เบาหวานเป็นโรคที่ต้องระวังอย่างมาก เพราะหากคุมเบาหวานไม่ได้อาจป่วยเป็นโรคหัวใจ ป่วยเป็นโรคไตจนต้องฟอกเลือด มีแผลที่เท้าแล้วไม่หายจนติดเชื้อต้องตัดขา แม้กระทั่งถ้าป่วยเป็นโควิดช่วงที่น้ำตาลในเลือดสูงอาจป่วยหนักจนถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นการสังเกตสัญญาณเตือนโรคเบาหวานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ
สัญญาณเตือนเบาหวานคืออะไร
9 สัญญาณเตือนโรคเบาหวานดังต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณต้องรู้และหมั่นสังเกต หากมีอาการให้รีบมาตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อให้แน่ใจว่าคุณกำลังป่วยเป็นเบาหวานหรือไม่ จะได้ดูแลตนเองอย่างถูกวิธี
- กระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อยกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หรือปัสสาวะปริมาณมากกว่าปกติ
- หิวบ่อย กินอาหารมากกว่าเดิม
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- สายตาพร่ามัว มองไม่ชัด
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- มีแผลและแผลหายช้ากว่าปกติ
- ชา ปวดแสบ ปวดร้อน หรือรู้สึกเหมือนมีมดไต่ที่ปลายมือปลายเท้า
- ผิวหนังแห้ง คัน
ระวังภัยเงียบจากเบาหวาน
เบาหวานเป็นภัยเงียบที่มาแบบไม่รู้ตัว เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการมาก่อน ดังนั้นในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน อาทิ มีภาวะอ้วน มีญาติหรือคนในครอบครัวสายตรงเป็นเบาหวาน เป็นต้น แม้ยังไม่มีอาการก็ควรตรวจคัดกรองเบาหวานเป็นประจำทุกปี เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนแสดงอาการ อาจเป็นหนักและเกิดผลข้างเคียงที่ยากจะรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้

เช็กตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลเบาหวาน
การเช็กตัวเองอยู่เสมอช่วยให้ห่างไกลเบาหวานและผลข้างเคียงจากเบาหวานสิ่งที่ควรทำคือ
- สังเกตตัวเอง อยู่เสมอว่ามีอาการผิดปกติตามสัญญาณข้างต้นหรือไม่
- ดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันตัวเองจากเบาหวาน ทั้งการคุมอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม
- ตรวจเช็กตัวเอง โดยการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลตามความเหมาะสม
ผู้ป่วยเบาหวานดูแลตัวเองอย่างไร
- คุมอาหาร ลดน้ำตาล ลดแป้ง ลดของหวาน
- ออกกำลังกาย แบบปานกลาง (Moderate Intensity) 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัดหมาย ตรวจระดับน้ำตาลและตรวจร่างกายตามที่แพทย์แนะนำ และฉีดวัคซีน ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนปอดอักเสบ
- สังเกตสัญญาณอันตรายของเบาหวาน อย่างน้ำตาลต่ำ เช่น ใจสั่น มือสั่น หน้ามืด ฯลฯ น้ำตาลสูง เช่น ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย ฯลฯ หรืออาการที่แสดงว่าน้ำตาลเริ่มเข้าไปทำร้ายอวัยวะในร่างกายแล้ว เช่น แสบร้อนเท้า เจ็บหน้าอก ตาพร่ามัว ถ้ามีสัญญาณเคือนควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
กินยาเบาหวานเสี่ยงโรคไตจริงไหม
ถ้าเป็นเบาหวานแล้วรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำจะไม่เสี่ยงต่อโรคไต แต่ถ้าเป็นเบาหวานแล้วไม่กินยา ปล่อยให้น้ำตาลสูง จะทำร้ายไตให้แย่ลง ไตเสื่อม และไตวายได้ในอนาคต จึงควรรับประทานยาให้ถูกต้อง ซึ่งยาที่ออกมาใหม่ ๆ นอกจากช่วยลดระดับน้ำตาลแล้ว ยังสามารถป้องกันภาวะโรคไตเสื่อมในอนาคต
เบาหวานหายได้ไหม
ในกรณีที่รับประทานยาเบาหวานมาก่อนแล้วคุมระดับน้ำตาลได้ดี โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เซลล์ไขมันบริเวณหน้าท้องที่หลั่งสารบางอย่างจะไปรบกวนการทำงานของอินซูลิน ฮอร์โมนที่ช่วยลดระดับน้ำตาล ถ้ามีเซลล์ไขมันเยอะ อินซูลินจะโดนรบกวนการทำงาน ทำให้ทำงานได้ไม่ดี ดังนั้นการรักษาเบาหวานที่ดีและตรงจุดคือการลดน้ำหนัก หากลดน้ำหนักได้มากอาจหายจากเบาหวานได้