5 โรคช่องท้องรักษาได้ด้วยการส่องกล้อง 3 มิติ

7 นาทีในการอ่าน
หรือ
rifm-iconrifm-play-icon
ฟัง AI สรุปให้
5 โรคช่องท้องรักษาได้ด้วยการส่องกล้อง 3 มิติ

แชร์

โรคในช่องท้องหลายโรคมักเริ่มจากอาการปวดท้องที่เหมือนจะธรรมดา แต่เมื่อรุนแรงอาจส่งผลให้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ก้าวไปไกลอย่างการผ่าตัดผ่านกล้องแบบไม่ต้องเปิดหน้าท้องผ่าเช่นสมัยก่อน หากถึงมือแพทย์เร็วย่อมช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง 

 

5 โรคช่องท้องดังต่อไปนี้รักษาได้ด้วยการส่องกล้อง 3 มิติ

 

1) ไส้ติ่งแตก

‘ไส้ติ่งอักเสบจะปวดท้องน้อยด้านขวา’ แต่หากคนไข้ไส้ติ่งแตกไปถึงมือหมอแล้ว วินิจฉัยโรคช้าจนมีภาวะแทรกซ้อน เป็นเพราะไส้ติ่งไม่ได้ปวดในตำแหน่งเดียวกันทุกคน ไส้ติ่งบางคนมุดไปอยู่ข้างหลังลำไส้ใหญ่ บางทีอยู่ใต้ตับ บางคนปวดท้องน้อยตรงกลาง ๆ บางคนต้องตรวจด้วยวิธีอื่น เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถึงจะเจอ

ปัจจุบันการตัดไส้ติ่งด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องเป็นที่นิยม เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องขนาดเล็กกว่าด้ามปากกาลูกลื่นบางยี่ห้อ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหลังผ่าตัด เสียเลือดน้อย หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ต่ำ แต่หากเกิดไส้ติ่งแตก ไส้ติ่งแตกใหม่ ๆ ยังใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้องได้ ถ้าผู้ป่วยปวดท้องน้อยด้านขวาด้านเดียว ไม่ปวดด้านซ้าย แต่ถ้าเกิดปวดทั้งท้องน้อยแล้วให้สงสัยว่ามีการรั่วหรือความสกปรกกระจายไปทั่ว แพทย์มักจะเลือกเปิดหน้าท้องผ่าตัด การผ่าตัดผ่านกล้องจะมีข้อจำกัดตรงที่จะล้างลำไส้ด้วยน้ำเกลือได้ไม่ดีเท่าการเปิดหน้าท้องผ่าตัดเพราะพื้นที่ทำงานจำกัด บางคนไส้ติ่งอักเสบแล้วไม่รู้ ทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ และที่เจอบ่อยคือทานยาฆ่าเชื้อเอง ไม่แนะนำ เพราะจะทำให้อาการดีขึ้นชั่วคราว ข้อเสียคือบางคนกลับมาด้วยอาการของโรคที่รุนแรงกว่าเดิม อาจกลายเป็นหนองจนยาบรรเทาอาการไม่อยู่ ก็จะมาหาหมอ ดังนั้นการปวดท้องต่อเนื่องยาวนานไม่แนะนำให้ทานยาแก้ปวดเอง

 

ไส้ติ่งแตก, นิ่วในถุงน้ำดี, ตับ, ตับอ่อน, ไส้เลื่อน, ผ่ากระเพาะ, โรคช่องท้อง, ปวดช่องท้อง, ผ่า 3 มิติ, ผ่าส่องกล้อง, ผ่าตัดส่องกล้อง, ส่องกล้อง

 

2) นิ่วในถุงน้ำดี

ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีอาจมีอาการไม่มาก เริ่มจากแค่จุก ๆ แน่น ๆ หลังทานอาหาร 30 นาที เนื่องจากเป็นช่วงที่ถุงน้ำดีบีบตัวปล่อยน้ำดี แต่มีนิ่วอยู่จึงบีบตัวไม่ถนัด ใครที่มีอาการดังกล่าวประจำ ควรตรวจว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ กรณีพบนิ่วในถุงน้ำดีไม่ว่าขนาดไหน แพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการจะดูอาการเป็นหลัก ถ้ามีอาการเมื่อไรร่างกายเตือนแล้วว่าทิ้งไว้จะมีปัญหาควรผ่าออก ในรายที่ละเลยปล่อยให้ถุงน้ำดีอักเสบนาน ๆ หรืออักเสบรุนแรง ร่างกายจะพยายามช่วยเหลือตนเอง โดยดึงอวัยวะรอบ ๆ มาหุ้มถุงน้ำดีไว้ไม่ให้แตกหรือสร้างพังผืดหุ้ม ปัญหาคือถ้าท่อน้ำดีหลักถูกดึงมาติดด้วยกัน การผ่าตัดจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะไปโดนท่อน้ำดีหลัก 

จากตัวเลขที่โรงพยาบาลกรุงเทพเคยเก็บสถิติปี 2561 ของผู้เข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องนิ่วในถุงน้ำดี พบว่า 93% ของคนไข้สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้สำเร็จแม้ในรายที่มีการอักเสบเฉียบพลัน และอัตราการบาดเจ็บที่ท่อน้ำดีหลักและการติดเชื้อหลังผ่าตัดในรายที่ไม่มีการอักเสบเฉียบพลันนั้นเป็น 0% แน่นอนว่าศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญด้านผ่าตัดผ่านกล้องเป็นกุญแจสำคัญ แต่ยังมีเหตุผลอื่นด้วย ในห้องผ่าตัดจะมีศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง 2 ท่านช่วยกันเป็นทีม แพทย์ท่านหนึ่งจะโฟกัสส่วนที่กำลังผ่าตัด ส่วนรอบ ๆ จะมีแพทย์อีกท่านคอยตรวจสอบ ทำให้งานประณีตขึ้น ซึ่งระบบนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในโรงพยาบาลกรุงเทพสำหรับผู้ป่วยทุกราย และเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องที่โรงพยาบาลกรุงเทพมีทั้ง เทคโนโลยี 4K Ultra High Definition แต่ก่อนความคมชัดระดับ Full HD ปัจจุบันมีเหนือกว่านั้น คมชัดขนาดขึ้นจอ 55 นิ้วให้ศัลยแพทย์เห็นอวัยวะภายในชัดเจนขณะผ่าตัด 

ส่วนเทคโนโลยีที่ 2 คือ 3D ปัจจุบันนำมาใช้ในการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก 3 มิติ (Advanced 3D Laparoscopic Surgery) คือตรงปลายกล้องผ่าตัดจะมี 2 เลนส์ เหมือนเรามี 2 ตา ทำให้เห็นระยะความลึกของอวัยวะที่กำลังจะผ่าตัดแบบ 3 มิติ (3D) ศัลยแพทย์จะใส่แว่น 3 มิติมองขณะทำการผ่าตัด ความคมชัดของภาพที่เห็นระดับ Full HD แต่ยังไม่คมชัดเหนือระดับ Full HD เช่นกล้อง 4K ที่ใช้อยู่ เพราะยังไม่สามารถลดขนาดเลนส์ 4K สองเลนส์เข้าไปในกล้องขนาด 1 เซนติเมตรได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่กล้องมีความคมชัดสูง ทำให้ลดผลข้างเคียงที่จะเกิดกับการผ่าตัดในกรณีที่อวัยวะอยู่ชิดกันมาก ๆ อย่างการตัดถุงน้ำดีออกที่ต้องค่อย ๆ เลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตัวตับและอวัยวะข้างเคียง ระยะห่างแค่มิลลิเมตรเดียว การใช้ความร้อนหรือจี้ไฟฟ้าตัดถ้าเราพลาดเลยไปก็อาจไปโดนตัวตับ เลือดก็จะออกมา ถ้าพลาดชิดถุงน้ำดี ซึ่งบางสัก 2 – 3 มิลลิเมตรก็อาจทะลุเข้าถุงน้ำดี มีโอกาสติดเชื้อจากถุงน้ำดีแตก การใช้เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง 3 มิติ หรือจะใช้ 4K ช่วยในการผ่าตัดได้ดี

 

3) ตับและตับอ่อน

การรักษาตับและตับอ่อนที่อักเสบด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง มักจะทำในกรณีที่พบเนื้องอก มะเร็ง ซีสต์ หรือมีนิ่วไปอุดท่อตับอ่อน 

  • ตับอ่อนอักเสบ
    ในกรณีที่ตับอ่อนอักเสบ เนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีพลัดไปอุดท่อตับอ่อน แพทย์จะใส่กล้องผ่าตัดเข้าทางปากเหมือนการส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพราะลำไส้ส่วนต้นจะมีรูที่ท่อตับอ่อน เมื่อเอากล้องเข้าไปแล้วคล้องนิ่วในท่อออก แต่ไม่สามารถเข้าทางนี้เพื่อไปเอานิ่วในถุงน้ำดีได้ จึงต้องเจาะหน้าท้องเป็นรูเล็ก ๆ เพราะท่อน้ำดีคดเคี้ยวและบริเวณคอท่อที่ต่อกับถุงจะแคบราว 2 มิลลิเมตร และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ไม่นิยมสลายนิ่วในถุงน้ำดี เพราะเศษนิ่วอาจพลัดไปอุดท่อถุงน้ำดี ซึ่งอันตรายหนักกว่าเดิม
  • ตับหรือตับอ่อนเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง
    ในกรณีที่ตับหรือตับอ่อนเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง การผ่าตัดผ่านกล้องช่วยให้มองเห็นเส้นเลือดเล็ก ๆ ที่อยู่ในตับได้ชัดเจน ทำให้การผ่าตัดเสียเลือดน้อย ลดโอกาสบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง คนไข้ฟื้นตัวเร็ว เทียบกับสมัยก่อนที่ผ่าทางหน้าท้องแผลจะยาวเกือบฟุต 

 

“เทคโนโลยีกล้องผ่าตัด 3 มิติ หรือ 4K ในปัจจุบันเห็นชัดกว่าการเปิดหน้าท้องแบบเก่า เพราะกล้องเข้าไปจ่ออยู่ที่อวัยวะห่างประมาณ 1 เซนติเมตรและกล้องยังมีกำลังขยายสูง สามารถหักมุมชอนไชได้ดี ทำให้มุมที่เมื่อก่อนแพทย์มองไม่เห็นก็เห็นได้ชัดเจน”

 

ไส้ติ่งแตก, นิ่วในถุงน้ำดี, ตับ, ตับอ่อน, ไส้เลื่อน, ผ่ากระเพาะ, โรคช่องท้อง, ปวดช่องท้อง, ผ่า 3 มิติ, ผ่าส่องกล้อง, ผ่าตัดส่องกล้อง, ส่องกล้อง

 

4) ไส้เลื่อน

ไส้เลื่อนเกิดจากผนังของกล้ามเนื้ออ่อนแอ ทำให้ลำไส้เลื่อนออกจากตำแหน่งที่ควรจะเป็น มักพบบริเวณขาหนีบ สะดือ และช่วงยอดอก (กลุ่มนี้เรียกไส้เลื่อนกะบังลม) หรือบริเวณผนังหน้าท้องที่เคยผ่าตัดมาก่อน จะมีอาการปวดแบบจุก ๆ แน่น ๆ ร่วมกับการสังเกตเห็นก้อนนูน ๆ ในตำแหน่งที่ปวด สำหรับผู้ที่เป็นไส้เลื่อนกะบังลม กระเพาะอาหารจะถูกดันขึ้นไปอยู่ในช่องอก กลุ่มนี้มักจะมีอาการกรดไหลย้อน เนื่องจากน้ำย่อยเล็ดลอดเข้าไปในหลอดอาหารนานเข้าทำให้เกิดแผลในหลอดอาหาร เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร 

  • ไส้เลื่อนขาหนีบ
    ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นไส้เลื่อนขาหนีบ โดยเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากทารกชายขณะยังอยู่ในท้องแม่ อัณฑะจะยังอยู่ในช่องท้อง และค่อย ๆ เลื่อนลงออกมาข้างนอก จากนั้นผนังหน้าท้องจะค่อย ๆ ปิดเองตามวิวัฒนาการ แต่บางคนปิดไม่สมบูรณ์ บางคนปิดสมบูรณ์ แต่ภายหลังมีการซ่อมแซมคอลลาเจนที่ผิดปกติ ทำให้มีลำไส้เลื่อนโผล่ออกมา ไส้เลื่อนสามารถเลื่อนเข้าออกได้ บางครั้งเลื่อนออกมาแล้วหมุนไปมาเกิดค้างติดไม่สามารถดันกลับเข้าช่องท้องได้ เลือดวิ่งไปเลี้ยงลำไส้ไม่ได้ เพราะมีการหักพับ ลำไส้จะบวมขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายลำไส้เน่า ไส้เลื่อนแล้วเกิดลำไส้เน่าได้เช่นกัน 

กรณีเช่นนี้การผ่าตัดผ่านกล้องช่วยได้ โดยจะมีการนำตาข่ายไปปิดช่องที่เกิดไส้เลื่อน เพื่อเสริมความแข็งแรง ป้องกันการเกิดไส้เลื่อนซ้ำ ปกติจะมีช่องที่เป็นจุดอ่อนให้เกิดไส้เลื่อนขาหนีบได้ 3 ช่อง คนหนุ่มมักจะเกิดไส้เลื่อนตรงช่องที่มีท่อนำน้ำเชื้อออก เมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อช่องตรงกลางมักอ่อนแอก็จะพบไส้เลื่อนออกที่ช่องตรงกลาง ส่วนผู้หญิงพอมีอายุ ไขมันจะน้อยลงมักพบไส้เลื่อนออกอีกช่องข้างเส้นเลือด การผ่าตัดไส้เลื่อนปัจจุบันแพทย์จะปิดแผ่นตาข่ายไว้ด้านหลังช่องที่เกิดปัญหาและคลุมไปยังช่องที่ไม่เป็นปัญหาด้วย ส่วนไส้เลื่อนกะบังลมจะใช้ตาข่ายช่วยปิดเช่นกัน แต่ถ้าช่องที่ก่อปัญหาไม่กว้างก็จะใช้การเย็บปิด

 

5) โรคอ้วน 

ปัจจุบันเชื่อกันว่าโรคอ้วนเป็นสาเหตุของโรคเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome ความผิดปกติของระบบเมแทบอลิก) นำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไขมันดีต่ำ รวมถึงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และภาวะดื้อต่ออินซูลินที่จะกลายเป็นเบาหวานในที่สุด โรคอ้วนยังมีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติโดยเฉพาะอ้วนลงพุง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผิดปกติส่งผลให้ภาวะไข่ตกแปรปรวนในสตรี ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทำให้มีบุตรยาก ทั้งยังพบว่า การมีซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่สัมพันธ์กับโรคอ้วน คนที่น้ำหนักเกินมาก ๆ ไขมันจะถูกแปลงรูปก่อให้เกิดสารที่ดื้อต่ออินซูลิน เกิดความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนปั่นป่วน และเกิดโรคเบาหวานทำให้เส้นเลือดผิดปกติ มีผลต่อหลอดเลือดที่สมอง ที่หัวใจ ที่ไต ที่ตา หลอดเลือดหลัก ๆ เสื่อมหมด เกิดจากน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปทำลายเส้นเลือด

  • ผ่าตัดผ่านกล้องลดขนาดกระเพาะ
    การผ่าตัดผ่านกล้องลดขนาดกระเพาะเป็นการสร้างข้อจำกัดให้บริโภคน้อยลง ไม่เพียงอัตราลดน้ำหนักสำเร็จจะสูง ยังพบว่า ทำให้โรคที่มากับภัยอ้วนดีขึ้นอย่างน่าทึ่ง อาการไขมันพอกตับดีขึ้น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ดีขึ้น ความดันโลหิตสูงดีขึ้น โรคหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับดีขึ้น ประจำเดือนมาไม่ปกติดีขึ้น ฯลฯ อีกทั้งถุงน้ำในรังไข่ที่เห็นเหมือนจุดไข่ปลาเกิดจากภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ เมื่อน้ำหนักลดได้ตามเกณฑ์ ซีสต์พวกนี้ส่วนใหญ่จะยุบไปเอง 

การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาโรคอ้วนที่เป็นมาตรฐานของการผ่าตัดประเภทนี้มีอยู่ 3 วิธี 

  1. ใช้ซิลิโคนรัดกระเพาะให้เหลือ 30 ซีซี. (ลดน้ำหนักสำเร็จราว 50% แต่มีอัตราที่จะกลับมาอ้วนใหม่ใน 5 ปีสูง) 
  2. ตัดกระเพาะให้มีความจุ 150 ซีซี. รูปทรงเหมือนกล้วยหอม วิธีนี้จะตัดส่วนที่ผลิตฮอร์โมนควบคุมความหิวออกประมาณ 80% ผ่าตัดแล้วคุณหมอบอกจะไม่ค่อยหิว อัตราลดน้ำหนักสำเร็จ 60 – 70% โรคร่วมต่าง ๆ อย่างเบาหวาน ความดัน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือหอบหืด กรดไหลย้อน โรคไขข้อดีขึ้น
  3. ตัดกระเพาะให้เหลือ 30 ซีซี. และตัดลำไส้ By Pass ให้สั้นลง เพื่อลดการดูดซึมสารอาหาร อัตราการลดน้ำหนักสำเร็จ 70 – 80% และวิธีนี้พบว่าภาวะความดันโลหิตและเบาหวานดีขึ้นกว่าวิธีที่ 2 เพราะในลำไส้มีตัวรับสัญญาณประสาทกลุ่มหนึ่งสัมพันธ์กับน้ำตาล พอตัดออกอาการเบาหวานจะดีขึ้น แต่วิธีนี้ลำไส้จะมีรอยต่อ 2 ตำแหน่ง กระเพาะเป็นอวัยวะที่เลือดมาเลี้ยงดี รั่วซึมยาก แต่ลำไส้ไม่ใช่ โอกาสรั่วซึมและเกิดภาวะแทรกซ้อนจะสูงกว่า ฉะนั้นถ้าไม่มีโรคร่วมกับความอ้วนที่รุนแรง เช่น เป็นเบาหวานอย่างรุนแรงหรือโรคอื่น ๆ แพทย์อาจจะเพียงตัดกระเพาะให้เป็นรูปกล้วย แต่ถ้าผ่าตัดวิธีนี้แล้วยังลดน้ำหนักไม่ได้ตามเกณฑ์และโรคร่วมรุนแรง จึงทำ By Pass ลำไส้ในขั้นต่อไป ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องลดขนาดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน น้ำหนักที่ลดลงเป็นผลพลอยได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ โรคแทรกซ้อนที่รุมเร้ามากับความอ้วนดีขึ้น ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความนับถือตนเองกลับมา

 

“วิธีผ่าตัดผ่านกล้องเป็นที่นิยมและด้วยเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กกว่าด้ามปากกา เทคโนโลยี 3D หรือ 4K ช่วยเพิ่มความคมชัด ทำให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ”

 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ชนินทร์ ปั้นดี

ศัลยศาสตร์

นพ. ชนินทร์ ปั้นดี

ศัลยศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

ประหยัดเวลาค้นหาแพทย์ด้วยตัวเอง

ให้ AI ช่วยประเมินอาการและแนะนำแพทย์ที่เหมาะสม

แชร์

แชร์