แผลเบาหวานขาดเลือดหล่อเลี้ยง รีบรักษาก่อนถูกตัดเท้า

4 นาทีในการอ่าน
แผลเบาหวานขาดเลือดหล่อเลี้ยง รีบรักษาก่อนถูกตัดเท้า

แชร์

ปัจจุบัน “เบาหวาน” ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาหลายประการ ที่สำคัญคือ “การเกิดแผลเบาหวาน” เพราะเรื่องที่น่าห่วงของคนไข้โรคเบาหวานคือ เมื่อเกิดบาดแผลแล้วอาจติดเชื้อได้ง่ายและหายยาก ทางที่ดีคนไข้ควรใส่ใจดูแล อย่าละเลยจนเกิดบาดแผล 

 

รู้ให้ทันแผลเบาหวาน

แผลเบาหวาน เป็นบาดแผลเรื้อรังที่พบได้บ่อย สาเหตุหลัก ๆ มักจะเกิดกับผู้เป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงที่ระบบประสาทส่วนปลาย รวมถึงหลอดเลือดส่วนปลายจะเสียหาย ส่งผลให้เส้นเลือดตีบและอุดตันในที่สุดเมื่อเท้าเกิดการขาดเลือดส่งผลให้แผลหายยากเพราะไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระบบประสาทรับความรู้สึกเสื่อมรับความรู้สึกได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย จึงเกิดอาการชา ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสความร้อนหรือเย็น มีแผล หรือแม้กระทั่งบางอย่างที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ เช่น เล็บขบ เป็นสาเหตุทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อได้ง่าย เมื่อเป็นแผลที่เท้าในช่วงแรกมักไม่รู้สึก กว่าจะรู้ตัวแผลก็ลุกลามไปมากแล้ว ทำให้รักษายาก ขบวนการการรักษาแผลของร่างกายเป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งการที่ระบบประสาทสั่งการผิดปกติก็ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ เท้าเกิดการผิดรูปบิดเบี้ยว เนื้อบริเวณปุ่มกระดูกบางแห่งต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกิดเป็นแผลได้เช่นกัน และหากมีการติดเชื้อรุนแรงร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจต้องถูกตัดเท้าหรือขา 

 

กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแผลเบาหวาน

กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแผลเบาหวาน คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นแผลเบาหวานเรื้อรังมานาน 5 – 10 ปี ยิ่งเป็นโรคเบาหวานมานานหลายปียิ่งเสี่ยงที่จะเกิดบาดแผล ทั้งนี้ปัจจัยในการเป็นแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานคือคนที่เป็นโรคเบาหวานเรื้อรังและควบคุมระดับน้ำตาลไม่ค่อยได้ การสูบบุหรี่ อายุที่มากขึ้น แต่ทั้งนี้พบว่า ร้อยละ 85 ของการสูญเสียสามารถป้องกันได้โดยการตรวจ ดูแลรักษาแผลและหลอดเลือดตั้งแต่ระยะแรก ดังนั้นการตรวจค้นหาและดูแลตั้งแต่ระยะแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพเท้าในผู้เป็นเบาหวาน 

 

แผลเบาหวานที่ขา, แผลเบาหวานหายช้า, แผลเบาหวาน ปวดน่อง, แผลเบาหวาน หลอดเลือดตีบ, แผลเบาหวาน ตัดนิ้ว, แผลเบาหวาน ตัดขา, แผลเบาหวาน รักษา

การป้องกันดูแลแผลเบาหวาน

ในการป้องกันดูแลแผลเบาหวานสิ่งสำคัญที่สุด คือการคุมระดับน้ำตาล และหมั่นตรวจเท้า (Foot Care) โดยก่อนนอนต้องคอยตรวจเท้าทุกวัน รวมทั้งคนไข้ควรมีกระจกดูด้านล่างของเท้าเพื่อส่องบริเวณนิ้วเท้าและใต้เท้าด้วย เพราะอาการชาไม่รู้สึกเจ็บจะทำให้แผลไม่รบกวนผู้ป่วยจนกระทั่งลุกลามไปแล้ว สำหรับคนไข้เบาหวานหากมีบาดแผลเกิดขึ้น ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลัก ๆ มี 2 ประเด็น คือ 

  1. มีเส้นเลือดตีบหรือตัน ซึ่งทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเท้าไม่เพียงพอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเริ่มจากมีอาการปวดน่อง เดินได้เพียงระยะทางสั้น ๆ ต้องนั่งพักเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ ถ้าผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ปล่อยให้ลุกลามจนเลือดไปเลี้ยงไม่ได้กลายเป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งระยะการลุกลามนั้นขึ้นอยู่กับว่าบาดแผลนั้นขาดเลือดหรือติดเชื้อรุนแรงมากเพียงใด ดังนั้นเมื่อพบแผลหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ทางที่ดีที่สุดควรรีบไปพบแพทย์ทันที 
  2. เนื่องจากคนไข้เบาหวานจะมีน้ำตาลในเลือดสูง หากไม่ควบคุมน้ำตาล ก็จะยิ่งทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ง่ายและหายยาก

 

การตรวจและการวินิจฉัยแผลเบาหวาน 

  • เริ่มจากแพทย์ซักประวัติและตรวจดูแผล หากผู้ป่วยเบาหวานมีแผล แพทย์จะตรวจประเมินตำแหน่งที่เกิดแผล คลำชีพจร ตรวจอาการชาและเท้าผิดรูป 
  • ตรวจ Ankle – Brachial Index เพื่อประเมินโรคหลอดเลือดเเดงที่แขนและขาตีบ โดยมีหลักการคือเปรียบเทียบความดันโลหิตระหว่างหลอดเลือดแดงที่แขน (Brachial Artery) และหลอดเลือดแดงที่ขาบริเวณข้อเท้า (Ankle) ค่าปกติจะต้องไม่ต่ำกว่า 0.9 หากต่ำกว่า 0.9 ถือว่าผิดปกติคือ เลือดมาเลี้ยงน้อยเกินไป และประเมินระดับออกซิเจนในผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดและแผลเรื้อรังเพื่อดูระดับการขาดออกซิเจน
  • ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Doppler Ultrasound) เพื่อดูภาวะเส้นเลือดตีบเบื้องต้น ประเมินการไหลเวียนของเลือดมาเลี้ยงที่เท้า
  • CT Angiogram เป็นการทำ CT ร่วมกับการฉีดสีเพื่อศึกษาหลอดเลือดว่ามีที่ตีบตันหรือไม่

 

แผลเบาหวานที่ขา, แผลเบาหวานหายช้า, แผลเบาหวาน ปวดน่อง, แผลเบาหวาน หลอดเลือดตีบ, แผลเบาหวาน ตัดนิ้ว, แผลเบาหวาน ตัดขา, แผลเบาหวาน รักษา

รักษาแผลเรื้อรังจากเส้นเลือดตีบตันในผู้ป่วยเบาหวาน 

วิธีการรักษาแผลเรื้อรังจากเส้นเลือดตีบตันในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานนี้คือ 

  1. คนไข้เบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพราะไม่อย่างนั้นจะรักษาเรื่องการติดเชื้อไม่ได้ หากน้ำตาลในเลือดสูง ระบบร่างกายจะทำงานได้ไม่ค่อยดี ทำให้กำจัดเชื้อออกไปจากร่างกายไม่ได้ 
  2. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือด เพื่อให้เลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงบริเวณส่วนที่เป็นแผลได้ ทั้งนี้การรักษาด้วยเทคโนโลยีบอลลูนหลอดเลือดสามารถทำได้ในคนไข้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เพราะจะรบกวนระบบของการทำงานของร่างกายน้อยกว่า เปรียบเทียบกับในอดีตที่ส่วนใหญ่ต้องใช้การรักษาด้วยวิธีการบายพาสซึ่งถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่แพทย์จะใช้เส้นเลือดดำหรือเส้นเลือดเทียมมาเย็บต่อโดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ ทั้งนี้การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมถือเป็นส่วนสำคัญในการรักษาคนไข้ 

ปัจจุบันการรักษาแผลเรื้อรังจากเส้นเลือดตีบตันในผู้ป่วยเบาหวานกับแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือดที่ทำงานร่วมกับการติดตามดูแลรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเบาหวาน ย่อมช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น 

แต่วิธีการรักษาที่ดีที่สุดก็คือการป้องกัน คนไข้ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี หมั่นทำความสะอาดเท้า ตรวจเท้าและฝ่าเท้าทุกวัน เพื่อเช็กดูว่ามีแผลที่เท้าหรือไม่ ทาครีมไม่ให้เท้าแห้งแตกจนเกิดแผล หากมีเท้าผิดรูปอาจต้องใส่รองเท้าพิเศษสำหรับผู้ป่วยเพื่อให้รับกับรูปเท้าและป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เมื่อเกิดแผลก็ไม่ควรรีรอและรักษาเองจนลุกลาม ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการทันที


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์หลอดเลือด
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์