ปรับระบบความคิด ลดวิกฤติการฆ่าตัวตาย

3 นาทีในการอ่าน
ปรับระบบความคิด ลดวิกฤติการฆ่าตัวตาย

ปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม ในปี ๆ หนึ่งจะมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยพบว่า มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที องค์การอนามัยโลกพบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ความเครียดสะสม ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและบีบคั้นต่อจิตใจ จนทำให้หาทางออกไม่ได้ ท้ายที่สุดเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุด โดยปัญหาเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอก แต่ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยภายในที่แฝงเร้นในร่างกายที่จะนำไปสู่หนทางมรณะของการฆ่าตัวตายโดยไม่รู้ตัวนั่นก็คือ “โรคซึมเศร้า”

 

โรคซึมเศร้า

จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า “โรคซึมเศร้า” สัมพันธ์กับระดับของสารเคมีในสมองที่ควบคุมเรื่องอารมณ์เศร้าเสียสมดุลไป โดยเฉพาะสารสื่อประสาทที่ชื่อ “เซโรโทนิน” (Serotonin) และ “นอร์เอพิเนฟริน” (Norepinephrine) ดังนั้นเมื่อแพทย์ให้ยาไปปรับระดับสารเคมีในสมองจึงทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นได้ จริง ๆ แล้ว “โรคซึมเศร้า” ยังมีสาเหตุการเกิดอีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยควรพูดคุยทำความเข้าใจกับแพทย์ผู้รักษาเพื่อที่จะให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง ในที่นี้จะขอกล่าวในภาพรวมว่า “ทัศนคติของคนในสังคมถือเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบต่อบุคคลที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า” พูดง่าย ๆ ว่า หากเรามีญาติสนิทหรือคนที่รักป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การที่เขาเหล่านั้นจะหายจากโรคนี้ได้ช้าหรือเร็วก็เป็นผลมาจากทัศนคติของคนรอบข้างด้วยเช่นกัน 


ลักษณะโรคซึมเศร้า

“โรคซึมเศร้า” มีลักษณะที่ชัดเจนและเป็นยาวนานกว่า คือ จะมีอารมณ์เศร้าหรืออารมณ์หงุดหงิดที่เป็นมากและเป็นอยู่เกือบตลอดทั้งวัน ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาการไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเอง ทำให้บกพร่องในเรื่องการคิด การตัดสินใจ ไม่สามารถทำหน้าที่การงานหรือการเรียนได้เหมาะสมดังเดิม บ่อยครั้งคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะไม่มีความสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เรียกง่าย ๆ ว่า “ไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น” “เบื่อหน่ายไปหมด” รวมทั้งมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ตามมาด้วย เช่น
  • กินเปลี่ยนไปจากเดิม เบื่ออาหาร กินข้าวไม่อร่อย หรือบางคนเป็นตรงกันข้าม คือ กินมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่หิว ทำให้มีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงเกินกว่าร้อยละ 5 ใน 1 เดือน
  • นอนเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น นอนไม่หลับ นอนได้สั้นกว่าเดิมมาก มักตื่นก่อนเวลาตื่นประจำของตน หรือบางคนจะนอนทั้งวันโดยไม่อยากลุกไปทำอะไร
  • ท่าทางเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เชื่องช้า ซึม เก็บตัว หรือบางคนเป็นตรงกันข้าม คือ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย รู้สึกอึดอัด รู้สึกอ่อนเพลีย เหมือนคนไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำอะไร
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดศีรษะ สมาธิ ความจำไม่ดี ทำให้ทำงานผิดพลาดมากกว่าที่เคย
  • ทำอะไรก็ไม่มั่นใจ ทั้ง ๆ ที่เป็นงานที่ตนเคยทำอยู่เป็นประจำ
  • มีความคิดเชิงลบต่อตัวเองและโลกภายนอก เชื่อว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี ไม่คู่ควรกับสิ่งดี ๆ คิดว่าไม่มีทางหรือคงไม่มีใครจะมาแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นได้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยมีความคิดเช่นนี้มาก่อน
  • มีความคิดเรื่องการตายหรือการฆ่าตัวตายอยู่ซ้ำ ๆ

“ความคิดเชิงลบแบบตำหนิตัวเองและความคิดย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนี้เป็นอาการของโรคซึมเศร้า” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะ “คนส่วนใหญ่ที่มีอาการซึมเศร้านั้นมักจะไม่รู้อาการตัวเองหรือถึงรู้ก็ไม่มีเรี่ยวแรงมากพอที่จะเดินไปหาตัวช่วย” ดังนั้นหากคนใกล้ชิดและครอบครัวสังเกตได้ว่า คนที่เรารักมีท่าทีเศร้า ๆ หรือเปลี่ยนไปจากเดิม ก็ควรแสดงท่าทีเข้าใจ ให้กำลังใจ และช่วยเหลือให้ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีก็จะทำให้ความคิดหรืออาการต่าง ๆ เหล่านี้ดีขึ้นได้

หลายครั้งที่บุคคลที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าต้องเผชิญศึก 2 ด้าน ทั้งเจอกับอารมณ์เศร้าที่มาจากตัวโรคเองและยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากครอบครัวและคนใกล้ชิด บางคนมักจะมองว่า “โรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่เกิดจากความอ่อนแอและความขี้เกียจ” จนเผลอไปวิพากษ์วิจารณ์หรือเอาความคิดของตัวเองไปตัดสินผู้ป่วย บางคนอาจจะมองว่าโรคซึมเศร้าเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ จึงมองข้ามไปและไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือดูแล บางคนอาจจะแนะนำให้ “อย่าคิดมาก” “ทำไมถึงยังไม่หายสักทีปัญหาแค่นี้เอง หรือรีบ ๆ ให้คำแนะนำไปในสิ่งที่ผู้ป่วยทำไม่ได้จริงในขณะนั้น ท่าทีต่าง ๆ ดังที่ยกตัวอย่างมานี้จะไม่เป็นผลดีต่อคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า


รักษาโรคซึมเศร้า

หากป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว อันดับแรก คือ ต้องปรับทัศนคติของตัวเองก่อนว่า “โรคซึมเศร้า” ก็เป็นเหมือนโรคอื่นทั่ว ๆ ไป เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนและไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะพูดคุยเรื่องนี้กับคนใกล้ชิดหรือคนที่ไว้ใจ (ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณร้อยละ 5) ยิ่งถ้าหากมีอาการมาก ๆ เช่น มีความคิดเรื่องฆ่าตัวตายหรือบกพร่องในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบก็ควรรีบหาช่องทางรักษาดูแลใจของตัวเองเสียแต่เนิ่น ๆ เช่น ควรปรึกษาผู้ชำนาญการในด้านนี้โดยเฉพาะ นั่นก็คือ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นต้น

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 3-6 อาคารโรงพยาบาลชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด