7 เรื่องจริง อย่าชะล่าใจอาการเส้นเลือดขอด

2 นาทีในการอ่าน
7 เรื่องจริง อย่าชะล่าใจอาการเส้นเลือดขอด

เพราะอาการเส้นเลือดขอดมักถูกจัดลำดับความสำคัญให้เป็นปัญหาเล็ก ๆ ของหลายคน จนกลายเป็นความชะล่าใจ มองข้ามอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านไปวันแล้ววันเล่า โดยไม่รู้เลยว่าสามารถขยายผลกลายเป็นปัญหาใหญ่โต เนื่องจากอาการเส้นเลือดขอดสามารถลุกลามเป็นแผลเรื้อรังได้เลยทีเดียว

นี่คือ 7 ความจริงเกี่ยวกับเส้นเลือดขอดที่ทุกคนควรระวังและรักษาให้หายเร็วได้จะดีที่สุด

 

1) เส้นเลือดขอดไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการทายาหรือครีมภายนอก

ต้องตรวจวินิจฉัยโรคที่มีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ชนิดพิเศษสำหรับหลอดเลือด (Duplex Ultrasound) เพื่อประเมินหาสาเหตุแอบแฝง มิฉะนั้นอาจกลับมาเป็นซ้ำหลังจากรักษาไปแล้ว

 

2) เส้นเลือดขอดเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย

แต่ที่พบเยอะที่สุดคือบริเวณขา โดยคนที่น้ำหนักตัวมาก ๆ มีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่า รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งจากตัวเลขคนไข้ที่มารักษา ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการรุนแรงกว่า ส่วนใหญ่คนไข้ผู้ชายเมื่อมาพบแพทย์เพื่อรักษามักจะมีเส้นเลือดขอดแบบเป็นตัวหนอน ไม่ก็เป็นแผลเส้นเลือดขอดอักเสบแล้ว 

 

3) ใครที่แต่ละวันทำงานต้องยืนนาน ๆ นั่งนาน ๆ มีโอกาสเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดมาก

เช่น ครู แอร์โฮสเตส พยาบาล หรือแม้แต่สาวออฟฟิศที่นั่งทำงานจดจ่อหน้าคอมพิวเตอร์ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ เพราะปริมาณของเลือดสูงขึ้น ทำให้เกิดการตึงของหลอดเลือด บวกกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง

 

เส้นเลือดขอด

4) โรคเส้นเลือดขอดป้องกันได้

อย่ายืนหรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ อีกทั้งหมั่นออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เพื่อบีบตัวให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น อย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วนหรือน้ำหนักมากเกินไป สวมเสื้อผ้าใส่สบายไม่รัดจนเกินไป ผู้หญิงไม่ควรใส่ส้นสูงเป็นเวลานานหรือใส่จนเป็นประจำ ควรพักขาบ้าง

 

5) สัญญาณเตือนสุ่มเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอด เริ่มจากปวดตึง รู้สีกหนัก ๆ หน่วงบริเวณขา รวมถึงเริ่มมีอาการบวมที่ขาส่วนล่าง

ควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอกระทั่งอาการลุกลามมากขึ้น เพราะยิ่งพบแพทย์เร็วก็ยิ่งรักษาให้หายได้เร็ว สำหรับคนไข้ที่มีเส้นเลือดขอด ปกติแพทย์จะไม่รักษาในทันที ต้องทำการตรวจลิ่มเลือดในส่วนลึกของหลอดเลือดดำ ตรวจดูวาล์วหรือลิ้นเปิด – ปิดของหลอดเลือดดำหาจุดที่เสียหรือพังเพื่อทำการรักษาต่อไป 

 

6) ระดับความรุนแรงของเส้นเลือดขอด

มีให้เห็นตั้งแต่เส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ (Spider Vein) รวมถึงเห็นหลอดเลือดโป่งพองลักษณะคดเคี้ยวคล้ายตัวหนอน สีผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้น ผิวหนังแห้งแข็งไปจนถึงการอักเสบเป็นแผล

 

เส้นเลือดขอด

7) การรักษาในปัจจุบันขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น

โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม ได้แก่ 

  • รักษาแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ด้วยการใส่ถุงน่องการแพทย์ชนิดพิเศษ 
  • การฉีดยาที่เส้นเลือดขอดในผู้ป่วยที่เส้นขอดขนาดเล็ก ใช้เวลา 15 – 30 นาที 
  • ใช้เลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radio Frequency) ด้วยการใส่สายขนาดเล็กเข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วใช้พลังงานจากเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงเข้าไปทำให้เส้นเลือดขอดฝ่อ ใช้เวลาประมาณ 30 – 45 นาที แผลมีขนาดเล็กประมาณ 0.5 เซนติเมตร หลังทำจะพันขาด้วย Elastic Bandage จากนั้นแนะนำให้ใส่ถุงน่องการแพทย์ที่มีระดับในการรัดกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันอาการเส้นเลือดขอดต่อไป
  • วิธีผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ ต้องประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนผ่าตัด ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง โดยดึงเส้นขอดออกมาเพื่อตัดทิ้ง แผลมีขนาดเล็กประมาณ 0.1 – 0.2 เซนติเมตรตามแนวเส้นเลือดขอด หลังผ่าตัดจะพันขาด้วย Elastic Bandage เช่นกัน และแนะนำให้ใส่ถุงน่องการแพทย์ชนิดพิเศษเพื่อป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอดต่อไป

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. กมล เรืองทอง

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
นพ. กมล เรืองทอง

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์หลอดเลือด

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด