ตรวจวัดพังผืดและไขมันสะสมในตับ ไม่เจ็บไม่นานก็รู้ผล

3 นาทีในการอ่าน
ตรวจวัดพังผืดและไขมันสะสมในตับ ไม่เจ็บไม่นานก็รู้ผล

ภาวะไขมันสะสมในตับคืออะไร

ภาวะไขมันสะสมในตับ คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันภายในเซลล์ตับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ โดยอาจมีเพียงการสะสมของไขมันอย่างเดียวหรืออาจมีการอักเสบของตับร่วมด้วย ซึ่งในผู้ป่วยบางราย การอักเสบเรื้อรังนี้อาจนำไปสู่การเกิดพังผืดในตับ หรือที่เรียกว่า ภาวะตับแข็งได้ โดยสาเหตุของโรคนี้ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดอาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน


ปัจจัยเสี่ยงไขมันสะสมในตับ 

ปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะไขมันสะสมในตับคือ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และจากนั้นอาจจะมีกลไกอื่นที่มากระตุ้นให้เซลล์ตับที่มีไขมันเกาะอยู่เกิดการอักเสบและการตายของเซลล์ตับ ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากจะไม่แสดงอาการชัดเจนนัก โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการจุกแน่นชายโครงด้านขวา หรือในรายที่เป็นมานานอาจมีอาการเริ่มต้นของภาวะตับแข็ง เช่น อ่อนเพลีย ท้องโต เป็นต้น ซึ่งมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือด เช็กสุขภาพประจำปี ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงของอาการนี้ลุกลามจนยากแก่การรักษา


ตรวจวัดพังผืดและไขมันสะสมในตับเป็นอย่างไร

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการตรวจวัดพังผืดและไขมันสะสมในตับ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยเพื่อดูสภาพการเกิดพังผืดในเนื้อตับเข้ามาช่วย นอกจากสามารถตรวจประเมินสภาวะพังผืดในเนื้อตับในผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งระยะแรก ๆ รวมถึงติดตามผล ประเมินระดับความรุนแรงเพื่อวางแผนการรักษา และวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งแทนการเจาะเนื้อตับได้แล้ว ยังสามารถประเมินและแสดงปริมาณไขมันสะสมในตับสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver) ได้พร้อมกันภายในครั้งเดียวอย่างรวดเร็วและตรงตำแหน่งชัดเจน โดยผู้ป่วยจะไม่ได้รับความเจ็บปวดหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ทั้งขณะเข้ารับการตรวจและภายหลังรับการตรวจ


หลักการตรวจวัดพังผืดและไขมันสะสมในตับเป็นอย่างไร

  1. การตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ ใช้หลักการทำงานโดยการปล่อยคลื่นเสียงเข้าไปในเนื้อตับและใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ในการตรวจวัดความเร็วของคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับเพื่อประเมินค่าความนิ่มหรือแข็งของเนื้อตับ โดยใช้หลักการที่ว่าหากตับเริ่มแข็ง คลื่นเสียงที่สะท้อนกลับจะเดินทางได้เร็ว ค่าที่ได้ก็จะสูงตามโดยหน่วยวัดที่ใช้เป็น kPa (กิโลพาสคาล)
  2. การตรวจประเมินไขมันสะสมในตับ ใช้หลักการปล่อยคลื่นอัลตราซาวนด์เข้าไปในเนื้อตับและวัดค่าความต้านทานนั้น ๆ หากตับมีปริมาณไขมันสะสมในตับมากก็จะมีแรงต้านทานมาก ค่าที่ได้ก็จะสูงตาม โดยหน่วยที่ใช้วัดเป็น dB/m (เดซิเบล/เมตร)

ข้อดีของการตรวจวัดพังผืดและไขมันสะสมในตับคืออะไร

  • การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจไม่ยุ่งยากสามารถตรวจได้ทันที ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร รู้ได้ทั้งภาวะพังผืดในเนื้อตับและปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยการตรวจเพียงครั้งเดียว ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 8 – 10 นาที และมีความชัดเจนสูง
  • ตรวจได้ลึกถึง 6.5 ซม. x 3 ลบ.ซม. และสามารถทราบผลได้ทันทีหลังการตรวจโดยไม่มีบาดแผล ไม่เจ็บ และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ หลังการตรวจ
  • ตรวจซ้ำได้บ่อยครั้ง เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยปราศจากผลข้างเคียง
  • ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล กลับบ้านได้ทันทีหลังการตรวจ

ข้อจำกัดของการตรวจวัดพังผืดและไขมันสะสมในตับคืออะไร

  • ไม่สามารถตรวจหาจุดเนื้องอกหรือมะเร็งในตับได้
  • ไม่สามารถทำการตรวจในผู้ป่วยที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 28 ( BMI  > 28kg/m2 ) 
  • ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องมาน (Ascites)
  • ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่ติดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pace Maker) เป็นต้น
  • ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะลุกลาม
  • ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดทางการแพทย์อื่น ๆ

ผู้ที่ควรตรวจวัดพังผืดและไขมันสะสมในตับ

  • ผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือซี
  • ผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบและตับแข็งจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ไวรัส
  • ผู้ที่มีไขมันสะสมในตับ

ขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเข้ารับการตรวจวัดพังผืดและไขมันสะสมในตับเป็นอย่างไร

  1. ต้องงดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย  2 ชั่วโมง
  2. นอนหงายโดยยกแขนทั้งสองข้างไว้เหนือศีรษะ
  3. เจ้าหน้าที่ทาเจลบริเวณข้างลำตัวด้านขวาของผู้ป่วย จากนั้นจึงวางหัวตรวจและทำการปล่อยคลื่นเสียง ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อย
  4. ทำการตรวจตำแหน่งเดิมจำนวน 10 ครั้ง ใช้เวลาในการตรวจทั้งหมดประมาณ 8 – 10 นาที
  5. เมื่อตรวจเสร็จผู้ป่วยจะทราบผลทันทีและสามารถปฏิบัติตัวได้ตามปกติโดยไม่มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามใด ๆ
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ

ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี, เสาร์, อาทิตย์ เวลา 07.00 - 16.00 น.

พุธ, ศุกร์  เวลา 07.00 - 18.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด