การเล่นกีฬานั้นดีต่อสุขภาพร่างกาย แต่ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ไม่มีใครอยากพบเจอได้เช่นกัน ซึ่งอาการบาดเจ็บที่พบมากในการเล่นกีฬามักเกิดจากแรงกระแทกทั้งทางตรงและทางอ้อม บางครั้งรู้ได้ทันที บางครั้งรอจนอาการแสดงมากแล้วถึงเพิ่งรู้ตัว ดังนั้นการรู้เท่าทันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่นกีฬาจะช่วยให้รักษาความเจ็บได้ถูกต้องและทันท่วงที
5 อาการบาดเจ็บที่ไม่อยากเจอเมื่อเล่นกีฬา แต่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้
1) แพลง เคล็ดจากการบิด
อาการแพลงเกิดขึ้นจากการได้รับแรงปะทะโดยตรง ทำให้ข้อต่อบิด โดยเกิดจากเส้นเอ็นและเยื่อหุ้มที่ยึดข้อต่อถูกยืดมากเกินไป โดยทั่วไปมักเกิดตรงบริเวณข้อเท้า ข้อเข่า และฐานข้อต่อของนิ้วหัวแม่มือ ส่วนอาการเคล็ดเกิดจากกล้ามเนื้อที่ถูกยืดมากเกินไปอย่างฉับพลัน ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว อาทิ การขว้างลูกตุ้ม การตีลูกเบสบอล การชกมวย การพุ่งตัว และการหยุดอย่างกระทันหัน
2) ฟกช้ำ
อาการฟกช้ำเกิดจากการกระแทกที่มาจากการเตะ ต่อย หรือกระทบ ทำให้เกิดอาการบวม ห้อเลือด หรือเลือดออกในหลอดเลือด โดยทั่วไปแล้วมักเกิดบริเวณหน้าอก แขน และข้อเข่า ส่วนการฟกช้ำของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการกดทับจะทำให้เซลล์ตายและเกิดแผลเป็น
3) กระดูกหัก
กระดูกหักเกิดจากแรงกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้กระดูกไม่สามารถทนต่อแรงกระแทกได้ อาทิ หกล้ม กระดูกหักจากความล้าที่มาจากน้ำหนักเกิน โดยทั่วไปมักเกิดตรงบริเวณซี่โครง กระดูกไหปลาร้า ต้นแขน ข้อมือ กระดูกต้นขา ข้อเท้า และกลางเท้า
4) กระดูกเคลื่อน
กระดูกเคลื่อนเกิดจากแรงกระแทก ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม อาทิ เมื่อหกล้มแล้วบริเวณข้อต่อกระแทกกับพื้น หรือกระดูกเคลื่อนจากความอ่อนแอของเส้นเอ็นที่ได้รับการบาดเจ็บหรือการบาดเจ็บเรื้อรังที่ทำให้กระดูกระหว่างข้อต่อเคลื่อนออก ไม่ประสานกัน โดยทั่วไปมักเกิดตรงบริเวณข้อต่อหัวไหล่ ข้อศอก ข้อเท้า ข้อของนิ้วมือ และนิ้วเท้า
5) กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นฉีกขาด
กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นฉีกขาดเกิดจากการได้รับแรงกระแทกจากภายนอก การรับน้ำหนักมากเกินไปทันที ทำให้เกิดการปริแตกของไฟเบอร์ในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น โดยเฉพาะในกรณีที่เคยได้รับการบาดเจ็บมาก่อน โดยทั่วไปมักเกิดตรงบริเวณเส้นเอ็นไบเซปส์ เอ็นร้อยหวาย กล้ามเนื้อต้นขา และเอ็นสะบ้า
เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยา ทำกายภาพบำบัด และการผ่าตัด โดยอาจใช้วิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่ผู้ป่วยได้รับ โดยแพทย์ผู้ชำนาญการจะเป็นผู้วินิจฉัยการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก Arthroscopic Surgery ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว เคลื่อนไหวได้ดี ดังนั้นการรักษากับแพทย์เฉพาะทางและสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานและมีความพร้อมของอุปกรณ์และเครื่องมือ ย่อมช่วยให้กลับมาเล่นกีฬาได้อย่างแข็งแกร่ง พัฒนาศักยภาพได้อย่างไม่หยุดยั้ง