อย่ามองข้ามโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

7 นาทีในการอ่าน
อย่ามองข้ามโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

รู้จักโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

โรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยมาก ทั้งกลางวัน กลางคืน ปวดกลั้นมากขณะที่จะไปห้องน้ำจนบ่อยครั้ง หรือบางครั้งกลั้นไม่อยู่ราดออกไปก่อน สตรีหลังคลอดบุตรตามธรรมชาติผ่านช่องคลอด 2 – 3 คนแล้ว อาจจะพบว่ามีอาการปัสสาวะเล็ดออกมาบ้างทั้งน้อยหรือมากเมื่อเวลาเป็นหวัด มีไอและจาม พบว่าปัสสาวะเล็ด เรียกว่า ปัสสาวะเล็ดเมื่อมีการออกแรงเบ่งช่องท้อง (Stress Urinary Incontinence, SUI) รวมทั้งอาจเกิดขึ้นได้เมื่อก้มลงยกของหนักจากพื้นหรือกระโดดออกเอกเซอร์ไซส์ หรือแม้แต่ก้าวขึ้นบันไดหลาย ๆ ขั้นก็ตาม


สาเหตุโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

สาเหตุหลักที่สำคัญและเกี่ยวข้องโดยตรงในสตรีเพศเป็นเพราะว่า กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนลง บางทีเรียกกันว่า กระบังลม (เชิงกราน) หย่อน ลองนึกถึงภาพ เปลญวณที่ผูกขึงไว้หย่อนเมื่อมีแรงของน้ำหนักตัวที่ลงไปนั่งนอนยิ่งหย่อนลงไปคล้าย ๆ กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่หย่อนอาจจะดึงท่อปัสสาวะและช่องคลอดหย่อนลงมาด้วยเป็นมุมที่ทำให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมาได้ง่ายนั่นเอง

 

img


ในความเป็นจริงโรคหรือกลุ่มอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั้นมีมานานแล้วในอดีต โดยเฉพาะในเพศหญิง แม่บ้านที่คลอดบุตร 2 ถึง 3 หรือหลายคน ดังปรากฏว่าภาษาชาวบ้านในอดีตเรียกกันว่า โรคช้ำรั่ว คล้ายจะบอกเล่าว่าเป็นอาการที่เกิดความรู้สึกที่น่ารำคาญใจในการดำเนินชีวิตตามปกติทีเดียว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังเป็นเรื่องของความเคยชินในสังคมที่เรามักจะไม่อยากพูดหรือเปิดเผยอาการปัสสาวะที่มีปัญหาเหล่านี้กับผู้อื่น รวมทั้งประชาชนผู้ซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นี้ก็ไม่อยากจะไปปรึกษาแพทย์ด้วยเช่นกัน เพราะอาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอายหรือเป็นข้อห้ามไม่ควรจะบอกเล่าต่อกัน (Taboo) จวบจนอาการมาก ๆ ทั้งนี้จึงไปปรึกษาแพทย์ แนวโน้มเช่นนี้พบได้คล้ายคลึงกับในหลาย ๆ ประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา ประมาณกันว่ามีจำนวนประชากรทั่วโลกไม่น้อยกว่า 200 ล้านคน กำลังมีปัญหาเรื่องโรคอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary Incontinence) ซึ่งเป็นปัญหาทางการแพทย์และภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาโดยเฉพาะการอักเสบทางเดินปัสสาวะและระคายเคือง

 

img

ประเภทโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่


โรค/กลุ่มอาการปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ (
Urinary Incontinence) ในมุมมองของการแพทย์ในปัจจุบันมีการจัดจำแนกอาการเหล่านี้เป็นรายละเอียดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นไป เพื่อการซักถามปรึกษาอาการและแนวทางการตรวจวิฉิจฉัย และการวางแผนการปรึกษาและแนะนำผู้ป่วยต่อไป

โรค/กลุ่มอาการปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

  1. ปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ที่เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital)
  2. ปัสสาวะรดที่นอน (Bed Wetting Enuresis)
  3. ปัสสาวะกลั้นไม่อยู่จากระบบประสาท (Neurogenic)
  4. ปัสสาวะเล็ดเมื่อออกแรงเบ่ง (Stress Urinary Incontinence)
  5. ปัสสาวะราดกลั้นไม่ได้ (Urge Incontinence)
  6. ปัสสาวะเล็ดและราดร่วมกัน (Mixed Incontinence) หมายถึงอาการข้อ 4 และข้อ 5 เป็นร่วมกัน
  7. ปัสสาวะล้นซึม (Over Flow Incontinence)
  8. ปัสสาวะบ่อยมากในช่วงกลางวัน (Urinary Freguency Daytime)
  9. ปัสสาวะบ่อยในช่วงเวลากลางคืน (Nocturia Night Time)
  10. ปัสสาวะปวดกลั้น (Urgency)
  11. กระเพาะ, ปัสสาวะไวเกิน (Over Active Bladder) หมายถึงกลุ่มอาการในข้อ 5, 8, 9 และ10 รวม ๆ กัน)

 

img


ความชุกของโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

จากสถิติตัวเลขที่มีรายงานในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีชาวอเมริกาเป็นโรคปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ถึง 25 ล้านคนและกลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะไวเกิน 33 ล้านคน สำหรับประเทศไทยนี้เคยมีการศึกษาร่วมกัน 4 โรงพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬา และโรงพยาบาลกรุงเทพ รวมข้อมูล 905 คน ความชุกของโรค/อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งพบว่าเมื่อปี ค.ศ. 1998 ศึกษาในเพศหญิงแบ่งตามอายุเป็น 3 กลุ่ม พบความผิดปกติและอาการต่าง ๆ ที่แสดงตามตารางดังต่อไปนี้

 

ข้อมูลความชุกของโรคและกลุ่มอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่สำหรับเพศหญิงในประเทศไทย (ตาราง)

กลุ่มอาการ อายุ 18 – 39 ปี อายุ 40 – 59 ปี มากกว่าอายุ 60 ปี
ปัสสาวะปวดกลั้น 7% 12.1% 23.2%
ปัสสาวะบ่อย 5.6% 11% 10.5%
ปัสสาวะบ่อยกลางคืน 3.2% 6.9% 24.5%
ปัสสาวะเล็ด 1.2% 7.5% 15.8%
ปัสสาวะราด 0.4% 1.7% 3.6%
กระเพาะปัสสาวะไวเกิน 3.2% 7.7% 15.5% 

 

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

  1. เริ่มเน้นที่การซักถามประวัติและอาการปัจจุบันอย่างละเอียดเป็นสำคัญ จะสามารถแยกแยะอาการแสดงที่เป็นอยู่ และพอที่จะทราบชนิดของปัสสาวะกลั้นไม่อยู่
  2. ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต รวมทั้งโรคที่เป็นอยู่ถึงปัจจุบัน เช่น โรคความดัน เบาหวาน หัวใจ ระบบประสาท รวมทั้งการผ่าตัดรักษาและอุบัติเหตุที่ส่งผลถึงระบบทางเดินปัสสาวะ
  3. ประวัติการคลอดบุตร และในเพศชายเน้นอาการโรคต่อมลูกหมากโต รวมทั้งระบบทางเพศและฮอร์โมน ฯลฯ
  4. ประวัติการใช้ยารักษาในปัจจุบัน โดยเฉพาะยาขับปัสสาวะ ยานอนหลับ กล่อมประสาท เป็นต้น
  5. สภาพทางจิตใจและอารมณ์ ฯลฯ  
  6. อาชีพความเป็นอยู่ทางสังคม ฯลฯ
  7. อาหารและน้ำดื่ม เครื่องดื่ม น้ำชา กาแฟ แอลกอฮอล์ บุหรี่ ฯลฯ
  8. การออกกำลังกาย พักผ่อน นอนหลับ

 

การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์

  1. ตรวจปัสสาวะเพื่อตัดปัญหาการอักเสบ
  2. ตรวจสอบความแรงของสายปัสสาวะ (Uroflowmetry, Residual Urine)
  3. ตรวจระบบประสาททางเดินปัสสาวะ ถ้าจำเป็น (Urodynamic)
  4. ตรวจส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ ถ้าจำเป็น
  5. อื่น ๆ           

 

รักษาโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การรักษาโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และกลุ่มอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ในที่นี้จะเน้นโรคปัสสาวะเล็ดเวลาออกแรงเบ่ง เช่น ไอหรือ จาม (Stress Urinary Incontinence) เป็นหลัก รวมทั้งปัสสาวะปวดกลั้นและราดออกไปก่อนจะเดินถึงห้องน้ำ (Urgency Incontinence) และหรือกลุ่มความรู้สึกกระเพาะปัสสาวะไวเกิน (Over Active Bladder)     

  1. การบริหารฝึกฝนกล้ามเนื้ออุ้งกราน Kegel Exercise
  2. การบริหารทานยา
    ปกติไม่สามารถช่วยในกลุ่มอาการปัสสาวะเล็ดได้ เนื่องจากเป็นปัญหาของกลุ่มกล้ามเนื้อเชิงกราน ยาอาจจะช่วยได้ในอาการปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ Urgency Incontinence เท่านั้น แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้ปัสสาวะขัดไปอีกด้วย 
  3. การผ่าตัดรักษาผ่านบริเวณช่องคลอด
    ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการเป็นมากและเป็นมานาน อาจจะไม่สามารถหายได้จากการฝึกฝนกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน อาจจะต้องได้รับการผ่าตัดรักษา ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นสาย Sling ยกให้ท่อปัสสาวะส่วนต้นและกระเพาะปัสสาวะไม่หย่อนลงไปตามกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน 

 

บำบัดรักษาด้วย QRS – PelviCenter (Quantum Resonance Systems)

ที่ผ่านมาในอดีตเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว บ่อยครั้งซึ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาเก็บและขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เนื่องจากความบกพร่องของกลุ่มกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อหูรูด ท่อปัสสาวะ ท่อทวารหนัก ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่เล็ดราดเมื่อไอจามหรือออกแรงเบ่งช่องท้อง

โดยเฉพาะในเพศหญิงปัสสาวะเล็ดราดสภาพการเสื่อมทางสรีระของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานนี้มักจะเกี่ยวกับการคลอดบุตร การตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคอ้วนน้ำหนักเกินมากอ่อนแรงลง ดังนั้นการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เรารู้จักกันมานานเรียกว่า Kegel Exercises” หรือ Pelvic Floor Muscle Exercise, PFME จึงเป็นวิธีการที่ทางการแพทย์ได้แนะนำและสอนให้ผู้ป่วยทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน วันละ 2 – 3 รอบ ในการฝึกปฏิบัตินี้ ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลกรุงเทพมีวิธีการฝึกสอนที่เป็นมาตรฐานเป็นรูปแบบที่ดีจากอดีตปี พ.ศ. 2539 มาจนถึงปัจจุบัน

img


QRS PelVi Center เทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์


ทางเลือกใหม่ของการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เน้นฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

ปัจจุบันศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลกรุงเทพได้ติดตั้งเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดที่จะนำมาใช้ในการรักษากลุ่มอาการของโรคดังกล่าวข้างต้น ด้วยเครื่อง QRS-PelviCenter (Quantum Resonance Systems) เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากประเทศเยอรมัน โดยใช้หลักการของคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นกลุ่มกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทั้งระบบและจะส่งคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นแรงสั่นสะท้านลักษณะรูปโคมแบบ 4 มิติเป็นคลื่นที่สัมผัสได้เบา ๆ ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ไม่รู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อ (ต่างกับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า) ได้ทั้งส่วนเนื้อที่ความกว้างและความสูงหรือลึกไปถึงโครงสร้างกล้ามเนื้อเชิงกรานทั้งหมดของช่องอุ้งเชิงกราน (กระบังลม) และกล้ามเนื้อส่วนหลังและหน้าท้องส่วนล่างเกือบทั้งหมด

ระบบของสนามแม่เหล็กถูกสร้างขึ้นเมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในขดลวดสนามแม่เหล็กซึ่งซ่อนอยู่ข้างใต้เบาะเก้าอี้นวมที่นั่งสบายสำหรับผู้ป่วย จึงเป็นวิธีการที่สะดวกสบายมาก ทั้งหมดนี้จะได้ผลลัพธ์ที่ทดแทนการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน Kegel Exercises ไปโดยปริยายจึงเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยวัยสูงอายุ รวมทั้งเด็กและเยาวชนด้วย ปกติการบำบัดนี้ใช้เวลาครั้งละ 20 นาที ควรทำอาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง จนครบ 8 – 16 ครั้ง (เต็มทั้งคอร์สของการรักษา)

มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วในปีนี้ 2017 พบว่า ผู้ป่วยหญิงที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดราดได้รับผลการรักษาว่าดีมากในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ12 เดือน แล้วได้รับการบำบัดรักษาเต็มคอร์ส 16 ครั้งแรก

นอกจากนี้แล้ว QRS – PelviCenter (Quantum Resonance Systems) ยังสามารถช่วยในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและในอุ้งเชิงกรานในท่ากล้ามเนื้อหูรูดเพศชายหย่อนสภาพหลังได้รับการผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก หรือขูดต่อมลูกหมากโต อวัยวะเพศหย่อนสมรรถภาพไม่แข็งตัว ED (Erectile Dysfunction) อาการปวดหน่วง ๆ ต่อมลูกหมาก รวมทั้งอาการปวดในอุ้งเชิงกรานเรื้อรังที่พบในเพศหญิง เป็นต้น

 

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการรักษา

ข้อควรระวัง

  1. ผู้ป่วยที่มีการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจ, เครื่องปั๊มหัวใจ, เครื่องปั๊มอินซูลิน ไม่อนุญาตให้ใช้การบำบัดโดยเครื่อง PelviCenter
  2. ผู้ป่วยที่มีการฝังอุปกรณ์ในร่างกาย เช่น เกลียวฮอร์โมนในเพศหญิง เปลี่ยนข้อสะโพก สกรู และอื่น ๆ ไม่อนุญาตให้ใช้โปรแกรมบำบัด โดยเครื่อง PelviCenter

ผลข้างเคียง

  1. หลังจากการนั่ง PelviCenter 2 – 3 วัน บางคนอาจมีอาการปวดเมื่อยบริเวณก้น
  2. ในการบำบัดด้วยแสง อาจจะมีอาการข้างเคียง ซึ่งพบได้น้อยมาก เช่น คลื่นไส้ หงุดหงิด ระคายเคืองตา ซึ่งก็ไม่ได้ถือเป็นข้อห้ามในการบำบัด

การปฏิบัติตัวก่อน QRS

  • ไม่มีการปวดปัสสาวะ
  • การเปลี่ยนแผ่นรองเปียก
  • นำเครื่องช่วยฟังที่หูออกก่อน
  • นำเครื่องประดับออกที่อยู่ระหว่างเข่า คอ (โซ่, แหวน, การเจาะใส่)
  • นำสิ่งเหล่านี้ออกก่อน ได้แก่ นาฬิกา, กุญแจรถยนต์, บัตรเครดิต, เครื่องเพจเจอร์, โทรศัพท์มือถือ, เหรียญต่าง ๆ

การปฏิบัติตัวหลัง QRS

  • หลังจากการรักษาควรฝึกการบริหาร Kegel Exercises ด้วย เพื่อช่วยกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้เร็วขึ้น

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ดำรงพันธุ์ วัฒนะโชติ

ศัลยศาสตร์ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา

นพ. ดำรงพันธุ์ วัฒนะโชติ

ศัลยศาสตร์ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล