตียง ซึ่งนอกจากสายตาต้องทำงานหนักในความมืดแล้ว กล้ามเนื้อรอบ ๆ คอ บ่า ไหล่ ก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นกัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7 – 9 ชั่วโมง และทานอาหารให้ครบถ้วนตามสารอาหาร
- Be Active การ Work from Home ในช่วง COVID-19 อาจทำให้เกิดความเครียดและขาดการขยับร่างกาย ดังนั้นการหมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การทำงานบ้าน รดน้ำต้นไม้ หรือเต้นประกอบเพลงตาม Social Network จะช่วยให้สภาพร่างกายแข็งแรงและสภาพจิตใจแจ่มใสมากขึ้น
ปวดเมื่อยเรื้อรังต้องพบแพทย์
หากมีอาการปวดเมื่อยเรื้อรังหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม แต่หากมีอาการรุนแรงอื่น ๆ เช่น ชาหรืออ่อนแรงอาจเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาการข้อปวดบวมอาจมีการอักเสบภายในข้อ อาการปวดมากกลางคืนหรือมีก้อนโตขึ้น อาจจะเกิดจากเนื้องอกได้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว